xs
xsm
sm
md
lg

พระราชอำนาจ ตอนที่ 2 : ทำไมพระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าแผ่นดินสำหรับคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ดังที่ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนไว้ในหนังสือลักษณะไทยถึง ลักษณะเด่นของสถาบันพระมหากษัตริย์กับว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยแตกต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของชาติอื่นๆ ประการแรกสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทรงใกล้ชิดราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ประการที่สอง สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยดำรงความศักดิ์สิทธิ์เพราะทรงเป็นสมมุติเทวราช ประการที่สาม ที่จะได้นำเสนอในบทความนี้คือ ความเป็นพิเศษและความหลากหลายของทัศนะที่คนไทยมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คนไทยเรียกพระมหากษัตริย์ว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าแผ่นดิน ทำไมคนไทยจึงเรียกพระมหากษัตริย์ว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าแผ่นดิน

คำแรกคือคำว่า พระเจ้าอยู่หัว นั้นเป็นคำที่สืบเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาจากคำเต็มว่า พระพุทธเจ้าอยู่หัว เป็นคำยกย่องสูงสุดของพุทธศาสนิกชนเปรียบเทียบว่าพระมหากษัตริย์เปรียบประดุจดัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดด้วยเศียรเกล้าเหนือหัว หรือเป็นการเปรียบประหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า เป็นที่เคารพสูงสุดเสมือนกับว่าประทับอยู่บนหัวของทุกคน

คำสรรพนามที่ประชาชนเรียกตนเองต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์จึงใช้คำว่า ข้าพระพุทธเจ้า อันหมายความว่าราษฎรนั้นเป็นข้าของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประหนึ่งพระพุทธเจ้าที่เคารพสักการะสูงสุด และในเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ขึ้นต้นเนื้อร้องด้วยคำว่า “ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน”

ธรรมเนียมการยกย่องเคารพพระมหากษัตริย์ไทยประดุจพระพุทธเจ้านี้ยังคงอยู่แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อบ้านเมืองกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Modernization) แล้ว โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยะมหาราชเสด็จสวรรคต พสกนิกรก็มีการถวายสมัญญานามแด่พระองค์ว่า พระพุทธเจ้าหลวง เช่นกัน

คำที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และทำให้เห็นความเชื่อและประเพณีที่คนไทยนับถือพระมหากษัตริย์ดุจประหนึ่งพระพุทธเจ้าคือคำว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า สมเด็จหน่อพุทธเจ้า หรือ สมเด็จหน่อพุทธางกูร อันเป็นคำศัพท์ที่ใช้มานับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หมายถึง พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์อันประสูติแต่สมเด็จพระอัครมเหสีเรียกว่า นับว่าเป็นอันดับสูงสุดในพระบรมวงศานุวงศ์และเป็นผู้ทรงมีสิทธิ์เหนือผู้อื่นในการที่จะสืบทอดราชสมบัติต่อไป

คำว่า สมเด็จหน่อพุทธเจ้านี้ ยังคงใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏใน กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 อันประกาศใช้เมื่อ 100 ปี ก่อนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (และยังมีผลบังคับใช้จวบจนปัจจุบัน) ดังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2467 หมวด 2 บรรยายศัพท์ มาตรา 4 (3) “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” คือสมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหษี และได้นิยามคำว่า สมเด็จพระอัครมเหสีเอาไว้ว่า (4) สมเด็จพระอัครมเหสีคือพระชายาหลวงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏในประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี

ทั้งนี้ในมาตรา 9 ของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ยังได้กำหนดลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งควรจะสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น มีสมเด็จหน่อพุทธเจ้าอยู่ในลำดับหนึ่ง หากสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาองค์ไม่แล้ว พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จหน่อพุทธเจ้าจะอยู่ในลำดับถัดไปในการสืบราชสันตติวงศ์

โดยที่บัญญัติในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์นี้ สมเด็จหน่อพุทธเจ้า ต้องเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในองค์พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี เท่านั้น

การใช้คำว่า พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จหน่อพุทธเจ้า จึงเป็นการแสดงการยกย่องเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไว้ในที่เคารพสักการะสูงสุด ประดุจพระพุทธเจ้า

คำสองคือคำว่า พระเจ้าแผ่นดิน คำว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นย่อมหมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทุกตารางนิ้ว แต่พระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นได้พระราชทานสิทธิให้ราษฎรทำกินและครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน พระเจ้าแผ่นดินไทยได้พระราชทานให้ทั้งขุนนางและราษฎรมีสิทธิจับจองที่ดิน พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานให้ทั้งเจ้านาย ขุนนาง และราษฎร และหากเจ้านายหรือขุนนางกระทำผิดกฎหมาย พระเจ้าแผ่นดินก็สามารถทรงริบคืนที่ดินได้เช่นกัน

การพระราชทานให้ถือครองที่ดินได้สูงสุดเท่าใดจากพระเจ้าแผ่นดินเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมในสังคมไทยอย่างหนึ่ง เรียกว่าศักดินา โดยเจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์จะมีศักดินาสูงกว่าและถือครองที่ดินได้มากกว่าเช่น 10,000 ไปจนเกินกว่า 100,000 ไร่ขึ้นไป โดยเฉพาะเจ้านายชั้นสูง ในขณะที่ขุนนางนั้นมีศักดินาถือครองที่ดินได้ตั้งแต่ 400 ไปจนถึง 10,000 ไร่ตามชั้นยศศักดิ์ของขุนนาง ส่วนไพร่และทาสนั้นสามารถถือครองที่ดินได้ไม่มาก ส่วนมากต้องมีสังกัดหรือมูลนาย โดยสังกัดอยู่กับเจ้านายหรือขุนนาง มิได้ถือครองที่ดินด้วยตนเอง การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินทำให้ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทุกตารางนิ้วบนราชอาณาจักร ทำให้พระราชทานศักดินาที่เชื่อมโยงกับการถือครองที่ดินได้

อย่างไรก็ตามพระเจ้าแผ่นดินของไทยมิได้เป็น Lord Feudal หรือเจ้าที่ดิน ที่รีดนาทาเร้นราษฎรเก็บภาษีและค่าเช่าที่ดินอย่างโหดเหี้ยมเช่นในยุโรปยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) แต่กลับมีนักวิชาการไทยบางคนและบางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยสั่งสมความมั่งคั่งในรูปแบบของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ผ่านการเป็นเจ้าที่ดินที่รีดนาทาเร้นราษฎรผู้เช่าหรือผู้อาศัยทำกินบนผืนดินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงครอบครองทุกตารางนิ้ว อันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โปรดอ่านได้จากบทความ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๘ : ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หาได้มาจากแรงงานไพร่-ทาสทั้งสิ้นไม่ https://mgronline.com/daily/detail/9650000061548

ตัวอย่างง่ายสุดว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยมิได้ทรงเป็นเจ้าที่ดินอันโหดร้ายแบบ Feudal lord ของประเทศในยุโรปในอดีตก็คือการที่รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อจะทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งกรุงธนบุรีมายังฝั่งกรุงเทพในปัจจุบัน ชัยภูมิที่ตั้งพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนจีนจำนวนมาก ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานที่ดินบริเวณสำเพ็งให้ชาวจีนเหล่านี้อพยพไปอยู่บริเวณดังกล่าวก่อนที่จะสร้างพระบรมมหาราชวังที่เราเห็นในปัจจุบัน

ในทางตรงกันข้าม พระเจ้าแผ่นดินของไทยทรงมีหน้าที่หรือพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับดินและน้ำมากมาย นอกจากจะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วยังต้องทรงบำรุงรักษาที่ดินและน้ำที่หล่อเลี้ยงดินให้สามารถทำมาหากินได้ด้วย

ประการแรก พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงบำรุงรักษาที่ดิน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นตัวอย่างอันเห็นชัดว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงใส่พระทัยต่อการบำรุงดินและการทำนาของเกษตรกร พระราชพิธีนั้นแท้จริงแล้วประกอบด้วยสองพระราชพิธีคือพระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ที่มาของภาพ https://www.thaipost.net/royal-court/140727/)

พระยาแรกนา เทพีคู่หาบเงินคู่หาบทอง และพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ที่มา https://www.moac.go.th/royal_ploughing-history


ประการที่สอง พระเจ้าแผ่นดินไทย นับแต่โบราณกาล ทรงสำรวจแจงนับฝูงสัตว์เพื่อการเกษตร จับและฝึกสัตว์เพื่อใช้งาน และบำรุงที่ดิน เช่น ฝูงช้างป่า ฝูงควายป่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่ต้องรายงานจำนวนสัตว์ป่าเหล่านี้ ที่สามารถคล้องหรือจับมาฝึกเพื่อใช้งานด้านการเกษตร มูลสัตว์เหล่านี้ก็เป็นปุ๋ยบำรุงดิน เป็นต้น

ประการที่สาม พระเจ้าแผ่นดินของไทยแต่โบราณกาล ยังมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับน้ำ เพื่อทำให้ดินดำน้ำชุ่มสามารถเพาะปลูกพืชได้ผลดี อันได้แก่ พระราชพิธีพรุณศาสตร์ หรือพระราชพิธีขอฝน อันมีตำราบันทึกไว้โดยละเอียดโดยเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงบันทึกอธิบายไว้อย่างละเอียดในความเรียงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นยอดแห่งวรรณคดีความเรียงของวรรณคดีสโมสร




เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มักจะเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ในบางครั้งแม้จะเข้าฤดูเกี่ยวข้าวหรือฤดูแล้งแล้วก็ตามน้ำก็ยังท่วมไม่ลด ทำให้เกี่ยวข้าวไม่ได้ ข้าวจะเสียหาย ทำให้พระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จลงมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีไล่เรือหรือพระราชพิธีไล่น้ำ เพื่อให้น้ำลดและให้ชาวนาเกี่ยวข้าวได้ ผลผลิตไม่เสียหาย สามารถตากข้าวได้ ข้าวเปลือกจะได้แห้ง ไม่มีความชื้นมากจนเกินไปจนข้าวเสียหรือขึ้นรา

Facebook page ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณได้อธิบายไว้ว่า

ในเดือนอ้ายถ้าน้ำในท้องนายังไม่ลด จะทำความเสียหายให้กับต้นข้าว จึงต้องทำพระราชพิธีไล่เรือ (ไล่น้ำ) โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปลงเรือลำหนึ่ง อีกลำหนึ่งพระมหากษัตริย์ทรงยืนที่หัวเรือ ทรงโบกพัดไล่น้ำเพื่อทำให้น้ำลดลง

ที่มาของภาพ https://www.facebook.com/muangboranpress/photos/a.160057984010323/2449718241710941/
พระราชพิธีโบราณที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินในการบำรุงให้ดินดำน้ำชุ่มเพื่อเกษตรกรตลอดจนพระราชพิธีไล่น้ำเหล่านี้ ยังคงมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน เช่นในคราวเกิดมหาอุทกภัยในพ.ศ. 2554 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ได้ประกอบพิธีไล่น้ำ ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าพระราชพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นองค์ประธานในการบำรุงดินและน้ำ คือการที่พระเจ้าแผ่นดินของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใส่พระทัยในการบำรุงดินและน้ำของแผ่นดินไทยเป็นอย่างยิ่ง สมกับที่ทรงเป็น พระเจ้าแผ่นดิน โดยแท้


ด้วยพระราชปรีชาญาณ (Wisdom) ทำให้ทรงประยุกต์ใช้แม้กระทั่งพืชที่คนทั่วไปเข้าใจว่าทำลายดินเป็นพืชบำรุงดินได้ ผู้เขียนได้ไปชมงานที่ศูนยศึกษาการพัฒนาห้วยทรายตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ด้วยตาตนเอง เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน มีวิทยากรคือ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ ก.ป.ร. เป็นผู้บรรยายนำชม

พื้นดินบริเวณห้วยทรายเป็นเขตเงาฝนและดินดาน (ดินแข็งเป็นหิน) น้ำซึมผ่านไม่ได้ ปลูกต้นไม้อะไรไม่ได้เลย การไปปลูกป่าที่ห้วยทรายในเวลานั้นต้องขุดดินดานด้วยอีเตอร์ อันเป็นเหล็กปลายแหลมเพื่อขุดดิน หรือใช้เครื่องเจาะดินที่ใช้น้ำมันเพื่อเจาะดินดานให้พอเป็นหลุมลงไปและปลูกต้นไม้ได้ ต้นไม้ที่ปลูกเพื่อนำร่อง หาได้เป็นหญ้าแฝกตามที่คนทั่วไปจะคาดคะเน แต่กลับเป็นต้นยูคาลิปตัสที่เป็นพืชทำลายดิน เพราะหากินเก่งและดูดปุ๋ยจากดินเก่ง อดทนต่อความแห้งแล้งและดินเลวได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ปลูกต้นยูคาลิปตัสอันมีรากที่แข็งแกร่งทรงพลังพอที่จะระเบิดดินดานที่แข็งจนเกือบจะเป็นหินในเขตห้วยทรายก่อน หลังจากนั้นจึงปลูกหญ้าแฝกรอบ ๆ ต้นยูคาลิปตัสเมื่อรากอันแข็งแกร่งของต้นยูคาลิปตัสได้ทำลายให้ดินดานแตกเป็นร่องก่อนแล้วพอที่รากหญ้าแฝกจะมีแรงเซาะเจาะดินเพื่อเติบโตได้ หลังจากนั้นค่อยปลูกต้นไม้อื่น ๆ เพื่อบำรุงดินไปตามลำดับ แล้วค่อยตัดไม้ยูคาลิปตัสไปขาย เมื่อสี่ห้าปีนี้ผู้เขียนได้ไปเป็นวิทยากรที่ห้วยทรายให้หน่วยราชการแห่งหนึ่ง สภาพพื้นที่เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ มีต้นไม้เขียวชอุ่ม เป็นป่าชุ่มชื้นผิดไปจากสามสิบกว่าปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง

แม้กระทั่งพื้นที่ดินเปรี้ยวในพรุทางภาคใต้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มีพระราชดำริที่สร้างสรรค์ โดยทรงใช้วิศวกรรมย้อนร้อย (Reversed engineering) เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โดยการเรียนรู้ที่จะแกล้งดิน เพื่อให้ดินเปรี้ยวถึงที่สุดจนแม้กระทั่งต้นหญ้าก็ขึ้นไม่ได้ ทรงให้ ดร. พิสุทธิ์ วิจารณ์สรณ์ แห่งกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สูบน้ำเข้าไปจนท่วมเต็มพื้นที่พรุ แล้วสูบน้ำออกจนหมด สลับไปมาจนทำให้แร่ไพไรต์ (Pyrite) ที่มีมากอยู่แล้วในดินพรุแห้งและทำปฏิกิริยากับอ็อกซิเจนเกิดแก๊สซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) ต่อมาเมื่อดินเปียก เพราะทรงให้แกล้งดินโดยสูบน้ำเข้าไปในพรุจนท่วม SO3 จะทำปฏิกิริยากับน้ำเกิดเป็นกรดซัลฟูริคหรือกรดกำมะถัน (H2SO4) ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัด เมื่อทรงแกล้งดินจนต้นไม้ทุกชนิดในพื้นที่พรุตายเกลี้ยงแล้ว ก็มีพระราชกระแสว่า แกล้งดินให้เปรี้ยวได้ ก็แปลว่าเข้าใจกลไกการเกิดดินเปรี้ยวแล้ว ก็ต้องย้อนรอยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวได้สำเร็จ โปรดให้กรมพัฒนาที่ดิน โดย ดร. พิสุทธิ์ วิจารณ์สรณ์ ทดลองเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพรุทางภาคใต้จนสำเร็จ ซึ่งกว่าดร. พิสุทธิ์จะทดลองได้สำเร็จใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ปี จึงได้ผลการทดลองเป็นที่พอใจและสามารถนำไปแก้ปัญหาจริงในพื้นที่ตามพระราชดำริได้

รูปนี้วาดโดยสาขาเคมี ของ สสวท. แต่หายไปจากหน้าเว็บไซต์ของ สสวท. แล้ว (ที่มาของรูป https://x.com/knowledge_onlyy/status/811400278310195201)
พระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินพระนาม ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช นั้นยิ่งใหญ่ ได้รับการยอมรับจากนักธรณีวิทยาทั่วโลก จนลงมติพร้อมใจกันให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีอันเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นวันดินโลก (World Soil Day)

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด จากพระบรมชนกนาถในฐานะพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำรุงดินและน้ำ ทรงนำเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ให้เข้าใจง่าย เป็น โคก หนอง นา โมเดล เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนและเกษตรกรเข้าใจง่าย โปรดให้อบรมนักโทษในกรมราชฑัณท์ในนามโครงการ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง

พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนได้ถือครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสสะสมความมั่งคั่ง อันจะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระราชวิสัยทัศน์อันแรงกล้าที่จะให้ประชาชนได้ถือครองที่ดิน พระพุทธเจ้าหลวงทรงเป็นนักวางแผนและนักบริหารที่เก่งกาจฉลาดเฉลียวที่สุด อย่างเรื่องการเลิกระบบไพร่และทาสก็ทรงทำอย่างละมุนละม่อม ค่อยเป็นค่อยไป ราบรื่น ไม่มีสงครามกลางเมืองแบบการเลิกทาสแบบในสหรัฐอเมริกา

การทรงให้โอกาสประชาชนถือครองที่ดินได้ ก็ต้องทรงจ้างฝรั่งผู้ทรงคุณวุฒิมารังวัดที่ดินเสียก่อน เป็นขั้นตอนแรก หลังจากนั้นให้ฝรั่งผู้ทรงคุณวุฒิสอนวิชาการรังวัดที่ดินแก่คนไทยเสียก่อน เป็นขั้นตอนที่สอง ทรงตั้งโรงเรียนแผนที่ก่อน แล้วจึงตั้งกรมแผนที่ทหาร เป็นขั้นตอนที่สาม เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความรู้พอที่จะทำหน้าที่ในการรังวัดสำรวจที่ดิน เมื่อรังวัดที่ดินได้ เดินสำรวจได้ ถึงค่อยออกโฉนดที่ดินได้ เป็นขั้นตอนที่สี่ พอออกโฉนดที่ดินได้ จึงทรงตั้งกรมที่ดิน เป็นขั้นตอนที่ห้า แล้วจึงทรงเริ่มการปฏิรูปที่ดินโดยทรงขุดคลองที่ยาวมากสองคลองคือคลองเปรมประชากรกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เป็นขั้นตอนที่หก ทำให้กรุงเทพเกิดการขยายตัวไปทางทิศเหนือเป็นอย่างมาก เกิดการจับจองที่ดิน และไทยส่งออกข้าวได้มากมาย

เราจะเห็นได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงทำหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินอย่างแท้จริง เพราะทรงเป็นเจ้าของที่ดินทุกตารางนิ้วบนราชอาณาจักรและมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งคือการให้ราษฎรถือครองที่ดินได้ โดยการออกโฉนดที่ดิน พระพุทธเจ้าหลวงต้องทรงคิดวิเคราะห์วางแผนในการทรงงานอย่างรอบคอบรัดกุมยิ่ง นับว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นแบบอย่างสำหรับวิชาการจัดการสมัยใหม่ (Modern Management) เป็นอย่างยิ่ง โปรดอ่านรายละเอียดได้จากบทความ การปฏิรูปที่ดินและการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนถือครองในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง https://mgronline.com/daily/detail/9650000060731

โฉนดที่ดินฉบับแรกของไทยที่บางปะอิน อยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มา: สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)
สิ่งที่สำคัญคือการเวนคืนที่ดินที่ประชาชนถือครองแล้วนั้นต้องทำโดยกฎหมายและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา ๓๗ ที่บัญญัติไว้ว่า

บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก

ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม ภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน รวมทั้งประโยชน์ที่ผู้ถูกเวนคืนอาจได้รับจากการเวนคืนนั้น

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้กระทำเพียงเท่าที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการที่บัญญัติไว้ในวรรคสาม เว้นแต่เป็นการเวนคืนเพื่อนำอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้ประโยชน์เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือมีอสังหาริมทรัพย์เหลือจากการใช้ประโยชน์ และเจ้าของเดิมหรือทายาทประสงค์จะได้คืน ให้คืนแก่เจ้าของเดิมหรือทายาท

ระยะเวลาการขอคืนและการคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนที่มิได้ใช้ประโยชน์ หรือที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาท และการเรียกคืนค่าทดแทนที่ชดใช้ไป ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

การตรากฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยระบุเจาะจงอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามความจำเป็น มิให้ถือว่าเป็นการขัดต่อมาตรา ๒๖ วรรคสอง

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 37 วรรคสาม ให้หน่วยงานของรัฐต้องตรากฎหมาย เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น และกฎหมายที่เวนคืนที่ดินทุกฉบับต้องกระทำในพระบรมราชโองการ เพราะเป็นโบราณราชประเพณีแต่โบราณว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเจ้าของที่ดินทุกตารางนิ้วในพระราชอาณาจักร การเวนคืนที่ดินโดยทางราชการ เป็นการเวนคืนสู่เจ้าของที่ดินเดิมคือพระมหากษัตริย์ เพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น จึงต้องมีพระบรมราชโองการ

การที่ในปัจจุบันการเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยหน่วยงานของรัฐต้องตรากฎหมายโดยเป็นพระบรมราชโองการและมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงเป็นการยืนยันหลักการสำคัญว่าพระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็น พระเจ้าแผ่นดิน อย่างแท้จริง

ตัวอย่างการตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างรถไฟฟ้า พระมหากษัตริย์ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินต้องมีพระบรมราชโองการ