xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้ง สว. ด้วยวิธีการที่เลวที่สุดคือการฮั้วและการจับฉลาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเฝ้าสังเกตกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ด้วยความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง

หนักกว่าการเลือกตั้ง สว. ในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด ที่ได้สภาผัวเมีย แต่เที่ยวนี้จะได้สภาฮั้ว หรือ สภา block vote

วิธีฮั้วหรือ block vote นี้เห็นได้ชัดว่าพวก NGO เคยทำมาก่อน เช่น การ block vote จาก NGO บ้านเลขที่เดียวกันจากสมุทรสาคร พื้นที่ของบางคนติดกันเป็นแพ โดยเป็น อสม. ทั้งหมดเพื่อไปเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและบอร์ดควบคุม โปรดอ่านได้จากบทความ ขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุขตรวจสอบด่วน! เกี่ยวกับกระบวนการสรรหากรรมการบอร์ด สปสช. และกรรมการควบคุม https://mgronline.com/daily/detail/9580000126405 เขียนโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และบทความ ที่เขียนโดยผู้เขียนเอง นายหน้าค้าความจนและความตาย: ผลักดันกฎหมาย ร่างกฎหมาย ใช้อำนาจรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อประชาชน? https://mgronline.com/daily/detail/9600000006118

การเลือกตั้ง สว. 2567 ในคราวนี้ มีไอ้ตี๋คนหนึ่ง พยายามผลักดันให้มวลชนของตนสมัครไปเป็น สว. กันมากๆ แต่ไม่ได้สมัครเพราะอยากเป็นสว. แต่สมัครเพราะต้องการเข้าไปเลือก คนที่ลงสมัครที่ตกลงฮั้วกันไปก่อน เพื่อล็อคเป้าให้คนที่พรรคการเมืองของตนเองส่งเข้าชิงได้ชนะ มีการให้เงินค่าสมัครสว. ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 2,500 บาท ออกเงินให้มากกว่านั้นเพื่อจูงใจ

วิธีการเลือกตั้งแบบนี้เลวร้าย ไม่ใช่ได้สภาผัวเมีย แต่ได้สภาฮั้ว ล็อคเป้ากำหนดคนไว้ก่อนเลือกตั้ง เป็นระบบการจัดตั้งในการเลือกตั้งอันเลวร้ายที่สุด

ปกติการเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่วิธีการตัดสินใจของกลุ่ม (Group decision making) ที่ดีที่สุดอยู่แล้ว โดยมากมักได้ผลที่เรียกว่าประชาธิปไตยไร้ปัญญา หรือพวกมากลากไป แต่หากมีการฮั้วหรือ block vote นั้นก็เท่ากับโกงการเลือกตั้ง สว. กันอย่างไม่อายฟ้าอายดิน แล้วอนาคตของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร

ในการเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ มีการเลือกตั้งเป็นหลายๆ รอบ ที่ผมในฐานะนักสถิติศาสตร์เองกลับไม่เห็นด้วยคือการใช้วิธีการจับฉลาก หากในแต่ละรอบมีผู้ผ่านการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเท่ากัน

ในการเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่มากนัก เช่นการเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้ ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปเลือกตั้งได้โดยตรง แต่ต้องเป็นผู้ที่เสียเงิน 2,500 บาทสมัครเข้าไปเลือกกันเองเป็นรอบๆ ในแต่ละพื้นที่หรือวงวิชาชีพเล็กๆ มีโอกาสสูงมากที่ผู้ผ่านการคัดเลือกในลำดับท้ายๆ จะได้คะแนนเท่ากัน

การได้คะแนนเท่ากันในลำดับท้ายๆ ที่ทางสถิติศาสตร์เรียกว่า Tied rank หรือการได้ลำดับเท่าๆ กัน

ทางแก้ปัญหาลำดับที่เท่ากันหรือ Tied rank ในทางสถิติศาสตร์นั้นทำได้หลายทาง

ทางแก้ปัญหาวิธีที่หนึ่งคือ จัดลำดับให้เท่ากัน ดังตารางด้านล่าง ในการเลือกตั้ง สว. รอบอำเภอ สมมุติว่าผลการเลือกตั้งเป็นดังที่เห็น และต้องการคัดเลือกผู้สมัคร สว. เพียงสามลำดับแรก ปรากฎว่ามีผู้ได้คะแนนลำดับที่สามเท่ากันสามคนคือ นายไทย รักชาติ นายภักดี จงรัก นายประชาธิปไตย ร่านแตก ต่างได้คะแนนเท่ากันคือ 13 คะแนน หากเป็นไปอย่างยุติธรรมจริงต้องให้ลำดับที่เท่ากันคือ 3. ถึงสามคน และผ่านเข้าไปรอบถัดไปทั้งสามคน ส่วนนายสมชาย หนองโด่งจะได้ลำดับที่ 6 แทน


การจัดการลำดับที่เท่ากัน (Tied rank) วิธีการนี้มีความยุติธรรมและเคารพคะแนนเสียงของประชาชนมากกว่า

ทางแก้ปัญหาลำดับที่เท่ากัน (Tied rank) วิธีที่สอง คือใช้การจับฉลาก เลือกคนใดคนหนึ่งในสามคนให้ได้ลำดับที่สามเพียงคนเดียว เพื่อผ่านเข้าไปคัดเลือกสว. รอบจังหวัด เช่น จับฉลากระหว่าง นายไทย รักชาติ นายภักดี จงรัก นายประชาธิปไตย ร่านแตก ซึ่งจะได้คนใดๆ คนหนึ่งเข้าไปเท่านั้น เป็นการตัดโอกาสอีกสองคนออกไป จริงอยู่การจับฉลาก นั้นอาจจะเป็นการสุ่ม (Sampling) แต่การสุ่มก็หาได้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดไม่

เราจะฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับฉลากอันเป็นการพนันและเป็นการสุ่มเช่นนั้นจริงหรือ?

ประชาธิปไตยไร้ปัญญาก็แล้ว ฮั้วเลือกตั้งก็แล้ว ยังจะเล่นพนันประเทศไทยอย่างนั้นอีกหรือ

ลองอ่านจดหมายทักท้วงของผู้สมัคร สว. หนึ่งคนคืออาจารย์วีระพันธุ์ มาไลยพันธุ์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กันดูนะครับ

ที่ผมเอามาให้อ่าน ไม่ใช่ว่าผมเชียร์อาจารย์ แต่ผมเห็นว่าการใช้การจับฉลากในการเลือกตั้งสว. เป็นวิธีการแก้ปัญหาอันเลวร้าย ฝากอนาคตประเทศไทยไว้กับการพนัน และแม้แต่มุมมองของนักสถิติเองก็คงไม่อาจจะเห็นด้วยกับวิธีการนี้ได้

การเลือกตั้ง สว. ในครั้งนี้ ประชาธิปไตยไร้ปัญญา สภาฮั้ว ฝากอนาคตประเทศไทยไว้กับการพนัน หรือไม่ ก็ขอให้ลองไปคิดกันดูนะครับ








กำลังโหลดความคิดเห็น