ในสังคมไทยนั้นการที่ผู้หญิงจะบวชเป็นภิกษุณี ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเมื่อนักบวชหญิงคนหนึ่ง ซึ่งมี อายุเพียง 34 ปี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด จึงเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
‘ภิกษุณีอัมพิกา คูวินิชกุล’ เจ้าอาวาสวัดโฝว กวง ซัน ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 32 อาคารว่องวานิช บี ถ.พระราม 9 เขตห้วยขวาง กทม. คือผู้สร้างตำนานดังกล่าว ซึ่งท่านได้ เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวความเป็นมาของท่านผ่าน ‘ห้องสนทนา’ ฉบับนี้
• ทำไมท่านจึงสนใจพุทธศาสนาแนวมหายาน จนถึงขั้นบวชเป็นภิกษุณีคะ
คืออาตมาเป็นคนชอบอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา มาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนดรุณศึกษา จ.นครศรีธรรมราช ไม่ว่าจะเป็นแนวปรัชญา การ์ตูนธรรมะ การ์ตูนเซน หนังสือของท่านพุทธทาส คำสอนของท่านฮุ่ยหลาน ซึ่งท่านพุทธทาสเป็นผู้แปล ก็รู้สึกว่าหนังสือของท่าน ฮุ่ยหลานนั้นสนุก เป็นปริศนาธรรมที่น่าสนใจ แต่เราไม่รู้ว่านั่นคือมหายาน เพราะตอนนั้นยังแบ่งแยกไม่ได้ว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาทกับแบบมหายานนั้นแตกต่างกันอย่างไร เราก็อยากรู้ต่อไปว่าพุทธศาสนาแบบนี้มีในเมืองไทยไหม อยู่ที่ไหนบ้าง ก็ศึกษาจากหนังสือมาเรื่อย จนได้มาเจอวัด โฝว กวง ซัน ในประเทศไทย
• วัดโฝว กวง ซัน เป็นมหายาน บทสวดคัมภีร์ต่างๆ ก็เป็นภาษาจีน เป็นอุปสรรคในการศึกษาธรรมของท่านหรือเปล่าคะ
พอดีว่าอาตมาก็มีความชอบภาษาจีนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะคุณย่าสอนภาษาจีนให้ตั้งแต่เด็กๆ คือตอนแรกถูกคุณ ย่าบังคับให้เรียน แต่เรียนไปได้ประมาณปีหนึ่งก็เริ่มรู้สึกสนุก รู้สึกว่า เอ..ภาษาจีนมีอะไรน่าสนใจนะ มันเหมือนเป็นอักษรภาพที่มาประกอบเป็นคำ เริ่มอยากรู้ภาษาจีนมากขึ้น แล้วช่วงนั้นบังเอิญมีเพื่อนที่เป็นคนไต้หวันเข้ามา เราก็อยาก จะพูดคุยกับเขา ก็เลยสนใจหนังสือที่เป็นภาษาจีนตั้งแต่นั้นมา ซึ่งหนังสือพวกนี้ก็มักจะเกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของขงจื้อ ของเม่งจื้อ ของเต๋า เราก็เริ่มอ่านปรัชญาตะวันออก โดยไม่รู้ตัว
ตอนที่มาเจอวัดโฝว กวง ซัน นั้นอาตมาเรียนจบอนุปริญญาด้านเลขานุการและบริหารธุรกิจที่สแตนฟอร์ด ซึ่งอยู่แถวห้วยขวาง ก็มีคนมาจ้างให้ไปเป็นล่ามภาษาจีนกลาง ก็เป็นล่ามเรื่อยมา พอดีช่วงนั้นวัดโฝว กวง ซัน ที่เมืองไทยเพิ่งจะสร้างวัดบนตึกว่องวานิชเสร็จ แต่ยังขาดบุคลากรด้าน การแปล ก็มีนักธุรกิจชาวไต้หวันมาเจออาตมาซึ่งตอนนั้นเป็นล่ามอยู่ที่สถานทูตไต้หวัน เขาก็ชวนมาดูกิจกรรมต่างๆที่วัดโฝว กวง ซัน ประเทศไทย
• ตอนมาที่วัดนี้ครั้งแรกรู้สึกอย่างไรคะ
ตอนนั้นพอมาถึงเราก็รู้สึกว่าเริ่มสนใจว่า เอ..ทำไมที่นี่มี พระพุทธเจ้า 5 องค์ ทำไมมีกิจกรรมเยอะจัง แล้วทำไมคนจีน คนไต้หวัน ถึงมารวมตัวกันเยอะ ก็ได้เจอเจ้าอาวาสวัดซึ่งท่านเป็นคนไต้หวัน ท่านก็ชวนให้มาทำงานที่นี่ เราก็ตอบตกลง ตอนนั้นประมาณปี 2539 ทำอยู่ประมาณ 1 ปี กับอีก 3 เดือน ช่วงที่ทำงานก็มีนิตยสารของวัดโฝว กวง ซัน ที่ไต้หวันส่งมาให้แปล ก็เห็นข้อมูลจากนิตยสารว่าโฝว กง ซัน มีวิทยาลัยสงฆ์ที่ไต้หวัน ก็เลยสนใจจะศึกษาธรรมะให้ลึกซึ้งขึ้น เพราะช่วงทำงานแปลที่วัดก็จะมีศัพท์หลายคำที่เราแปล ไม่ออก เช่น ชื่อของพระโพธิสัตว์ ซึ่งหาไม่เจอว่าภาษาไทยแปลว่าอะไร ถ้าได้เรียนเพิ่มเติมก็จะได้รู้ศัพท์ของมหายาน เพิ่มขึ้น
• แล้วอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มาบวช
อาตมาไปอยู่โรงเรียนประจำที่ไต้หวัน ก็ไปเรียนภาษาจีนและศัพท์ทางพุทธศาสนา ตอนนั้นยังไม่ได้คิดที่จะบวช อายุแค่ 23-24 เอง แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือ มีปัญหาด้านสุขภาพ อยู่ดีๆก็เป็นเนื้องอกขึ้นมา เลยกลับมารักษาที่เมืองไทย หมอวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เราก็ตกใจมาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเป็นอะไรเลย เป็นคนแข็งแรงมาตลอด หลังจากนั้นเลยรู้สึกปลงชีวิตว่า เออ..ชีวิตคนเรามันก็แค่นี้เองนะ ตอนที่จะผ่า ตัดก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าผ่านพ้นขีดอันตรายจากการผ่าตัด ก็จะอุทิศตนให้พุทธศาสนาตลอดชีวิต แต่ไม่ได้อธิษฐานถึงขั้นว่าจะบวชนะ
หลังจากผ่าตัด ปรากฏว่าก็เดินได้ปกติ เลยกลับไปเรียน ต่อ ซึ่งตอนนั้นเริ่มจะจริงจังกับชีวิตแล้ว เพราะขณะเรียนอยู่ที่วิทยาลัยสงฆ์ที่ไต้หวันนั้นอะไรที่เขาถ่ายทอดมาเราซึม ซับได้หมด เริ่มคิดว่าคนเราเกิดมาทำไม รู้จักมองเข้าไปภายใน รู้ว่าจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร เริ่มคิดว่าน่าจะทำอะไรในสิ่งที่ดีกว่าและถูกจริตกับตัวเอง ประจวบกับช่วงนั้นท่านอาจารย์เปิดโอกาสให้ลูกศิษย์บวชได้ อาตมาเลยตัดสินใจบวช ซึ่งตอนนั้นก็ยังเรียนไม่จบนะ แล้วการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการอบรม ผ่านการทดสอบมากมาย
• บททดสอบที่ว่ามีอะไรบ้างคะ
หลังกรอกใบสมัครแล้วพระอาจารย์ก็จะมาดูว่าในแต่ละวันที่อยู่ในวิทยาลัยสงฆ์นั้นเราใช้ชีวิตยังไง มีอุปนิสัยใจคออย่างไร มีการทดสอบความอดทน บางครั้งก็ให้สวดมนต์ติดต่อกันหลายชั่วโมง บางทีอยู่ดีๆ ก็เรียกให้ไปยืนกลางแดด ซึ่งท่านอาจารย์จะบอกล่วงหน้าเลยว่าทำใจนะ บางทีอาจจะไม่ได้บวช ก่อนบวชท่านก็จะเรียกไปสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ท่านจะถามเหตุผลว่าทำไมถึงอยากบวช เพราะถึงจะเป็นฆราวาส ก็ปฏิบัติธรรมได้ ซึ่งตอนนั้นเราตั้งปณิธานแล้วว่าจะเดินทางนี้ก็เลยทุ่มเทเต็มที่ จนกระทั่งผ่านการทดสอบ
• ตอนจะบวชนั้น ที่บ้านคัดค้านไหม
แรกๆโยมพ่อโยมแม่ก็ทำใจไม่ได้ แล้วอีกส่วนหนึ่งคือท่านเป็นห่วงเรื่องสถานภาพและความเป็นอยู่ ท่านกังวลว่า เอ..บวชแล้วอยู่ในเมืองไทยเนี่ยะ จะเหมือนกับแม่ชีหรือเปล่า เพราะสถานภาพของแม่ชีค่อนข้างดูด้อย นักบวชหญิงในไทย แทบจะไม่มีฐานะอะไรเลย ไม่มีผู้สนับสนุน แม่ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นไปบวชเป็นซิสเตอร์ไม่ดีกว่าเหรอ แต่พอบวชแล้ว กลับมาอยู่เมืองไทยโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่ว่าอะไร เราก็ทำงานของเราไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันท่านก็ยินดีและก็เห็นด้วยกับการเลือกทางเดินชีวิตของเรา
• หลังจากบวชเแล้วกลับมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโฝว กวง ซัน ประเทศไทย เลยหรือเปล่า
ยังค่ะ.. พอบวชเป็นภิกษุณีแล้วอาตมาก็เรียนต่อจนจบปริญญาโท สาขาศาสนศึกษา ประมาณ ปี 2544 ก็กลับมาเมืองไทย ช่วงนั้นสุขภาพก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไร ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวบ่อยๆ เลยขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสว่า ขอไปๆมาๆระหว่างวัดกับบ้านซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯเหมือนกัน แล้วตอนนั้นเจ้าอาวาสวัดโฝว กวง ซัน ที่เมืองไทยเป็นผู้ชาย ซึ่งวัดเรามีกฎว่าภิกษุกับภิกษุณีจะพำนักอยู่ในวัดเดียวกันไม่ได้ อาตมาเลยเป็นลักษณะมาทำงานตอนเช้าแล้วตอนเย็น ก็กลับไปพักที่บ้าน
จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วท่านอาจารย์เห็นว่าเราทำงานมานานแล้ว สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเถรวาทกับมหายาน และประเทศไทยกับไต้หวัน ทางสภาของโฝว กวง ซัน ก็เลยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโฝว กวง ซัน ประเทศไทย คือที่ผ่านมาอาตมาออกไปบรรยายธรรมตามที่ต่างๆเยอะ แล้วก็นำพระภิกษุชาวไทยไปเยี่ยมเยียนวัดโฝว กวง ซัน ที่ไต้หวัน แล้วก็มีการเผยแพร่ธรรมในหลายทาง เช่น แปลหลักธรรมและคติธรรมต่างๆจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย เรียบเรียงและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ จัดทำนิตยสารของวัด ทำสื่อวิทยุ เรียกว่างานเผยแพร่จะเป็นหน้าที่ของอาตมา ตอนนั้นมีรองเจ้าอาวาส 2 รูป คืออาตมาและพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ซึ่งในส่วนของอาตมาก็ทำหน้าที่ธรรมทูตไปด้วย
• แล้วขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสได้อย่างไรคะ
คงเป็นเพราะเขาเห็นว่าเราสามารถใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน และมีความรู้ด้านพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ซึ่งจริงๆอาตมาก็ไม่ใช่คนเก่ง คือที่นี่ทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะออกไปเป็นทีม จะปรึกษากันว่าจะไปที่ไหน ทำพิธีกรรมอะไร อาตมาก็เพิ่งเป็นเจ้าอาวาสได้ 2 ปีเท่านั้น คือที่จริงการเปลี่ยนเจ้าอาวาส ของวัดโฝว กวง ซัน เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะวัดโฝว กวง ซัน 250 วัดทั่วโลกมีกฎระเบียบเหมือนกันคือจะเปลี่ยนเจ้าอาวาสทุก 3 ปี เจ้าอาวาสดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้แค่ 3 สมัย และจะเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี จากนั้นท่านก็จะกลับมาเป็นพระลูกวัดธรรมดา ซึ่งแล้วแต่สภาของโฝว กวง ซัน จะพิจารณาว่าใครควรพ้นจากตำแหน่ง ใครควรขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาส รวมถึงพระรูปไหนควรจะโยกย้ายไปประจำที่สาขาใด ซึ่งในเบื้องต้นพระแต่ละรูปก็จะเสนอขึ้นไปว่าอยากย้ายไปอยู่ ประเทศไหน แล้วทางสภาก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม
• ปัจจุบันวัดโฝว กวง ซัน ประเทศไทย มีพระกี่รูป
นับรวมอาตมาด้วยก็ 9 รูป เป็นภิกษุณีและเป็นคนไทยทั้งหมด เป็นประเทศแรกด้วยที่คนท้องถิ่นปกครองกันเอง ที่อื่นก็จะมีคนไต้หวันไปประจำด้วย ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี เพราะคนไทยจะมีความรู้เรื่องภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย ดีกว่าคนต่างชาติ ที่สำคัญเป็นนโยบายใหม่ของวัดว่าภายใน 10 ปีนี้ วัดสาขาของโฝว กวง ซัน ทั่วโลกต้องให้คนท้องถิ่น มาดูแล ทั้งนี้เพื่อให้การเผยแผ่ธรรมก้าวหน้าไปได้รวดเร็วขึ้น
ซึ่งนอกจากพระแล้วที่วัดก็ยังมีเจ้าหน้าที่อีก 6 คนคอยดูแลความเรียบร้อยต่างๆ เช่น เรื่องความสะอาด ทำอาหาร เพราะพระที่วัดฉันเจ ดังนั้นจึงต้องทำอาหารฉันเอง ไม่มีการ บิณฑบาต
• ภารกิจของท่านในการเป็นเจ้าอาวาส ต้องทำอะไรบ้างคะในแต่ละวัน
ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของภิกษุในวัดโฝว กวง ซัน ก็จะคล้ายกับทางเถรวาท เพียงแต่เราไม่มีการบิณฑบาต โดยทั้งอาตมาและภิกษุณีในวัดตื่นเช้ามาก็ทำวัตรเช้า แล้วก็ฉัน เช้า จากนั้นใครมีหน้าที่การงานอะไรก็ไปทำ เช่น ทำความสะอาดวัด แปลหนังสือ ช่วงเพลก็จะมีสวดตอนเพล เสร็จแล้วก็ฉันเพล แล้วก็ทำงานต่อ ตกเย็นหลังจากอาบน้ำแล้วก็จะมาทำวัตรเย็น
ในส่วนของอาตมาเอง หลังจากขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ภารกิจต่างๆก็เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือจะวางแนวทางในการเผย แผ่ธรรมะด้วย หลังจากรับตำแหน่งอาตมาก็มีการจัดแจงระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อการบริหารงานภายในกระชับขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น บุคลากรมีความเป็นทีมที่เข้มแข็ง นอกจากนั้นยังมีการจัดวางกิจกรรมสำหรับสาธุชนเพื่อให้ผู้ที่มาวัดมีส่วนในกิจกรรมต่างๆของทางวัดด้วย โดยต้องมีการวางแผนงานทั้งรายเดือนและรายปี อีกทั้งจะมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆของทางวัดให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบด้วย
• กิจกรรมของทางวัดโฝว กวง ซัน ล่ะคะ มีอะไรบ้าง
ปกติวันเสาร์-อาทิตย์จะมีสาธุชนมาสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม นอกจากนั้นก็มีงานประจำปีต่างๆ เช่น เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ก็มีพิธีบูชาธรรมบาล ซึ่งเป็นเทพที่คอยพิทักษ์
ธรรมหรือดูแลปกป้องมนุษย์ แล้วในช่วงเดือน 7 ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งความกตัญญู ก็จะมีงานโปรดวิญญาณ โดยมีพิธีโปรดวิญญาณให้แก่บรรพบุรุษ นอกจากนั้นยังมีวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา เหมือนเถรวาทด้วย
• พระในนิกายมหายานและเถรวาทถือศีลเท่ากันไหมคะ
ไม่ค่ะ.. ถ้าเป็นภิกษุณีในนิกายเถรวาทจะถือศีล 311 ข้อ ส่วนมหายาน 348 ข้อ จริงๆแล้วแก่นของธรรมนั้นเหมือนกัน ต่างกันแค่รูปแบบ ซึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมในแต่ ละท้องถิ่นด้วย อย่างวัดโฝว กวง ซัน เป็นมหายานแบบฝ่าย จีนซึ่งอยู่ในนิกายเซน คือมหายานมีทั้งหมด 8 นิกาย แล้วแต่ละนิกายยังแยกเป็นนิกายย่อยๆออกไปอีก แล้วนิกายย่อยในแต่ละประเทศก็แทบจะไม่เหมือนกันเลย
• แล้วข้อแตกต่างของเถรวาทกับมหายานอยู่ตรงไหนคะ
ประการแรกคือ พระในนิกายเถรวาทจะนุ่งห่มเหมือนในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนมชีพ คือไม่ว่าพระเถรวาทในประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา พม่า ก็จะนุ่งห่มแบบเดียวกันหมด ขณะที่พระมหายานในแต่ละนิกายย่อยจะนุ่งห่มต่างกัน รวมทั้งต่างกันไปตามสภาพ ภูมิอากาศในแต่ละประเทศ ประการที่ 2 การรักษาจารีตหรือพระวินัยต่างๆนั้นพระในนิกายเถรวาทจะรักษาไว้ได้หมด ส่วนมหายานจะแตกต่างออกไป เช่น พระในนิกายมหายาน จะฉันเจ ประการที่ 3 เรื่องการสวดมนต์ ซึ่งพระฝ่ายเถรวาท จะสวดเป็นภาษาบาลี เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าพระเถรวาทในประเทศไหนก็ใช้ภาษาบาลี ส่วนวัดในมหายานส่วนใหญ่จะสวดเป็นภาษาท้องถิ่น แต่วัดโฝว กวง ซัน ทุกประเทศจะสวดเป็นภาษาจีน และประการที่ 4 ในเรื่องของหลักธรรม ซึ่งเถรวาทจะยึดหลักธรรมแบบเดียวกับครั้งพุทธกาล แต่มหายานจะมีอภิธรรมหรืออรรถกถาของเกจิที่เกิดขึ้นในยุค หลังๆเพิ่มเข้ามา ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งมหายานจะเน้นแบบโพธิสัตตวจรรยา คือการดำเนินตามแบบ อย่างของพระโพธิสัตว์ ก็คือเน้นการช่วยเหลือผู้อื่นกับการปฏิบัติตนไปพร้อมๆกัน โดยตั้งจิตจะเป็นโพธิสัตว์ ส่วนเถรวาทจะเน้นเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา มาเป็นอันดับแรก และมุ่งไปสู่นิพพาน อย่างไรก็ดี ในเรื่องทาน ศีล ภาวนานั้นทางมหายานจะมีเหมือนกับทางเถรวาท
• คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธแบบเถรวาท ความแตกต่างนี้มีผลต่อการเผยแผ่ธรรมะของวัดโฝว กวง ซัน ไหมคะ
ช่วงแรกๆก็มีบ้าง เพราะคนไทยส่วนมากยังไม่รู้จักภิกษุณี เขาไม่เข้าใจว่าเราเป็นใคร มาทำอะไร อาตมาก็ใช้วิธี เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น จัดพิมพ์หนังสือแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ แจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์กิจกรรมของวัด นอกจากนั้นก็เข้าไปแนะนำตัวและสร้างความสัมพันธ์กับวัดต่างๆในประเทศไทย ทำให้มีคนรู้จักวัดโฝว กวง ซัน มากขึ้น ช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีคนเชิญไปบรรยาย มีสื่อมาขอสัมภาษณ์ ส่งผลให้การเผยแผ่ธรรมะของเราง่ายขึ้น
ปัจจุบัน มีสาธุชนเข้ามาร่วมสวดมนต์ ฟังธรรมที่วัดโฝว กวง ซัน เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ อย่างงานบุญใหญ่ที่ผ่านมามีคนมาร่วมงานกว่า 600 คน เรียกว่าล้นวัดเลย นอกจากมาสวดมนต์แล้วญาติโยมจำนวนไม่น้อยก็ยังมาช่วยงานกิจกรรมต่างๆของทางวัดด้วย
• ท่านเจ้าอาวาสวางแนวทางในการพัฒนาวัดโฝว กวง ซัน ประเทศไทย ไว้อย่างไร
จะเน้นการสร้างคนก่อนสร้างวัด ดังนั้นในแต่ละปีเราจะส่งนักเรียนไปเรียนที่วิทยาลัยสงฆ์ของโฝว กวง ซัน ซึ่งมีอยู่ 3 สาขา คือที่ไต้หวัน 2 แห่ง และอเมริกาอีก 1 แห่ง ซึ่งเราไม่ได้มีข้อผูกมัดใดๆ เพียงแต่หวังว่าเราน่าจะได้บุคลากรที่มาช่วยงานวัดเพิ่มขึ้น และในอนาคตก็ตั้งเป้าหมายว่าจะจัดตั้งโรงเรียนเพื่อเปิดให้เด็กๆเข้ามาศึกษาฟรี โดยโรงเรียนดังกล่าวจะเป็นโรงเรียนประจำที่ให้ความรู้ทั้งทางด้านวิชาการและการอบรมธรรมะ ซึ่งตอนนี้กำลังมองหาสถานที่อยู่ ส่วนเรื่องเผยแผ่ธรรมก็ต้องทำให้เข้มข้น และกว้างขวางมากขึ้น
• เดือนมีนาคมนี้เป็นเดือนแห่งวันสตรีสากล อยากให้ท่านเจ้าอาวาสฝากอะไรถึงผู้หญิงสักหน่อยค่ะ
อยากบอกว่าผู้หญิงคือส่วนหนึ่งของโลก ในสุภาษิตจีนยังกล่าวไว้ว่า ‘ผู้หญิงก็คือผู้ที่แบกรับท้องฟ้าไว้ครึ่งหนึ่ง’ เพราะฉะนั้นท้องฟ้าไม่ใช่เป็นของผู้ชายทั้งหมด ธรรมก็เหมือนกัน ไม่ได้แบ่งแยกหญิง-ชาย ผู้หญิงก็มีโอกาสศึกษาธรรมะ มีโอกาสบวชเรียนได้ และมีโอกาสเป็นพระอรหันต์ได้เช่นกัน อีกทั้งโดยธรรมชาติแล้วผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน มีความเมตตาและมีความสนใจในธรรมมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ จะเห็นว่าพระโพธิสัตว์ในนิกายมหายาน ก็เป็นผู้หญิง ซึ่งเรารู้จักกันในนามพระแม่กวนอิม ดังนั้นอย่า ให้ความแตกต่างทางเพศมาเป็นอุปสรรคในการศึกษาธรรม
.........
นี่คงเป็นบทสรุปที่ชี้ชัดว่าไม่มีสิ่งใดจะเกินไปกว่าความสามารถของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางโลกหรือทางธรรม ก็ล้วนแต่ประสบความสำเร็จได้ ถ้าผู้นั้นมีความมุ่งมั่นและเห็นคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเองอย่างแท้จริง
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดย จินตปาฏิ)