xs
xsm
sm
md
lg

ตำนาน นโม (๒๗)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

• นโม

นโม มีความหมายว่าอย่างไร? เท่าที่ค้นคว้าได้ในขณะนี้ มีดังนี้

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้คำนิยาม นมะ ไว้ดังนี้

นม-, นมะ [นะมะ-] การนอบน้อม, การเคารพ, การไหว้.(ป.; ส. นมสฺ). นมักการ [นะมักกาน](แบบ, นมัสการ [นะมัตสะกาน] น. การแสดงความอ่อนน้อม ด้วยการกราบไหว้; คำที่ใช้ขึ้นต้นและลงท้ายจดหมาย ที่มีไปถึงพระภิกษุสามเณร (ป. นมกฺการ; ส. นมสฺการ).

พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร ให้คำนิยาม นมะ ไว้ดังนี้

นมะ คำแปล (มค. นม; สก. นมสฺ) น. การน้อม, การโน้ม, การก้ม, การเคารพ, การไหว้, การน้อมนอบ; อาหาร; สายฟ้า (เหมือน นม).

นมักการ คำแปล น. การแสดงความนอบน้อม, การไหว้; คำขึ้นต้นจดหมายที่คฤหัสถ์เขียนถึงพระสงฆ์ (เหมือน นมัสการ).

นมัตถุ คำแปล (มค. นม = ไหว้ + อตฺถุ = จงมี) น. ขอความนอบน้อมจงมี.

นมัสการ คำแปล น. การแสดงความนอบน้อม, การไหว้; คำขึ้นต้นจดหมายที่คฤหัสถ์เขียนถึงพระสงฆ์ (เหมือน นมักการ).

พจนานุกรรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด ศัพท์วิเคราะห์ โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ให้คำนิยาม นมักการ, นมัสการไว้ดังนี้

นมกฺการ ความนอบน้อม, การกราบไหว้ (นมสฺสา วนฺทนา อภิวาทน)

- นมนํ นโม. ตสฺส กรณํ นมกฺกาโร การทำความนอบน้อม (นม + การ, ซ้อน กฺ)

นมสฺสา ความนอบน้อม, การไหว้ (นมกฺการ วนฺทนา อภิวาทน)

- นมตีติ นมสฺสา กิริยาที่นอบน้อม (นมุ ธาตุในความหมายว่า นอบน้อม สฺส ปัจจัย อา อิตฺ.)

- นมสฺสตีติ นมสฺสา กิริยาที่ไหว้ (นมสฺส ธาตุในความหมายว่า ไว้ อ ปัจจัย อา อิตฺ.)

พจนานุกรรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ให้คำนิยาม นมัสการ ไว้ดังนี้

นมัสการ แปลว่า การทำความนอบน้อม, การทำความเคารพด้วยการยกมือไหว้

เป็นคำสำหรับคฤหัสถ์ที่ใช้กับพระสงฆ์ มิใช่พระสงฆ์ใช้กับพระสงฆ์ด้วยกัน คำนี้ใช้เป็นคำขึ้นต้นในกรณีกล่าวถวายรายงานต่อพระสงฆ์ในพิธีต่างๆ เช่นว่า “นมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพ” หรือ “กราบนมัสการพระเดชพระคุณที่เคารพ” และใช้เป็นคำขึ้นต้นและลงท้ายจดหมายที่เขียนไปถึงภิกษุสามเณร เช่น ขึ้นต้น ว่า “นมัสการ พระ....” ลงท้ายว่า “นมัสการด้วยความ เคารพ” นมัสการ คำนี้มักใช้ผิดเพี้ยนไปว่า มนัสการ

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย ที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเรียบเรียง ให้คำนิยาม นมัสสา, นมักการ ไว้ดังนี้

ไหว้ ๔ นมสฺสา เป็นอิตถีลิงค์(ตุ) นมกฺกาโร เป็นปุงลิงค์

วนฺทนา เป็นอิตถีลิงค์(จา) -ภิวาทนํ เป็นนปุงสกลิงค์

ไหว้ ๑นินฺทายํ(วนฺทเน) นโม เป็นอลิงค์หรืออัพยศัพท์

หนังสืออภิธานัปปทีปิกา และอภิธานปฺปทีปีกาสูจิ ที่ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เรียบเรียง ให้คำนิยาม นมักการ, นมัสสา, นโมไว้ดังนี้

นมกฺการ นโมกรณํ นมกฺกาโร. โณ, นโมโต ฉฎฐีโลโป, “โลปญฺ จ ตตฺรากาโร” ติ โอการสฺส โลเป อการาคโม. อถ วา, นมนํ นโม, ตสฺส กรณํ นมกฺกาโร. รโหสทฺโท ‘วิย นโม สทฺโท’ ตฺร ทฺวิธา วตฺตติ, เอโก อการนฺโต สลิงโค, เอโก อลิงฺโค โอการนฺโต ติ.

นมสฺสา นมสฺส วนฺทเน, อ, อิตฺถิยํ อา; นมุ นมเน วา, สฺโส.

นโม “นโม กโรหิ นาคสฺสา” ติ อาทีสุ วนฺทเน ทุติยาวิภตฺยนฺโต.

“นโม เต พุทฺธวีรตฺถู” นโมสทฺโท ปฐมาวิภตฺยนฺโต.

หนังสือปาลี - สยาม อภิธาน ที่ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เรียบเรียง ให้คำนิยาม นมักการ, นมัสการ ไว้ดังนี้

นมกฺการ (นมสฺการ) น.ป.; อภิวาทน ไหว้ worship.

นมสฺสา (นมสฺยา) อิ.; อภิวาทน ไหว้ worship.

นโม (นมสฺ) อ.; วันทนัตถวาจก นิบาตบอกอัตถ์ คือ ไหว้ salutation

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อรรถาธิบาย นโม ในพระธรรมเทศนา “รตนตฺตยคมนปณามคาถา” ไว้ดังนี้

“ความนอบน้อมมาจาก “นโม” “นโม” แปลว่า นอบน้อม เป็นบุคลาธิษฐาน คือ นอบน้อมด้วยกาย นอบน้อมด้วยวาจา นอบน้อมด้วยใจ นอบน้อมในพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์มีพระชนมายุอยู่ อุบาสกอุบาสิกาเข้าไปสู่ที่เฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ คือกราบพร้อมด้วยองค์ ๕ เข่าและศอกทั้ง ๒ ต่อกัน ฝ่ามือทั้ง ๒ วางลงให้เสมอกัน ก้มศีรษะลงให้หน้าจรดพื้นในระหว่างมือทั้ง ๒ นั้น หรือในระหว่างที่เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่นั้น คอยฟังพระโอวาทานุสาสนีของพระองค์ ไม่ส่งใจไปในที่อื่น ไม่เปล่งวาจาออกในระหว่างที่พระองค์ทรงรับสั่งอยู่ เป็นการรบกวนพระองค์ด้วยวาจา ให้เป็นที่ระแคะระคายพระทัย

อนึ่ง เมื่อเข้าไปสู่ที่เฝ้า ไม่นั่งให้ไกลนัก จะเป็นการเบียดเบียนพระองค์ ด้วยต้องออกพระกำลังเสียงในเวลารับสั่ง ไม่นั่งให้ใกล้นัก จะเป็นการเบียดเบียนพระองค์ด้วยกายอันเป็นของปฏิกูล จะเป็นที่รำคาญพระนาสิกในเวลากลิ่นกายฟุ้งไป ไม่นั่งในที่เหนือลม ด้วยเคารพพระองค์ กลัวลมจะพัดเอากลิ่นกายที่ฟุ้งออกไปมากระทบพระนาสิกของพระองค์ ไม่นั่งในที่ตรงพระพักตร์นัก กลัวจะเป็นที่รำคาญพระเนตรทั้งสองของพระองค์ ไม่นั่งในที่เบื้องหลังนัก เกรงว่าพระองค์จะต้องหันพระพักตร์มากไปในเวลาจะทรงรับสั่ง ต้องนั่งในที่สมควรนอกจากที่ที่แสดงมาแล้ว ในเวลาอยู่ในที่เฝ้า ไม่ส่งใจไปในที่อื่น ไม่เปล่งวาจาให้ เป็นที่รำคาญพระทัยแด่พระองค์ ดังนี้แล นอบน้อมด้วยกายในพระองค์

ในเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ยังเหลือแต่เจดีย์ ๔ เหล่า คือ บริโภคเจดีย์ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ พุทธศาสนิกชนไปถึงที่เช่น นั้นเข้าแล้ว ในเมื่อกั้นร่ม ควรลดร่มลง ห่มผ้าปิด ๒ บ่า ควรลดออกเสียบ่าหนึ่ง ในเมื่อสวมรองเท้าเข้าไป ควรถอดรองเท้าเสีย และเข้าไปในที่นั้นไม่ควรแสดงอึงคะนึงและไม่เคารพ แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องแสดง เคารพอย่างจริงใจ ไม่ทิ้งของที่สกปรกลงไว้ เช่น ก้นบุหรี่ หรือชานหมาก น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ ในที่บริเวณนั้น เมื่อเข้าไปในที่นั้นเห็นรกปัดกวาดเสีย ถากถางเสีย เห็นไม่สะอาด ทำให้สะอาด เห็นผุพัง ควรแก้ไข ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ได้ก็ยิ่งดี ดังนี้เป็นความนอบน้อมพระผู้มีพระภาคด้วยกาย โดยบุคลาธิษฐาน

อนึ่ง นำเรื่องของพระรัตนตรัยไปสรรเสริญในที่นั้น แก่บุคคลนั้นอยู่เนืองๆดังนี้ ก็ชื่อว่า นอบน้อมด้วยวาจา

และคิดถึงพระรัตนตรัยอยู่เนืองๆ ไม่ยอมให้ใจไป จรดอยู่กับอารมณ์สิ่งอื่นมากนัก คอยบังคับใจให้จรด อยู่กับพระรัตนตรัยเนืองๆ ดังนี้ ชื่อว่า นอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยใจ

ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นองค์อรหันต์ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายต้องว่าดังนี้ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายในเวลาทำศาสนกิจทุกครั้ง เช่น พระเถรานุเถระกระทำสังฆกรรม และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย จะสมาทานศีล ก็ต้องว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” ถึง ๓ หน จะว่าแต่เพียงหนหนึ่งหรือสองไม่ได้ หรือได้เหมือนกันแต่ว่าไม่เต็มรัตนตรัยทั้ง ๓ กาล จะให้เต็มหรือถูกรัตนตรัยทั้ง ๓ กาลแล้ว ต้องว่าให้เต็ม ๓ หน หนที่ ๑ นอบน้อมพระรัตนตรัยในอดีต หนที่ ๒ นอบน้อมพระรัตนตรัยในปัจจุบัน หน ที่ ๓ นอบน้อมพระรัตนตรัยในอนาคต ทั้งหมดต้องว่า ๓ หน จึงครบถ้วนถูกพระรัตนตรัยทั้ง ๓ กาล”

นโม ในความหมายที่นำมาแสดงนี้ แสดงให้ทราบ ว่าวัฒนธรรมของชาวพุทธในประเทศต่างๆ มีความเหมือนกันในเรื่องการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ที่พัฒนามาเป็นวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ คือ การไหว้ การกราบ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดตามธรรมเนียมนิยมของประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความเคารพด้วย การไหว้ การกราบ ไว้ดังนี้

๑.การไหว้ การปฏิบัติในท่าไหว้ประกอบด้วยกิริยา ๒ ส่วน คือ การประนมมือ, การไหว้

การประนมมือ(อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น

การไหว้(วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล

ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบ แบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก

ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อม ศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว

ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่วๆไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก

อนึ่ง สำหรับหญิงการไหว้ทั้ง ๓ ระดับ อาจจะถอย เท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลังครึ่งก้าวแล้วย่อเข่าลงพอสมควรพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ก็ได้

๒.การกราบ(อภิวาท) เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มี ๒ แบบ คือ

๒.๑ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการใช้ อวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนบน ของร่างกาย มือและข้อศอกทั้ง ๒ เป็นตัวแทนส่วนกลางของร่างกาย เข่าทั้ง ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนส่วนล่างของ ร่างกายจรดพื้น การกราบมี ๓ จังหวะ คือ

ท่าเตรียม

ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างกัน พอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพบุตร)

หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรง ปลายเท้าราบ เข่าถึงปลาย เท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางคว่ำ บนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)

ท่ากราบ

จังหวะที่ ๑ (อัญชลี) ยกมือขึ้นในท่าประนมมือ

จังหวะที่ ๒ (วันทนา) ยกมือขึ้นไหว้ตามระดับที่ ๑ การไหว้พระ

จังหวะที่ ๓ (อภิวาท) ทอดมือทั้งสองลงพร้อมๆกัน ให้มือและแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น คว่ำมือห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้

ชาย ศอกทั้งสองข้างต่อจากเข่าราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง

หญิง ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย ราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง จากนั้นก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรด พื้นระหว่างมือทั้งสอง

ทำสามจังหวะให้ครบ ๓ ครั้ง แล้วยกมือขึ้นไหว้ในท่าไหว้พระ แล้ววางมือคว่ำลงบนหน้าขาในท่าเตรียม กราบ จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม

๒.๒ การกราบผู้ใหญ่ กราบผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสรวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ผู้กราบทั้งชายและหญิงนั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบไม่กระดกนิ้วมือขึ้นรับหน้าผาก กราบเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถโดยการ นั่งสำรวมประสานมือ จากนั้นเดินเข่าถอยหลังพอประ-มาณแล้วลุกขึ้นจากไป

(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น