ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สีดอโฮป เป็นช้างสีดอ ที่ไม่ได้สูงถึงห้าเมตร อย่างที่คุณต๊ะ นารากร ตินายน สื่อมวลชนคุณภาพรายข่าวออกไป แม้กระทั่งช้างแมมมอธอันเป็นช้างโบราณในยุคน้ำแข็งมีขนยาวปกคลุมและมีร่างกายมหึหาก็หาได้มีความสูงถึงห้าเมตรไม่
แต่ที่แน่นอนช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก การที่ช้างเลี้ยงต้องถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยง (Domesticated animals) ไม่ใช้สัตว์ป่า (Wild animals) จำเป็นต้องมีการฝึกสอน เช่น การล่ามโซ่ อย่างเดียวกันกับสุนัขที่มีการฝึกสอนสายจูง (Leash training) การฝึกสอนสัตว์ต่าง ๆ นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง และวิธีการสอนต้องใช้หลักจิตวิทยาที่แตกต่างกันไปในการปรับพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเสริมแรงทางบวก การเสริมแรงทางลบ การลงโทษทางบวก และการลงโทษทางลบ โปรดอ่านรายละเอียดในการประยุกต์ใช้หลักจิตวิทยาในการปรับพฤติกรรมได้จากบทความ สีดอโฮปควรมีโอกาสในชีวิตเช่นเดียวกันกับพังน้ำเพชรหรือไม่? https://mgronline.com/daily/detail/9670000098849
การที่ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากมิได้รับการฝึกเลย คือเลี้ยงในคอกปล่อยตามธรรมชาติจะทำให้เกิดปัญหาสังคมได้อย่างมากมาย ทำให้สัตวแพทย์ไม่สามารถเข้าไปรักษาได้ต้องวางยาซึมทุกครั้งไปอันเป็นอันตรายต่อตัวช้างเอง ไม่สามารถนำช้างไปโรงพยาบาลช้างเพื่อรักษาหากมีอาการป่วยหนัก การขาดการอบรมสอนช้างทำให้ควาญช้าง เป็นแค่ตะพุ่นหญ้าช้าง ไม่สามารถควบคุมช้างเพื่ออพยพออกนอกพื้นที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินอันจำเป็นอันเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้อง เช่น เมื่อเกิดอุทกภัยดังเช่นที่แม่แตง ไฟป่าลามเข้าปางช้าง หรือโรคระบาดช้างทั้งปาง หรือเหตุอื่น ๆ
ปางช้างโลกสวยด้วยนโยบาย no hook, no chain, no riding นั้นส่งผลเสียต่อช้างในปางอย่างชัดเจน เพราะใช้การคักในคอก ทำให้ช้างเครียดมาก อันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ โปรดอ่านได้จากบทความ ช้างไม่ต่างจากคน ไม่อยากถูกขังเดี่ยวในคอก จิตวิทยาพื้นฐาน https://mgronline.com/daily/detail/9670000099396
ช้างป่านั้นคนไทยใช้สรรพนามเรียกเป็นตัว
ช้างเลี้ยงในปาง นั้นคนไทยใช้สรรพนามเรียกเป็นช้าง
ช้างสำคัญ เช่น ช้างเผือก ช้างทรง คนไทยใช้สรรพนามเรียกว่า ช้าง
เวลาช้างเสียชีวิตคนไทยใช้คำว่า ช้างล้ม
ธรรมชาติของช้างบ้านหรือช้างเลี้ยงนั้น ก็อาจจะมีความดุร้ายได้ เช่น เวลาที่ตกมัน อันสังเกตได้จากลักษณะที่ต่อมน้ำมันที่ขมับของช้างบวมโตและมีน้ำมันใส ๆ ไหลออกมา ช้างตัวผู้จะมีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว ดุร้าย มีกลิ่นสาบฉุน, เรียกช้างที่มีอาการเช่นนั้น ว่า ช้างตกมัน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา) ภาษาอังกฤษเรียกว่า be in rut หรือ be in must/musth ซึ่งจะเกิดอันตรายได้ง่ายมาก
ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากไม่ฝึกด้วยตะขอหรือโซ่ที่ใช้ด้วยเมตตาของควาญช้างมืออาชีพ จะทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมอย่างร้ายแรง ฝรั่งนั้นมีภาษิตว่า Spare the rod, spoil the child คือการเก็บไม้เรียว จะทำให้เสียเด็ก หรือเด็กเสีย (เด็กเกเร) หรือที่คนไทยพูดว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ถ้าช้างไม่ได้รับการฝึกและอบรมสั่งสอนโดยควาญช้างด้วยหลักจิตวิทยาเลย ก็จะกลายเป็นการสร้างเด็กเกกมะเหรกเกเรบนบกที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก อาจจะเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายได้ง่ายที่สุด
ช้างตัวผู้มีงา เรียกว่าช้างพลาย
ช้างตัวผู้ที่ไม่มีงา หรือมีเพียงขนายงาเล็ก ๆ สั้น ๆ เรียกว่าช้างสีดอ
ช้างตัวเมีย เรียกว่า ช้างพัง
ช้างสีดอ บางตัวจะดุและเกเรกว่าช้างพลายที่มีงา
นายสัตวแพทย์ เผด็จ ศิริดำรง ผู้รักษาช้างมายาวนานหลายสิบปี ได้เขียนเล่าว่า จากการทำงานกับช้างมานาน ช้างสีดอ จะฉลาด และมักอันตรายกว่าช้างพลาย หรือช้างพัง เวลาเราเข้าหา ต้องมีควาญอยู่ด้วยเสมอ ต้องระมัดระวังตัวมากเป็นพิเศษครับ
นายสัตวแพทย์ สฤษฎิ์รัตน์ ใจสุดา ผู้รักษาช้างมายาวนาน ได้เขียนเล่าว่า ธรรมชาติมอบร่างกายที่สูงใหญ่ให้สีดอทดแทนงาครับ
โดยธรรมชาติ ช้างตัวผู้หรือช้างพลายต่อสู้กันก็ใช้งาแทงเป็นอาวุธ และตามธรรมชาติ ช้างพลายก็ดุและก้าวร้าวกว่าช้างพัง
ช้างตัวผู้ตัวที่แข็งแรงสุดจะเป็นจ่าโขลง
เวลาเลือกช้างทรงไปกระทำยุทธหัตถี จึงต้องเป็นช้างพลาย เพราะช้างชนช้าง พระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ก็ทรงรบกันอยู่บนหลังช้างไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ช้างตัวผู้จะเริ่มต่อสู้กันเมื่อเข้าวัยเจริญพันธุ์ (Puberty period) เมื่ออายุประมาณ 14 ปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่เพื่อแย่งความเป็นจ่าฝูง ที่มีคนไปแย่งนิยายว่าพลายข้ามแดนจะต่อสู้กับพลายดอกแก้วจึงเป็นเรื่องตลกมาก เพราะพลายข้ามแดนเป็นจ่าฝูงอายุ 30 ปี ตัวสูงใหญ่สง่างามหล่อมาก ในขณะที่พลายดอกแก้วเป็นช้างเด็กและอยากมีปฏิสัมพันธ์กับพลายข้ามแดน จึงได้เอางวงเข้ามาแตะหรือรัดงวงเป็นการทักทายกันและกันอย่างเป็นมิตร ฝ่ายพลายข้ามแดนก็แสดงพฤติกรรมการเป็นจ่าโขลงอย่างเต็มที่คือรับพลายดอกแก้วเข้ามาดูแลปกป้องในฐานะลูกโขลง ฝั่งข้ามแดนก็คงต้องการกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) และอยากมีจ่าโขลงเท่ ๆ เหมือนวัยรุ่นชายชอบมีหัวหน้าแกงค์หรือหัวโจกเท่ ๆ เช่นกัน
แต่ช้างนี่เป็นสัตว์ที่แปลก บางฝูงมีช้างพังตัวเมียที่อาวุโสสูงสุดและแข็งแรงสุดทำหน้าที่เป็นจ่าโขลง เรียกว่า แม่แปรก
ในสังคมมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่เพศชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) แต่ในบางประเทศและในบางสังคม ผู้หญิงก็เป็นใหญ่ (Matriarchy) เช่นกัน ในโขลงช้างนั้นบางคราวช้างพังก็เป็นใหญ่ ปกครองโขลงช้าง ปกป้องต่อสู้ชนิดยอมตายถวายชีวิตเพื่อปกป้องลูกช้าง นำช้างทั้งโขลงออกหากิน (Foraging)
สุนทรภู่เคยเขียนไว้ในนิราศภูเขาทองเอาไว้ว่า ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย เป็นการเปรียบเทียบช้างแม่แปรก เปรียบเสมือนหญิงหม้ายอาวุโส ที่เกรี้ยวกราด มีความเป็นจ่าโขลงหรือมีภาวะผู้นำ ขืนไปยุ่งด้วย กอดเข้าไปนี่ อาจจะเจ็บตัว ถึงกับอกแตกตายได้ ท่านสุนทรภู่ ท่านคงเข้าใจธรรมชาติของช้างแม่แปรกดีพอสมควร จึงนำมาเปรียบเทียบกับผู้หญิงเอาไว้
ช้างพังคงเห็นพฤติกรรมมนุษย์ผู้หญิง แล้วเอาอย่างบ้างในการเป็นผู้นำหรือจ่าโขลง (อันนี้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ไม่แน่ใจว่าคนเลียนแบบช้างหรือไม่?)
ช้างยังเป็นสัตว์สังคมที่น่าทึ่งมาก เช่น ช้างป่าในเขาใหญ่ เมื่อมีช้างตกลูก ฝูงช้างป่าที่เขาใหญ่จะใหญ่โตมากเป็นพิเศษ ช้างป่าที่เขาใหญ่มีพฤติกรรมเยี่ยมลูกช้าง (Baby visit) โดยจะรวมโขลงกันใหญ่มากเพื่อปกป้องภยันตรายต่าง ๆ ให้ลูกช้างป่า
ช้างสีดอนี่ เป็นช้างที่ถือว่าตามธรรมชาติ ด้อยกว่า ช้างพลาย เพราะไม่มีงา หรือมีแค่ขนายเล็ก ๆ เป็นเพียงงาสั้น ๆ ใช้เป็นอาวุธ แทงไม่ได้
ช้างสีดอเลยมักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดุร้าย มากกว่าช้างพลายที่มีงาเสียอีก เพื่อเป็นการชดเชยปมด้อยของตัวเอง และเพื่อความอยู่รอดของตัวเองด้วย
ควาญช้างและสัตวแพทย์ช้างผู้ชำนาญ เช่น นายสัตวแพทย์สุเมธ กมลนรนาถ แห่งองค์การสวนสัตว์ เล่าให้ฟังว่า ช้างสีดอบ้างตัวนั้นดุมากเสียยิ่งกว่าช้างพลายตัวผู้ที่มีงา ดุและเกเรหรือก้าวร้าวจนกระทั่งช้างพลายที่มีงายังไม่กล้าเข้าไปใกล้หรือเข้าไปยุ่งด้วย
และเวลาที่ช้างสีดอจะต้องต่อสู้กับช้างพลายที่มีงา ช้างสีดอจะใช้วิธีการสุดทรมาน คือการเอางวงของตนที่ทรงพละกำลังมหาศาล บีบงาของช้างพลายเข้าหากัน ในงานั้นก็คือกระดูกงอก มีเส้นประสาทอยู่ข้างในมากมาย การถูกงวงรัดงาสองข้างเข้าหากันก็จะทำให้ช้างพลายเจ็บปวดทรมานมาก อาการคงไม่แตกต่างจากการปวดฟันของคนแล้วไปบดเคี้ยวของแข็ง จะทรมานเจ็บปวดแค่ไหนก็ลองนึกเอาเอง
ช้างสีดอชอบใช้วิธีการนี้ในการต่อสู้กับช้างพลายที่มีงา
วิธีการรัดงาของช้างพลายนี้ ควาญช้างที่ชำนาญเล่าให้ฟังว่า บางคราวช้างพังตัวเมียที่ไม่พร้อมหรือไม่ยอมให้ช้างพลายขึ้นขี่ผสมพันธุ์ก็จะเกรี้ยวกราดเอางวงรัดงาช้างพลายเข้าหากันให้ช้างพลายเจ็บปวดและหลาบจำ แบบช้างสีดอ แต่ช้างพังจะทำแบบนี้กับช้างพลายในเวลาที่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ใช่การสู้กันตามปกติแบบช้างสีดอ
ควาญช้างและสัตวแพทย์ช้าง ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ช้างสีดอ มักใช้งวงทำร้ายมนุษย์ โดยจับขาหรือลำตัวไว้ แล้วเอาขาอีกข้างกระทืบ หรือไม่ก็เอาขาช้างกดขาหรือกดตัวไว้ แล้วเอางวงรัดฉีกขามนุษย์ให้หลุดออกจากกัน
ช้างสีดอนั้นมักมีงวงช้างที่แข็งแรงทรงพลังมากเป็นพิเศษ เพื่อชดเชยที่มันไม่มีงาไว้แทงต่อสู้
อย่าได้แปลกใจครับ ที่ช้างสีดอโฮป อาจจะดุมากสักหน่อย เพราะช้างสีดอโดยธรรมชาติบางตัวก็ดุและเกเรมากอยู่แล้วเพื่อชดเชยที่มันไม่มีงา
แต่สีดอโฮปที่ถูกขังเดี่ยวมาหลายปี และไม่ได้รับการเลี้ยงดู อบรม ปรับพฤติกรรม อย่างถูกต้อง เหมาะสมจะยิ่งดุและเกเรมากเป็นพิเศษ เพราะมีแผลในใจมากมาย รวมไปถึงแผลในใจที่ป้าปล่อยให้แช่น้ำเสี่ยงตายตามยถากรรมถึงสองวันสองคืน
สีดอโฮปนั้นค่อนข้างดุมาก ทั้งป้าแสงเดือนและคุณนารากร ก็ต่างไม่กล้าเข้าใกล้ ได้แต่เคาะกาละมังเรียก แล้วโยนของกินให้ ออกมาให้ห่างที่สุด อันแสดงให้เห็นว่าวิธีการเลี้ยงช้างสีดอโฮปที่ป้าแสงเดือนเลี้ยงนั้นไม่ถูกวิธีอย่างแน่นอน และจะสร้างปัญหาสังคมต่อไปได้อีกมาก