xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๗ : การปฏิรูปที่ดินและการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนถือครองในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


คำว่าพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมหมายถึงเจ้าของแผ่นดิน ที่ดินทุกตารางนิ้วย่อมเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น นี่คือข้อเท็จจริงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่บ้านเมืองยังมีที่รกร้างว่างเปล่าให้หักร้างถางพงสร้างบ้านแปงเมืองได้โดยการจับจองหรือครอบครองปรปักษ์ ด้วยสมัยโบราณที่ดินไม่ใช่ปัจจัยการผลิตที่สำคัญเท่ากับแรงงาน มีที่รกร้างว่างเปล่ามากมายให้จับจอง และบุกเบิกเพื่อทำไร่ไถนา

แต่พระเจ้าแผ่นดินไทยก็มิได้เป็น Feudal Lord ที่โหดร้ายอย่างในยุโรป ตัวอย่างง่ายสุดคือการที่รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจะทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งกรุงธนบุรีมายังฝั่งกรุงเทพในปัจจุบัน ชัยภูมิที่ตั้งพระบรมมหาราชวังนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนจีนจำนวนมาก ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานที่ดินบริเวณสำเพ็งให้ชาวจีนเหล่านี้อพยพไปอยู่บริเวณดังกล่าว ก่อนที่จะสร้างพระบรมมหาราชวังที่เราเห็นและภาคภูมิใจมาจนทุกวันนี้

แต่การที่ประชาชนจะสะสมทรัพย์สินและความมั่งคั่งได้นั้นต้องมีการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระทัยกว้างขวางต้องการให้ราษฎรถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ การจะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ก็ต้องมีการสำรวจรังวัดและการทำแผนที่เสียก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาสองคน คนหนึ่งให้มาเป็นอธิบดีกรมที่ดินคนแรกชื่อนายดับบลิว เอ เกรแฮม ส่วนอีกคนให้เป็นเจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกชื่อนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ คำว่าอาลาบาสเตอร์เป็นชื่อหินอ่อนสีขาว และท่านนี้คือต้นตระกูลเศวตศิลา เป็นปู่ของฯพณฯ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา องคมนตรีในรัชกาลที่ ๙

วิทยาการสมัยใหม่ในการรังวัดที่ดินและการทำแผนที่ทำให้ประเทศไทยสามารถออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้

ตรากรมที่ดิน รูปกลมลายกลางเบื้องบนเป็นรูปราชสีห์ยืนอยู่บนลายกนก ประกอบด้วยรูปพิทยาธรดำเนินมือขวาถือดอกบัว มือซ้ายถือพระขรรค์ กับมีรูปมนุษย์มือซ้ายถือเส้นกระแสหันหน้าเข้าหากันอยู่เบื้องล่างมีเครือเถาเป็นลายล้อม รูปราชสีห์เป็นเครื่องหมายกระทรวงมหาดไทยมีความหมายว่ากรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่สังกัด อยู่ในกระทรวงมหาดไทย รูปพิทยาธรดำเนินมือซ้ายถือพระขรรค์มือขวาถือดอกบัวมีความหมายไปในทางจัดสรรที่ดิน รูปมนุษย์มือซ้ายถือเส้นกระแสหันหน้าเข้าหากันมีความหมายไปในทางจดทะเบียนสำหรับทำนิติกรรมสัญญา

ตรากรมแผนที่ทหารเป็นตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเกิดจากการผูกลายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้ามีชื่อกรมแผนที่ทหารล้อมรอบตราอาร์มแผ่นดินทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

 (ซ้าย) อธิบดีกรมที่ดินคนแรก นายดับลิว เอ เกรแฮม (ขวา) เจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรก นาย Henry Alabaster

(ซ้าย) ตรากรมที่ดิน (ขวา) ตรากรมแผนที่ทหาร
ทั้งนี้โฉนดที่ดินหมายเลข ๑ ของประเทศไทย ออกเมื่อ ๑ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (หลังวิกฤติ ร.ศ.๑๑๒ ราว ๘ ปี) เนื้อที่ ๙๑-๑-๕๒ ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านวัดยม ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง (บางปะอิน) แขวงเมืองกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ส.ป.ก. ได้รับโอนมาจากกระทรวงการคลังเพื่อการปฏิรูปที่ดิน เมื่อปี ๒๕๓๓ เป็นที่ดินแปลงหนึ่งในจำนวน ๔๔,๓๖๙-๐-๘๗ ไร่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ ส.ป.ก. เพื่อการปฏิรูปที่ดิน ปัจจุบันได้จัดให้เกษตรกรเช่าทำประโยชน์ รวม ๑๖ แปลง มีผู้เช่า ๑๐ ราย อัตราค่าเช่าไร่ละ ๓๒ บาทต่อปี อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา



ที่มา: สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เราจะเห็นได้ว่าที่ดินแปลงแรกที่มีโฉนดของประเทศไทยเป็นที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ออกโฉนดในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้นำที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เหล่านี้มาให้สปก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดสรรให้เกษตรกรเช่าในราคาที่ถูกมากเพื่อเป็นการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรให้ประชาชนมีที่ทำกิน

คำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงมีที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มากพอสมควร แม้จะไม่อาจเทียบได้เลยกับเจ้าสัว 20 รายแรกของประเทศไทยที่ถือครองที่ดินกว่าร้อยละ 80 ของประเทศไทยได้เลยก็ตาม

ประเด็นนี้นางสาวชลลดา วัฒนศิริ อักษรศาสตร์มหาบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยทำวิทยานิพนธ์ในปี 2529 ในหัวข้อพระคลังข้างที่กับการลงทุนธุรกิจในประเทศ พ.ศ.2433-พ.ศ.2475 เอาไว้ว่า พระคลังข้างที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังแยกทรัพย์สินแผ่นดินไปอยู่ที่กระทรวงคลังแล้ว ส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การดูแลของพระคลังข้างที่อยู่ที่กระทรวงวัง พระคลังข้างที่จะได้รายได้เป็นรายปีจากกระทรวงคลังเป็นจำนวนหนึ่งที่ไม่มากนัก ทำให้ต้องมีการปฏิรูปการบริหารพระราชทรัพย์คือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เพียงพองอกเงยสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์

พระคลังข้างที่จึงได้เริ่มลงทุนด้วยวิธีการหลากหลายวิธี วิธีการหนึ่งที่พระคลังข้างที่ลงทุนมากที่สุดคือการออกพระราชทรัพย์ให้กู้ยืมโดยการรับจำนองทรัพย์สิน ซึ่งแน่นอนว่ามีลูกหนี้หลายรายที่ไม่สามารถชำระเงินกู้ยืมได้ รองลงมาเป็นการหาผลประโยชน์จากค่าเช่าที่ดิน ที่นา ตลาด และตึกแถว พระคลังข้างที่ได้สร้างตลาดและตึกแถวให้คนเช่าเป็นจำนวนมากมาย ด้วยเหตุนี้พระคลังข้างที่หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันจึงมีที่ดินในมือที่ถือครองในนามที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อยู่เป็นจำนวนพอสมควรในปัจจุบัน และเมื่อเวลาผ่านไปนับร้อยปี ที่ดินเหล่านั้นได้กลายเป็นที่ดินทำเลทองมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาลโดยเฉพาะมูลค่าที่ดินที่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพระคลังข้างที่จึงทำหน้าที่คล้ายๆ กับสถาบันการเงินรายใหญ่ของประเทศที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กัน

พระราชวิสัยทัศน์ที่ทรงนำวิทยาการสมัยใหม่ (วิชาช่างรังวัดสำรวจและทำแผนที่) มาในประเทศไทยและทำให้คนไทยสามารถถือครองทรัพย์สินคือที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเองได้นั้น ตลอดจนบทบาทของพระคลังข้างที่ที่ช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการกู้ยืม ซื้อขาย แลกเปลี่ยนที่ดิน ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญอีกสองประการที่ส่งผลต่อการถือครองที่ดินของคนไทยเป็นอย่างมากคือ หนึ่ง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเปรมประชากร ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2413 ความยาวกว่า 50 กิโลเมตร เริ่มต้นจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร ไปจนทะลุตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันอยู่ในตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)


ผลของการขุดคลองเปรมประชากรนั้นทำให้กรุงเทพขยายเมืองไปทางทิศเหนือ ขนานไปกับแนวคลองเปรมประชากร และถนนพระรามห้า ทำให้เกิดการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลโดยประชาชน เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและความเจริญของบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์

สอง การปฏิรูป/การพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ห้า คือการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์โดย บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจำกัด โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค) และนายโยคิม แกรซี (Joachim Grassi) เป็นผู้ร่วมลงทุน คลองรังสิตนี้เชื่อมแม่น้ำนครนายกกับแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ตั้งแต่ จังหวัดปทุมธานี บริเวณอำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา, จังหวัดนครนายก ในเขตอำเภอองครักษ์, กรุงเทพมหานคร บริเวณเขตหนองจอกและเขตบางเขน, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อำเภอวังน้อย และจังหวัดสระบุรี ที่อำเภอหนองแค ประกอบด้วยคลองย่อยและคลองซอยจำนวน ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกข้าว การจับจองที่ดิน การถือครองกรรมสิทธิ์ที่นาอีกเป็นจำนวนมาก และมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศไทยในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง

โดยสรุปการปฏิรูปที่ดินและการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนถือครองในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตและประชาชนสะสมทรัพย์สินความมั่งคั่งได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามพระคลังข้างที่ได้เข้ามามีบทบาทในรัชสมัยดังกล่าวในฐานะที่เกือบจะเป็นสถาบันการเงินให้กู้ยืมโดยการจำนองทรัพย์สินซึ่งส่งผลให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีที่ดินถือครองในปัจจุบันมากพอสมควร


กำลังโหลดความคิดเห็น