ความบกพร่องทางจิตนับเป็นปัญหาใหญ่ในภาวะสังคมปัจจุบัน ด้วยภาวะที่บีบคั้นและเคร่งเครียดทำให้ผู้ป่วยทางจิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในตัวผู้ป่วยทำให้ผู้ที่มีอาการทางจิต ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกต้อง
ปัญหาดังกล่าวได้อยู่ในสายพระเนตรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชคนรินทร์ มาโดยตลอด พระองค์ทรงให้ความ ห่วงใยผู้ป่วยทางจิต ทรงสนพระทัยขั้นตอนในการดูแลรักษาไปจนถึงการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมหลังจากหายจากอาการป่วย อีกทั้งยังทรงพระเมตตาประทานนามให้หน่วย งานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้เสียใหม่ว่า ‘สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์’ แทนชื่อเดิมที่เรียกว่าโรงพยาบาลนิติจิตเวช ซึ่งเป็นชื่อที่สร้างทัศนคติในเชิงลบต่อผู้ป่วย
• ที่มาของชื่อ ‘สถาบันกัลยาณ์ฯ’
แต่เดิมนั้นโรงพยาบาลนิติจิตเวชถือเป็นโรงพยาบาลด้านจิตเวชอันดับต้นๆของไทย ซึ่งได้รับการก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 2510 โดยมีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตที่ไปก่อคดี ทำ หน้าที่วินิจฉัยอาการของผู้ต้องหาว่ากระทำไปเพราะมีอาการทางจิตหรือไม่ พร้อมทั้งลงความเห็นว่าควรเข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างไร และให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ไปก่อคดีดังกล่าวจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต่อมาภารกิจต่างๆก็เพิ่มขึ้นโดยโรงพยาบาลต้องรับรักษาผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ป่วยก่อคดีด้วย นอกจากนั้นยังทำโครงการจิตเวชชุมชนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนห่างไกลจากปัญหาโรคจิตได้ทางหนึ่ง
ส่วนจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อจากโรงพยาบาลจิตเวชมาเป็นสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์นั้นเนื่องจากเกิดภาวะวิกฤตทางสังคม มีการจับตัวประกันเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งในการเจรจานั้นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ด้านจิตวิทยาและการวิเคราะห์สุขภาพจิตเข้าไปร่วมทำงานด้วย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงขอความร่วมมือมายังโรงพยาบาลจิตเวช หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุยาบ้าระบาดและมีผู้เสพที่เกิดคุ้มคลั่งจับเด็กหรือผู้หญิงเป็นตัวประกัน ซึ่งมีบางครั้งที่เกิดความผิดพลาดในการเข้าช่วยเหลือตัวประกัน ทำให้ตัวประกันบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสุขภาพจิตในขณะนั้น และมีโอกาสทำงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯตั้งแต่ครั้งเป็นแพทย์อาสาของ พอ.สว.(มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก็ได้กราบทูลเกี่ยวกับการ ทำงานของนักจิตวิทยาในการเข้าช่วยเหลือตัวประกันให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงทราบอย่างต่อเนื่อง พระองค์ท่านจึงทรงห่วงใย และโปรดให้มีการจัดตั้งศูนย์ MCC (Mental Health Crisis Center) หรือศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต เมื่อเดือนธันวาคม 2544
ในปีเดียวกันได้มีการปฏิรูประบบราชการ ทำให้แต่ละกระทรวงมีการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ ซึ่งในส่วนของกรมสุขภาพจิตก็มีภารกิจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโรงพยาบาล นิติจิตเวชจะแค่การให้บริการอย่างเดียวไม่ได้ จึงได้มีการปรับบทบาทและภารกิจใหม่ พร้อมทั้งให้โรงพยาบาลนิติจิตเวชยกฐานะขึ้นเป็นสถาบัน นพ.ปราชญ์จึงได้นำความขึ้นกราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯเพื่อขอประทานนามสถาบัน พระองค์ท่านก็ทรงเมตตาประทานทานนามให้ว่า ‘สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์’
• พระเมตตานำมาซึ่งขวัญกำลังใจ
หลังจากได้ชื่อใหม่ว่า ‘สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์’ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาประทานชื่อของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อสถาบัน ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างใหญ่หลวงให้แก่วงการด้านจิตเวช เพราะนอกจากจะสร้างความปลาบปลื้มใจในพระกรุณาธิคุณให้แก่บรรดาแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับของสถาบันกัลยาณ์ฯ ทำให้ทุกคนทุ่มเททำงานกันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยแล้ว ในส่วนของผู้ป่วยเองก็รู้สึกว่าตนเองมิใช่พลเมืองชั้นสองเหมือนที่ผ่านมา และยังมีทัศนคติที่ดีต่อการเข้ารับการรักษาในสถาบันแห่งนี้อีกด้วย
“การพระราชทานนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้งนี้ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของแพทย์ พยาบาล และเจ้า หน้าที่ของสถาบันกัลยาณ์ฯเป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกว่า การที่พระองค์ท่านประทานนามโดยโปรดฯให้นำพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อสถาบันนั้น นับเป็นพระเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ พวกเรารู้สึกว่าพระองค์ท่านทรงเห็นความสำคัญของงานนิติจิตเวช พระองค์ทรงปรารภด้วยว่าอยากให้ช่วยกันดูแลสภาพจิตใจของประชาชนที่อยู่ใน ภาวะวิกฤต เมื่อมีกำลังใจการทำงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนทัศน์ในการทำงานก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ทำงานเชิงรับก็เปลี่ยนเป็นงานเชิงรุกมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีผลต่อการเข้ารับบริการของผู้ป่วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากไม่กล้าเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนิติจิตเวช เพราะเกรงว่าคนรอบข้างจะมองว่า ตนเองเป็นบ้าหรือมีอาการทางจิต ซึ่งเท่ากับเป็นตราบาปที่ติดอยู่ในใจของพวกเขา แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันกัลยาณ์ฯทำให้ความรู้สึกของพวกเขาเปลี่ยนไป คนไข้มองว่าการเข้ารับบริการที่นี่ไม่แตกต่างจากการเข้ารักษาใน โรงพยาบาลทั่วไป อีกทั้งยังรู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง เพราะพวกเขาคือคนไข้ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” พญ.ดวงตา ไหรภัสร์พงษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนางานด้านจิตเวช
• ทรงห่วงใยคนไข้โรคจิต
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงสนพระทัยในงานจิตเวช และภาวะด้านสุขภาพจิตของคนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่ง นพ.ปราชญ์ ได้เคยกล่าวถึงมูลเหตุที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงให้ความสนใจปัญหาสุขภาพจิต ว่าเป็นเพราะพระองค์ทรงเห็นว่าปัญหาสุขภาพกายส่วนหนึ่งนั้นมาจากปัญหาทางจิต เช่น ปัญหาทางจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา อาทิ เกิดอาการคุ้มคลั่งจี้ตัวประกัน จึงจำเป็นต้องดูแลทั้ง 2 เรื่องควบคู่กันไป
“ไม่เพียงแต่พระองค์ทรงสนพระทัยดูแลประชาชนเฉพาะการป่วยทางกายเท่านั้น แต่ยังสนพระทัยในปัญหาการป่วยทางใจของประชาชนด้วย ทรงเป็นผู้วางราก ฐานงานด้านสุขภาพจิตให้กับกระทรวงสาธารณสุข ดูแลผู้ป่วยทางจิตในทุกวัย โดยในส่วนผู้ป่วยเด็ก มีโรงพยาบาล ราชานุกูล โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ เป็นหน่วย งานที่ดูแลปัญหาเด็กพัฒนาการช้าทางสมอง เช่น ออทิสติก ปัญญาอ่อน พร้อมกันนี้ยังได้พระราชทานพระนาม “ราชนครินทร์” ต่อท้ายโรงพยาบาลจิตเวชของกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 10 แห่ง ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดต่อกระทรวง นอกจากนี้ยังพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้าสุขภาพจิตนานาชาติ ((Mental Health Princess Award) สำหรับผู้ที่มีผลงานด้านสุขภาพจิตดีเด่นในระดับนานาชาติ มาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน ทำให้งานด้านสุขภาพจิตของไทยก้าวหน้าเป็นอย่างมาก” นพ.ปราชญ์ กล่าว
ขณะที่ รองผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เล่าถึงผลพวงที่เกิดจากพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ไว้อย่างน่าประทับใจว่า
“ หลังจากยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันกัลยาณ์ฯ ได้ไม่นาน ปลายปี 2546 ก็เกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้น ซึ่งในช่วงนั้นเราได้วางเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตหรือผู้ที่มีปัญหาด้านภาวะจิตใจเอาไว้บ้างแล้ว โดยเครือข่ายนั้นมีทั้งผู้ที่เป็นแพทย์ พยาบาล และประชาชนทั่วไป ทำให้สามารถรับมือกับปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งนับเป็นโชคดีเพราะสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้ทรงวางรากฐานเรื่องสุขภาพจิตของประชาชน โดยตั้งศูนย์วิกฤตสุภาพจิตขึ้นมาก่อนหน้านี้
มีครั้งหนึ่งดิฉันได้มีโอกาสถวายรายงานต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งเสด็จฯมาเปิดงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย ดิฉันก็ได้ถวายรายงานเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานบริการนิติจิตเวช พระองค์ท่านก็ได้ทรงรับสั่งถึงความยุ่งยากซับซ้อนในการทำงาน พระองค์ท่านทรงเห็นว่าผู้ป่วยควรจะได้รับการดูแลด้วยความเข้าใจ ซึ่งดิฉันรู้สึกซาบซึ้งใจมากเพราะพระองค์ซึ่งเป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงมีความเข้าใจการทำงานของข้าราชการในระดับปฏิบัติ การที่พระองค์ทรงปรารภถึงผู้ป่วยด้วยความเป็นห่วงเป็นใยนั้น เป็นสิ่ง ที่เราสามารถสัมผัสได้”
• เน้นงานเชิงรุก เตรียมตั้งหน่วย ‘สุขภาพจิตอาสา กัลยาณ์ราชนครินทร์’
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยโรคจิตก็คือขาดความเข้าใจและความเอาใจใส่จากญาติพี่น้อง เนื่องจากการป่วย ทางจิตนั้นมีความแตกต่างจากการป่วยด้วยโรคทั่วๆไป นอกจากอาการคลุ้มคลั่งแล้ว อาการฟั่นเฟือน หดหู่ หรือซึมเศร้า ก็จัดเป็นอาการป่วยทางจิตอย่างหนึ่ง บางรายอาจใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จะมีอาการกำเริบขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด นอกจากนั้นการ ป่วยทางจิตยังเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลายาวนานในการรักษา และส่วนมากมักไม่หายขาด ทำให้นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงแล้ว ญาติผู้ป่วยยังต้องใช้ความอดทนอย่างมากอีกด้วย
ดังนั้น ปัจจุบันสถาบันกัลยาณ์ฯจึงมุ่งเน้นงานเชิงรุกมากขึ้นทั้งในส่วนของการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยทางจิตเพิ่ม ขึ้นและการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคจิต โดยเข้าไปอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคจิต พร้อมทั้งสร้างทัศนคติว่าคนในสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทางจิต และได้มีการนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่างๆเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างมาก เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้เกิดความหวาดกลัว รู้สึกไม่มั่นคง มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว หลายคนต้องตกอยู่ในภาวะหม้ายและเป็นกำพร้า โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับงานด้านจิตวิทยาและการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเครือข่ายในพื้นที่
ล่าสุด สถาบันกัลยาณ์ฯ ได้มีการจัดตั้ง ‘หน่วยสุขภาพ จิตอาสา กัลยาณ์ราชนครินทร์’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าไปให้การบริการด้านสุขภาพจิตแก่ชุมชนต่างๆ คล้ายกับการ ให้บริการของ พอ.สว. ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้ประทานนามให้แก่สถาบันกัลยาณ์ฯ โดยทีมแพทย์อาสาจะประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครด้านสาธารณสุขซึ่งก็คือชาวบ้านในชุมชนนั้นๆนั่นเอง
ทั้งนี้ การเข้าไปในชุมชนของหน่วยสุขภาพจิตอาสาฯ นั้นนอกจากจะให้บริการด้านการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตแล้ว ยังมุ่งเน้นในการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคจิตแก่คนในชุมชนอีกด้วย โดยหน่วยงานดังกล่าวจะเริ่มปฏิบัติงานได้ทันทีที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ
“ เนื่องจากเรามีงบประมาณจำกัด และมีระยะเวลาดำเนินงานเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น ดังนั้นในเบื้องต้นหน่วยสุขภาพจิตอาสาของเราจะเน้นการให้บริการในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดที่ทางสถาบันกัลยาณ์ฯรับเป็นแม่ข่ายทางวิชาการ เช่น สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี สิงห์บุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี ซึ่งจังหวัดเหล่านี้สถาบันกัลยาณ์ฯ มีเครือข่ายงานเป็นฐานอยู่แล้ว จึงง่ายต่อการออกปฏิบัติงานในพื้นที่ และหลังจากเสร็จสิ้นโครงการก็จะรวบข้อมูลต่างๆเพื่อเสนอต่อสาธารณชนต่อไป ทั้งในรูปแบบของการเสนอผ่านสื่อ การจัดนิทรรศการ การจัดทำเป็นแผ่นพับ
ซึ่งความจริงโครงการนี้เรามีแผนงานมาตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯยังทรงมีพระชนมชีพอยู่ ด้วยสำนึกในพระเมตตาที่พระองค์ท่านมีต่องานด้านจิตเวช และถึงแม้วันนี้พระองค์ท่านจะทรงจากพวกเราไปแล้ว แต่ความดีของพระองค์ท่านจะยังคงอยู่ในใจของเจ้าหน้าที่สถาบันกัลยาณ์ฯทุกคน และพวกเราได้ตั้งปณิธานว่าจะทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของพระองค์ท่านต่อไป” รองผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวตบท้ายด้วยแววตามุ่งมั่น
....
สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตั้งอยู่ที่ ถ.พุทธมณฑลสาย 4 แขวงทวีวัฒนา เขตวัฒนา กทม.. โทร.0-2889-9191
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย จินตปาฏิ)