xs
xsm
sm
md
lg

มรดกธรรม ใน ‘รัชกาลที่ ๑’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ตั้งใจจะอุปถัมภกยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑเสมารักษาประชาชนแลมนตรี”


นี่คือ พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ แล้ว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์จะทรงขับเคี่ยวกับพม่าในการทำสงครามอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังแล้ว ยังโปรดฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต)อีกด้วย ทรงทำนุบำรุง วัดวาอารามต่างๆ ที่มีอยู่ในพระนครให้งดงามรุ่งเรืองสืบไป เช่น การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ด้วย รวมถึง วัดสระเกศ วัดระฆังฯ วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว ยังโปรดฯให้ตราเป็นรูปกฎหมายขึ้นมา ๑๐ ฉบับ จาก พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๔๔ เพื่อบังคับควบคุม ความประพฤติของพระสงฆ์ ในกรณีที่พระวินัยไม่สามารถจะเข้าไปจัดการได้ ให้ใช้พระราชบัญญัติเข้าไปจัดการในการบริหารงานพระศาสนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พระที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับความเป็นสมณภาวะ ก็ถูกสึกออกไปเป็นจำนวนมาก เพราะขืนปล่อยไว้ก็รังแต่จะบ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมอง และพระเกียรติยศของพระองค์ก็จะพลอยเสื่อมลงด้วย

ในด้านพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น พระองค์ทรงดำริว่า พระไตรปิฎกและคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาตลอดจนตำราวิชาการทั้งปวงได้รับความเสียหายจากการเผาทำลายของพม่าที่โจมตีกรุงศรีอยุธยา ที่หลงเหลืออยู่และเก็บรวมไว้ในรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย จึงมีพระราชดำรัสให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เป็นประธาน ณ พระที่นั่งอมรินทราภิเษก ทรงโปรดให้อาราธนา สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะฐานานุกรม และเปรียญ ๑๐๐ รูป มารับพระราชทานฉัน ทรงถวายนมัสการตรัสถามว่าพระไตรปิฎกทุกวันนี้ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือวิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นประการใด พระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรว่า พระไตรปิฎกตลอดจนอรรถกาและฎีกา ยังวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่มาก พระองค์จึงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพร้อมทั้งพระราชาคณะ เป็นต้น ได้ช่วยกันสังคายนาพระไตรปิฎกให้สมบูรณ์อีกวาระหนึ่ง

การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้ จัดขึ้น ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กทม. โดยสมเด็จพระสังฆราชทรงเลือกสรรพระราชาคณะฐานานุกรมและเปรียญที่แตกฉานในพระไตรปิฎก ๒๑ รูป และราชบัณฑิตฝ่ายคฤหัสถ์อีก ๓๒ คน ร่วมกันทำสังคายนาพระไตรปิฎก โดยแบ่งเป็น ๔ กอง คือในพระอุโบสถกอง ๑ ในพระวิหารกอง ๑ ในพระมณฑปกอง ๑ และในการเปรียญ กอง ๑ เกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งวังหน้าวังหลัง ทำสำรับคาวหวานเลี้ยงพระสงฆ์ที่ทำสังคายนา ทั้งเวลาเช้าและเวลาเพลทุกวัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปวันละ ๒ เวลา มิได้ขาด เวลาเช้าทรงประเคนเลี้ยงพระที่พระระเบียง เวลาเย็นถวายอัฐบาน และธูปเทียนแก่พระสงฆ์ ทำสังคายนาตั้งแต่กลางเดือน ๑๒ ปีวอก จนกลางเดือน ๕ ปีระกา พ.ศ.๒๓๓๒ รวมเวลา ๕ เดือน จึงสำเร็จการสังคายนา

เมื่อสังคายนาต้นฉบับพระไตรปิฎกเสร็จแล้ว ทรงโปรดฯ ให้ช่างจารจำลองพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้นมาใหม่อีกฉบับหนึ่ง ตามที่ยุติว่าถูกต้องในการสังคายนา พระไตรปิฎก ฉบับนี้เรียกว่า “ฉบับทองใหญ่” มีจำนวนหนังสือ พระวินัย ๘๐ คัมภีร์ พระสูตร ๑๖๐ คัมภีร์ พระปรมัตถ์ ๖๑ คัมภีร์ สัททาวิเสส ๕๓ คัมภีร์ รวม ๓๕๔ คัมภีร์ เป็นหนังสือใบลาน ๓,๖๘๖ ผูก รักษาไว้ในหอมณเฑียรธรรมจนทุกวันนี้ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้คัดลอกไปไว้ตามวัดวาอารามต่างๆ เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนสืบไป

อนึ่ง พระองค์ทรงสนพระทัยในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรเสมอมา ทรงขวนขวายอุดหนุนให้พระภิกษุ-สามเณรศึกษาพระธรรมวินัยโดยพระราโชบาย เช่น ทรงมีพระราชปุจฉาให้พระราชาคณะถวายวิสัชนาเนืองๆ โดยมีพระราชประสงค์จะให้พระสงฆ์ศึกษาค้นคว้าสอบสวนพระไตรปิฎกอยู่เป็นนิจนั่นเอง อันจะทำให้พระสงฆ์มีความรู้ทางธรรมอย่างแท้จริง ไม่พูดอะไรที่ผิดศีลผิดธรรมเหมือนดังพระบางรูปในสมัยนี้ ที่เมื่อชาวบ้านเขาบอกว่าจะให้มีบ่อนการพนันก็ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนเห็นดีเห็นงามไปตามเขลา หาคิดไม่ว่าการไม่เล่นการพนันเป็นการประพฤติธรรม การเล่นการพนันเป็น การไม่ประพฤติธรรม อันขัดต่อหลักสัมมาวาจาในอริยมรรค อันมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฐิ เป็นต้น

วันที่ ๖ เมษายนนี้ เป็น “วันมหาจักรี” เราชาวไทยทุกคนควรน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองให้รุ่งเรืองทุกด้านอย่างสมบูรณ์ตามพระราชปณิธานทุกประการ พระบารมีแห่งพระองค์ยังคงคุ้มครองเราชาวไทยให้มีความสงบสุขจนวันนี้

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย ธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น