ว่ากันว่า “ความฝันและความหวัง คือพลังของชีวิต” เพราะตราบใดที่ยังมีลมหายใจแห่งความหวัง ชีวิตก็ดูเหมือนจะมีพลังฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ได้สมหวังในสิ่งที่หวังไว้ ซึ่งการก้าวออกไปให้ถึงเส้นชัยแห่งชีวิตของแต่ละคนนั้น บางครั้งก็อาจละเลยลืมเลือนสิ่งที่ถูกต้องดีงามไป
ภาพยนตร์สิงคโปร์เรื่อง “วิ่งชีวิตให้ถึงเส้นชัย” ซึ่งผู้กำกับชาวสิงคโปร์ ‘แจ๊ค นีโอ’ ได้สะท้อนมุมมองเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องราวของคนยากจนที่สู้ชีวิตอย่างมีความหวัง โดยผ่านชีวิตของเด็กๆ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งกับรองเท้า โดยเฉพาะเรื่องราวของสองพี่น้องในครอบครัวยากจน ซึ่งมี ‘อาคุน’ เป็นพี่ชาย และ ‘เสี่ยวฟาง’ เป็นน้องสาว กับรองเท้านักเรียน ที่เป็นความหวังของทั้งคู่
หนังเริ่มต้นด้วยปัญหาที่รองเท้านักเรียนเก่าๆของน้อง สาวที่พี่ชายเอาไปซ่อมนั้นได้หายไป ทั้งคู่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ อาจจะด้วยความกลัวที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยครั้งเรื่อง การทำมาหากินที่ฝืดเคือง ไม่มีเงินพอใช้จ่ายในครอบครัว เพราะขณะนี้แม่ของทั้งคู่ก็กำลังตั้งท้องลูกคนที่สามอีกด้วย สองพี่น้องจึงคิดหาหนทางแก้ปัญหากันเอง ด้วยการผลัดกันใส่รองเท้านักเรียนของพี่ชายไปโรงเรียน โดยเสี่ยวฟาง ใส่ไปตอนเช้า และต้องรีบวิ่งกลับมาเปลี่ยนให้อาคุนใส่ไปเรียนในตอนบ่าย แต่ความที่รองเท้าของพี่ชายทั้งเก่าและใหญ่ ทำให้น้องสาวเกิดปัญหาในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ รวมทั้งการวิ่งมาเปลี่ยนให้พี่ชายก็เป็นไปแบบทุลักทุเล บางวันเสี่ยวฟางก็ทำรองเท้าตกน้ำ จนทำให้อาคุนไปโรงเรียนสาย โดนครูใหญ่ทำโทษ ให้กวาดขยะ ปัดกวาดเช็ดถูเป็นประจำ แต่เพราะอาคุนเป็นคนที่นิสัยดี เรียนเก่ง จึงเป็นที่รักของครูและเพื่อนๆที่คอยช่วยเหลืออยู่เสมอ
จะมีก็แต่ ‘เบ็งซุน’ ลูกเจ้าของร้านรองเท้าที่ร่ำรวย ซึ่งเรียนไม่เก่งและนิสัยไม่ดี แต่ต้องการความยอมรับจากเพื่อนๆ ซึ่งก็มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เรียนแย่เหมือนกันยอมยกให้เขาเป็นหัวหน้า
กลุ่มของอาคุนซึ่งล้วนแต่เป็นเด็กรักดี ต่างก็ไม่มีรอง เท้าเตะฟุตบอลใส่ ทำให้เบ็งซุนยื่นข้อเสนอให้อาคุนทำการบ้านให้ตนและเพื่อนๆในทีม เพื่อแลกกับการยืมรองเท้า เตะฟุตบอล ด้วยความรักเพื่อนทำให้อาคุนรับข้อเสนอของเบ็งซุน
แล้วเบ็งซุนก็ถูกครูประจำชั้นทำโทษ เรื่องที่ไม่ทำการบ้านเอง ครูบอกเขาว่า “ครูเกลียดเด็กที่ทุจริต การขอให้คนอื่นทำการบ้านให้ เป็นความผิดร้ายแรง”
เบ็งซุนได้แข่งฟุตบอลกับทีมของอาคุน และแพ้ เขาจึง ยึดรองเท้าฟุตบอลคืน ความรู้สึกของอาคุนต่อเรื่องนี้คือ
“สำหรับเรา ‘รองเท้า’ คือรองเท้า แต่สำหรับเบ็งซุน ‘รองเท้า’ คืออย่างอื่น”
นัยยะที่ผู้กำกับพยายามสื่อผ่านอาคุนตรงนี้ก็คือ อาคุน มองรองเท้าเป็นแค่รองเท้า แต่เบ็งซุนมองรองเท้าเป็นเครื่อง มือของอำนาจ และคิดว่าเมื่อทีมอาคุนไม่มีรองเท้าฟุตบอล ก็ไม่มีทางที่จะชนะพวกตนได้อีกต่อไป ดังนั้นวันหนึ่งเบ็งซุน จึงท้าแข่งฟุตบอลกับอาคุน โดยยื่นข้อเสนอว่า หากอาคุนชนะเขาจะให้รองเท้านักเรียนคู่ใหม่แก่เสี่ยวฟาง แต่ถ้าแพ้ ต้องทำการบ้านให้ลูกทีมของตน อาคุนรับคำและชัยชนะก็ เป็นของทีมอาคุน แต่เบ็งซุนกลับไม่ทำตามสัญญา
อาคุนผิดหวังที่ไม่ได้รองเท้าคู่ใหม่ให้น้อง เสี่ยวฟางเอง ก็เสียใจ กระทั่งวันหนึ่งทั้งคู่ก็พบว่ารองเท้าที่หายไปนั้น ไปอยู่กับเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่เป็นลูกสาวของคนเก็บของเก่าตาบอด ซึ่งยากจนกว่าตนเสียอีก อาคุนจึงต้องกลับไปหาวิธีใหม่ ...ดูเหมือนหนังจะบอกให้เรามองว่า อย่าคิดว่าตัวเองลำบาก เพราะยังมีผู้อื่นที่ลำบากกว่าหลายเท่านัก
อาคุนเกือบจะหมดหวังในการหารองเท้าใหม่ให้น้อง แต่แล้วความหวังของเขาก็เจิดจ้าขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการแข่งขันวิ่งมาราธอน และรางวัลที่ 3 คือ รองเท้านักเรียน อาคุน ขอเข้าแข่งด้วย และบังเอิญเบ็งซุนก็ลงแข่งเหมือนกัน
อาคุนวิ่งมาตกหลุมโคลนที่เบ็งซุนตกอยู่ เขารู้สึกหมดหวัง เพราะดึงขาไม่ขึ้น แต่แล้วเมื่อนึกถึงหน้าของน้องสาว และรางวัลคือรองเท้า ทำให้เขาเกิดกำลังใจรวบรวมพลังทั้งหมดดึงขาขึ้นมาจากหลุมโคลน วิ่งเข้าสู่เส้นชัยเป็นคนที่ 1 ซึ่งได้รับเหรียญทอง
เหรียญทองอาจมีความหมายต่อโรงเรียน ครู และใคร อีกหลายคน แต่มิใช่อาคุน ที่รู้สึกผิดหวัง เอาแต่ร้องไห้ เพราะความหวังของเขาคือรองเท้านักเรียน ซึ่งเป็นรางวัลที่ 3 ที่ตกเป็นของเบ็งซุน ผู้มองรองเท้าเป็นอย่างอื่น และโยน ทิ้งต่อหน้าอาคุนอย่างไร้ความหมาย
ความผิดหวังทำให้เศร้าโศกเสียใจ ขณะเดียวกันความสมหวังก็ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย เช่นเดียวกับที่เสี่ยวฟางพบ ในวันที่ต้องวิ่งไปตามหมอตำแย มา ทำคลอดให้แม่ เสี่ยวฟางวิ่งไปถึงกลางทางที่มีเศษแก้วแตก หักกระจัดกระจายบนพื้น และรองเท้าแตะที่ใส่มาก็ขาด เธอเกือบหมดหวังที่จะไปถึงบ้านหมอตำแย แต่แล้วเมื่อนึกถึงภาพของแม่ที่กำลังเจ็บท้องร้องอย่างทรมาน ทำให้เสี่ยวฟาง เกิดพลังและความกล้าหาญวิ่งต่อไปจนถึงบ้านหมอตำแย แม้ว่าตัวเองจะโดนเศษแก้วบาดเท้าก็ตาม
อาคุนรู้สึกหมดหวังที่จะได้รองเท้าใหม่ให้เสี่ยวฟาง รวมทั้งรองเท้าของตนเองก็่พังไปแล้วจากการวิ่งแข่ง แต่ใน ที่สุดโลกนี้ก็ยังไม่โหดร้ายเกินไป และคนดีย่อมได้ดีเสมอ เพราะเบ็งซุนโดนพ่อแม่ส่งตัวไปเรียนที่อังกฤษ และเขานึกถึงเรื่องที่เคยกลั่นแกล้งอาคุน และคำพูดของอาคุนที่บอกไว้ว่า มาวิ่งแข่งนั้นแค่อยากได้รองเท้าไปให้น้อง เพราะเขาทำรองเท้าของน้องหาย เบ็งซุนจึงเข้าใจอาคุน และเริ่มมองเห็นแล้วว่า สำหรับอาคุน ‘รองเท้า’ ก็คือรองเท้าจริงๆ มิใช่ ‘รองเท้า’ ในความหมายที่เขาเคยคิดผิดๆมาตลอด
เบ็งซุนจึงนำรองเท้านักเรียนคู่ใหม่ 2 คู่ไปให้อาคุนกับเสี่ยวฟาง รองเท้า 2 คู่นี้จึงมิใช่แค่ ‘รองเท้า’ ในความรู้สึกของอาคุนกับเบ็งซุน แต่มันคือ ‘มิตรภาพ’ ระหว่างเพื่อน
ฉากสุดท้ายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสื่อ เพื่อบอกเล่า บางสิ่งบางอย่างเพื่อให้คนดูได้กลับไปทบทวน คือฉากสองคนพี่น้องใส่รองเท้าคู่ใหม่กลับบ้านด้วยความสุขใจ แต่เส้นทางเบื้องหน้านั้นขรุขระเต็มไปด้วยหลุมบ่อ และน้ำขังมาก มาย ซึ่งเส้นทางเหล่านี้เปรียบดังอุปสรรคในวันข้างหน้าอีกมากมายที่ทั้งคู่ต้องพบเจอ และต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้
อาคุนมองหนทางข้างหน้า พร้อมกับรำพึงว่า
“ถ้าไม่มี ‘รองเท้า’ เรายังเห็นปัญหาเป็นเรื่องง่าย ตอนนี้เรามี ‘รองเท้า’ แล้ว เราจะแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้ หรือไม่”
ตอนนี้ความหมายของ ‘รองเท้า’ สำหรับอาคุนได้เปลี่ยน ไปแล้ว มันมิใช่เป็นแค่เพียงรองเท้า แต่จะเป็นอะไรนั้น ฝากกันไว้ให้คิดดูในปีใหม่ 2550 ที่หลายคนมีความหวังใหม่ๆ เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องสู้กันต่อไปตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ และหวังว่าทุกท่านคง ‘วิ่งชีวิตให้ ถึงเส้นชัย’ ตามที่ปรารถนา
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 86 ม.ค. 51 โดย ศุพัศจี)