xs
xsm
sm
md
lg

ทรัมป์เริ่มสกัด BRICS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล
สัญญาณการเริ่มสกัดการเติบใหญ่ของจีนเริ่มชัดเมื่อปธน.โอบามา ที่ประกาศปักหมุดยังเอเชีย (Pibot to Asia) และที่ได้พยายามจัดตั้ง Trans Pacific Partnership (TPP) โดยรวบรวม 12 ประเทศในกลุ่มประเทศที่รวมกันอย่างหลวมๆ APEC มาจัดทำกลุ่มการค้าเสรี ซึ่งจะไม่มีจีนอยู่ด้วย

แต่เมื่อปธน.ทรัมป์ชนะเลือกตั้งต่อนางฮิลลารี และได้เข้าบริหารทำเนียบขาว ทรัมป์ได้ถอนออกจาก TPP จนทำเอา TPP เกือบล้มคว่ำลง…และต่อมาญี่ปุ่นภายใต้นายกฯ อาเบะ ได้ฟื้นกลุ่ม TPP ขึ้นมาใหม่ โดยเติม Comprehensive and Progressiveข้างหน้าเป็น CP-TPP

ทั้งนี้กลุ่ม BRICS ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2009 หลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ (ปี 2008-2009) จากการรวมตัวกับของประเทศเศรษฐกิจยักษ์จากทวีปต่างๆ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับการเติบโตที่เพิ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ หรืออยู่ใน “ซีกใต้” เมื่อเทียบกับประเทศ G7 ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและมีอิทธิพลต่อการเติบโตของทั้งโลก

ความจริงการตั้งข้อสังเกตถึงเศรษฐกิจยักษ์ 4 แห่ง ที่มีทีท่าจะรุ่งในอนาคต เกิดจากหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ Jim O’Neill แห่ง Goldman Sachs ที่ได้ศึกษาในรายงานชื่อ “Building Better Global Economic BRIC” เมื่อเปลี่ยนสหคริสต์ศตวรรษเมื่อปี 2001 โดยมี 4 ประเทศที่นำตัวอักษรแรกมาเขียนเรียงกันเป็น BRIC ได้แก่ Brazil, Russia, India และ China

การเติบใหญ่ของเศรษฐกิจทั้ง 4 ได้ขยายขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อสหรัฐฯ เจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ทำให้เศรษฐกิจของ G7 ถดถอยครั้งใหญ่…รวมทั้งสงครามอิรัก (2003-2009) ก็ทำให้สหรัฐฯ สะบักสะบอมด้านเศรษฐกิจด้วย...ขณะที่เศรษฐกิจจีนหลังเข้า WTO ได้เปิดรับการลงทุนมหาศาลจากกลุ่ม G7 จนกลายเป็นโรงงานของโลก และเป็นผู้ซื้อทรัพยากรคนสำคัญจากเหล่าประเทศ BRICS จนทำให้เศรษฐกิจเหล่า BRICS เติบโตขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

4 ประเทศ BRICS ก็ได้ขยายรวมแอฟริกาใต้เข้ามาเป็นประเทศที่ 5 เมื่อปี 2010 ด้วย...โดยมีการร่วมมือด้านเศรษฐกิจ, สังคม, ความมั่นคง, สิ่งแวดล้อม เพิ่มพูนมากขึ้นตลอดมา

ขณะนี้ได้มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 ประเทศได้แก่ อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, อินโดนีเซีย และยูเออี (เรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ) โดยประเทศอาร์เจนตินาซึ่งได้รับการต้อนรับให้เป็นสมาชิกของกลุ่มแล้ว แต่ได้ประกาศถอนตัวหลังจากประธานาธิบดีมิเลย์ คนใหม่ ได้รับเลือกตั้งเข้ามา และฝักใฝ่ในสหรัฐฯ อย่างยิ่ง จึงประกาศขอถอนจากการจะเข้าเป็นสมาชิก

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็ได้เข้าเป็นสมาชิกแทนที่อาร์เจนตินา และมีอีก 10 ประเทศที่เป็น Partner Countries ได้แก่ เบลารุส, โบลิเวีย, คิวบา, คาซัคสถาน, มาเลเซีย, ไนจีเรีย, ไทย, ยูกันดา, อุซเบกิสถาน, เวียดนาม...อีก 2 ประเทศได้รับเข้าในสถานะประเทศสังเกตการณ์คือ แอลจีเรีย และตุรเคีย

ขนาดประชากรของกลุ่ม BRICS+ ราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจรวมกันก็เกือบ 40% ของเศรษฐกิจโลก โดยแซงหน้าขนาดของ G7 ไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ทรัมป์ในช่วงหาเสียงก็ได้คาดโทษประเทศใดๆ ที่พยายามลดการใช้ดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อสินค้าและบริการ บอกว่าเขาจะใช้กำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เป็นตัวลงโทษ เพราะตลาดสหรัฐฯ นั้นใหญ่โตมหาศาล ดังนั้น เขาจะลงโทษโดยคิดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ สูงถึง 100% แก่ประเทศที่ลดใช้ดอลลาร์

ทั้งนี้ เพราะในหมู่ BRICS นำโดยรัสเซียและจีน ได้มีการผลักดันให้สมาชิก BRICS หันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในหมู่ BRICS เองในการซื้อสินค้าและบริการ...ซึ่งทำให้ใช้ดอลลาร์ลดลง...ยิ่งเมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตรโดย G7 หลังบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ไม่ให้ใช้ระบบแลกเปลี่ยน SWIFTS ยิ่งทำให้รัสเซียหาทางออกโดยขายน้ำมัน, แก๊สธรรมชาติ, ข้าวสาลี และแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยขายด้วยเงินสกุลหยวนของจีน และเงินรูเบิลของรัสเซีย จนทำให้เงินรูเบิลที่ดิ่งฮวบถึง 40% ช่วงต้นสงครามยูเครน สามารถเด้งกลับมาแข็งกว่าก่อนสงครามยูเครนด้วยซ้ำ

ปูตินผลักดันให้ประเทศต่างๆ ซื้อขายสินค้ากับจีน โดยใช้เงินหยวนแทนดอลลาร์ และมีแผนผลักดันเงินสกุลใหม่มาแทนสกุลท้องถิ่นด้วยซ้ำ...ติดอยู่ที่อินเดียที่ยังไม่ค่อยคล้อยตามรัสเซียและจีน...รวมทั้งบราซิลที่ยังมีจุดยืนให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากกว่าหันมาเปิดใช้เงินสกุลใหม่

ทั้งอินเดียและบราซิลดูมีความเกรงใจสหรัฐฯ อยู่ในที เพราะบราซิลก็ยังพึ่งพาเศรษฐกิจอยู่กับสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ได้หันมาพึ่งพาจีนอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ...ขณะที่อินเดียก็ยังใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจ (จากนโยบาย China+1 หลังทรัมป์พยายามตัดขาดเศรษฐกิจกับจีน จนทำให้บริษัทเทคใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ หันมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอินเดีย โดยลดน้ำหนักการลงทุนในจีน)…จนนักวิเคราะห์ในซีกโลกใต้หลายคนให้สมญาอินเดียว่าเป็นม้าไม้เมืองทรอยในกลุ่ม BRICS

สำหรับนโยบายการขยายเพิ่มสมาชิกในกลุ่ม BRICS ก็ดูมีความเห็นไม่ค่อยตรงกันนัก โดยรัสเซียและจีนอยากเพิ่มสมาชิก เพื่อมาถ่วงดุลประเทศ G7 มากขึ้น ในขณะที่อินเดียไม่เห็นด้วยเพราะเกรงจะมีความคิดแตกแยก ไม่รวมเป็นฉันทามติดังเดิม (มากหมอมากความ)

ยิ่งขณะนี้ มียูเออีที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาก เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ทำให้เกิดความหวาดระแวงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพิ่มขึ้นในกลุ่ม BRICS

ในที่สุด ทรัมป์ก็ต้องรีบออกมาสกัดการมีอิทธิพลของกลุ่ม BRICS โดยใช้เครื่องมือที่เขาชอบมากที่สุดคือ การตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าสหรัฐฯ...หลังจากการประชุม BRICS (ที่ปธน.ลูลาแห่งบราซิลเป็นประธาน) ครั้งล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคมนี้เอง ที่มีแถลงการณ์ประณามการขึ้นกำแพงภาษีสูงลิ่วโดยพลการ (ของสหรัฐฯ) โดยไม่มีการปรึกษาพิจารณาร่วมกับประเทศที่ถูกกำหนดภาษีสูงนั้นๆ และเป็นการผิดกฎขององค์การการค้าโลก

และการประณามการใช้กำลังทหารเข้าโจมตีอิหร่าน (โดยอิสราเอลและสหรัฐฯ) รวมทั้งการใช้อาหารเป็นอาวุธ (โดยอิสราเอล) ที่กาซา ผิดกฎสหประชาชาติและข้อตกลงเจนีวาในการทำสงคราม

คำแถลงการณ์ของ BRICS ครั้งนี้ ไม่ได้เอ่ยชื่อทั้งสหรัฐฯ และอิสราเอล แต่เป็นที่เข้าใจได้ทันทีว่า เป็นการประณามสหรัฐฯ และอิสราเอล

ทรัมป์ไม่พอใจแถลงการณ์นี้ และออกมาประกาศทันทีว่า จะขึ้นกำแพงภาษีแก่ประเทศสมาชิก BRICS ทุกประเทศ โดยไม่มีข้อยกเว้น กล่าวหาว่าเป็นกลุ่มประเทศต่อต้านสหรัฐฯ

ซึ่งเขากำลังจะประกาศเร็วๆ นี้ และต้องติดตามว่าทุกๆ ประเทศใน BRICS จะโดนโดยทั่วหน้าหรือไม่ ซึ่งหมายรวมถึงอินเดีย, ยูเออี ด้วยนั่นเอง

ถือเป็นการลงโทษเหล่าประเทศที่หาญกล้าพยายามสร้างขั้วอำนาจใหม่ในโลก เพื่อไม่ให้โลกมีเพียงขั้วเดียวคือ G7 ที่นำโดยสหรัฐฯ ที่ถืออำนาจบาตรใหญ่ทำอะไรตามใจจักรพรรดิทรัมป์ โดยไม่แยแสต่อความเป็นความตายของประเทศอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น