xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัยกิน “น้ำมันมะพร้าว” มีโอกาสช่วย “ลดหรือเพิ่ม” ค่าการอักเสบในร่างกายหลังโควิดหรือได้รับวัคซีน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

น้ำมันมะพร้าว ถือเป็นไขมันอิ่มตัว โมเลกุลส่วนใหญ่มีขนาดสั้นกว่าไขมันพืชหรือไขมันสั้นชนิดอื่น สำหรับท่านที่ไม่สะดวกอ่านเนื้อหายาวๆ ด้านล่างต่อไปนี้สรุปให้ได้ความสั้นๆ ว่า

 “น้ำมันมะพร้าวช่วยลดการอักเสบหลอดเลือดหัวใจ และลดค่าการอักเสบในหลอดเลือดหลังติดโควิดด้วย และทำให้มีศักยภาพที่จะวิจัยต่อไปด้วยว่า น้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ด้วยหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเข้าใจเรื่องน้ำมันมะพร้าว อาจจะต้องฝ่าด่านการโจมตีจากแพทย์บางกลุ่มด้วยการนำเสนองานวิจัยที่ “ติดกับดักทางความคิด” ด้วยความเชื่อที่ล้าสมัย ที่ว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้คอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น จึงเป็นอันตรายต่อหลอดเลือด จะยังคงดำเนินต่อไป

ตัวอย่างงานวิจัยที่ติดกับดักทางความคิด ของนักวิจัยชาวศรีลังกาตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับโรคเบาหวานและการเผาผลาญ ชื่อ Diabetes & Metabolic Syndrome เมื่อ ปี พ.ศ. 2564 ได้ทำการวิเคราะห์ผลการตรวจเลือดและโครงสร้างของไขมันจากงานวิจัย และพบว่าแม้การดื่มน้ำมันมะพร้าวจะทำให้  “น้ำตาลสะสมลดลง” ไตรกลีเซอไรด์ไม่เปลี่ยน แต่น้ำมันมะพร้าวทำให้ไขมันโดยรวมสูงขึ้น คือ คอเลสเตอรอลสูงขึ้น HDL สูงขึ้น LDL สูงขึ้น เมื่อเทียบกับน้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดคำฝอย[1]

งานวิจัยจึงสรุปเอาดื้อๆว่า น้ำมันมะพร้าวทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้น จึงย่อมทำให้มีอัตราความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น หรือความเสี่ยงหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น[1]

ตัวอย่างงานวิจัยข้างต้น ไม่ได้มีการพิจารณาหาความจริงว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลทำให้ “การอักเสบของร่างกาย หรือ การอักเสบหลอดเลือด” ลดลงหรือไม่?

งานวิจัยข้างต้นยังไม่ได้พิจารณาด้วยว่า ช่วงเวลาที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นไขมันที่โมเลกุลสั้น เพิ่มการเผาผลาญ ทำให้อิ่มเร็ว จะมีช่วงเวลาเยียวยาตัวเองในเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆ ซึ่งทำให้ไขมันอาจสูงขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง (ด้วยเพราะคอเลสเตอรอลเป็นผนังหุ้มของทุกเซลล์) โดยไม่มีการเพิ่มความดันหรือไม่?

และในระยะยาวที่มีการเยียวยาร่างกายผ่านไปแล้ว ไขมันโดยรวมลดลงหรือไม่ และหลงเหลือไขมันตัวดีที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยที่มีระดับน้ำตาลลดลงหรือไม่?

เพราะผลประโยชน์ของน้ำมันพืชเป็นตัวอย่างที่มีการบิดเบือนงานวิจัยในด้านสุขภาพเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ที่มีผลต่อเกษตรกรรม เมล็ดพันธุ์พืช อุตสาหกรรมอาหาร แม้กระทั่งยารักษาโรค

แม้แต่แพทย์บางคนที่จบจากตะวันตก และเป็นทาสทางความคิดต่อบริษัทยาและอาหารในโลกตะวันตก  “กับดักทางความคิด” ที่ว่า น้ำมันมะพร้าวทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้น ดังนั้นคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นทำให้เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น

  กับดักทางความคิดเหล่านี้ทำให้โลกตะวันตกยังคงขายน้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัวต่อไปได้ (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน) พร้อมๆกับผลประโยชน์ในการขายยาลดคอเลสเตอรอลด้วย เพราะน้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัว (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน) โดยรวมแล้วทำให้คอเลสเตอรอลลดลง แต่หากรับประทานแบบผัดทอดด้วยแล้วกลับทำให้หลอดเลือดอักเสบมากยิ่งขึ้น

แต่ความจริงแล้วคนที่มีคอเลสเตอรอลสูงแล้วมีความเสี่ยงในหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นมีส่วนถูกบางส่วนสำหรับคนอายุกลางคนเท่านั้น

และความจริงคือระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้นไม่ได้มีผลต่อ “ผู้สูงวัย”

ความจริงที่กลับด้านนั้น ด้วยเพราะงานวิจัยจำนวนมากกลับระบุมากขึ้นว่าผู้สูงวัย หากระดับคอเลสเตอรอลต่ำอาจยิ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ตัวอย่างงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริการชื่อ The American Journal of Medicine ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 พบการสำรวจผู้สูงวัยในประเทศอิตาลีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล 81 แห่งจำนวน 6,984 คน เวลาระหว่าง พ.ศ. 2536-2541 พบว่า ผู้สูงวัยที่เข้าโรคพยาบาลที่มีระดับ “คอเลสเตอรอลต่ำ” มีโอกาสเสียชีวิตในโรงพยาบาล “มากกว่า” คนที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง[2]

อีก 10 ปีต่อมา วาสารโรคในผู้สูงวัยอย่าง  Aging and Disease ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2556 เกี่ยวกับระดับคอเลสเตอรอลและโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้สูงวัย[3] โดยได้มีการรวบรวมสถิติการสำรวจจาก 10 ประเทศ คือ จีน[4] สเปน[5] อังกฤษ[6] เม็กซิโก[7] ประเทศไทย[8] และตุรกี[9] อเมริกา[10] บราซิล[11] อิตาลี[12] แอฟริกาใต้[13] พบปรากฏการณ์ที่เหมือนกันว่า ผู้สูงวัยยิ่งอายุมากขึ้นหรือยิ่งใกล้ถึงวัยเสียชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ ระดับของคอเลสเตอรอลลกลับดลงเร็ว และแอลดีแอล (ที่เรียกว่าไขมันตัวเลว) ก็ลดลงเช่นกัน[2]


สอดคล้องกับวารสารทางด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของกลุ่มประเทศสแกนดิเนียเวียน ชื่อ Scandinavian Journal of Primary Health Care เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นการติดตามผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไปจำนวน 700 ราย พบว่าผู้สูงวัยที่มีระดับคลอเลสเตอรอลที่สูงไม่สามารถทำนายว่าผู้สูงวัยจะมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตขึ้นได้[14] ในทางตรงกันข้ามยังพบผลของการเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตในผู้ที่คอเลสเตอรอลต่ำมากกว่า ได้แก่

 กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลสูง 231 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง “น้อยกว่า” กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่า 193 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรประมาณ 57%

 ในช่วงการสำรวจ 6 ปี กลุ่มประชากรผู้สูววัยที่มีคอเลสเตอรอลสูง 231 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะเป็นโรคหัวใจ “น้อยกว่า” กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่า 193 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรประมาณ 41 %

 ในช่วงการสำรวจ 6 ปี กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลสูง 231 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) “น้อยกว่า” กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่า 193 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรประมาณ 55%

 ในช่วงการสำรวจ 6 ปี กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลสูง 231 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง “น้อยกว่า” กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่า 193 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรประมาณ 54%

 ในช่วงการสำรวจ 6 ปี กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลสูง 231 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะเป็นโรคมะเร็ง “น้อยกว่า” กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่า 193 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรประมาณ 50 %

 ในช่วงการสำรวจ 6 ปี กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลสูง 231 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะเป็นโรคสมองเสื่อม “น้อยกว่า” กลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่า 193 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรประมาณ 49%[14]


นอกจากนั้นคณะวิจัยในมหาวิทยาลัยแพทย์และโรงพยาบาลในเซี่ยงไฮ้ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้วิจัยไปในทิศทางเดียวกันโดยอาศัยการวิเคราะห์อภิมาน Meta Anaylys ตีพิมพ์ในวารสาร Clinica Chimica Acta เมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่มีระดับ “คอเลสเตอรอลสูง” โดยเฉพาะ HDL (ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าไขมันตัวดี) อยู่ในระดับสูงกลับมี “อัตราการรอดชีวิตสูงกว่า“ คนที่มีระดับคอเลสเตอรอลต่ำหรือ HDL ต่ำ[15]

วารสารทางการแพทย์ในด้านหัวใจของชาวเอเชีย ชื่อ Heart Asia ซึ่งเป็นเวารสารเครืออังกฤษของ Bmj เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้เคยเผยแพร่ผลงานการวิจัย ”ในประเทศไทย“ พบว่า

ความจริงแล้วระดับคอเลสเตอรอลที่สูงเพิ่มขึ้นที่มีความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น มีความสัมพันธ์เฉพาะกลุ่มอายุ 33-40 ปี เท่านั้น และไม่มีความสัมพันธ์กับคนที่อายุมากกว่านี้ และคอเลสเตอลรอลสูงขึ้นก็ไม่สัมพันธ์กับเรื่องโรคหลอดเลือดสมองในทุกช่วงวัยด้วย[16]

  สัญญาณการเตือนภัยจากระดับคอเลสเตอรอลสูงอย่างเดียวในผู้สูงวัย จึงเป็นเรื่องที่อาจจะ “หลงทาง”!!!?

สอดคล้องกับลักษณะของการแพทย์อายุรเวทอินเดีย และการแพทย์แผนไทย ที่ใช้ระบบธาตุตามพระพุทธศาสนา จึงแบ่งช่วงอายุของระบบธาตุไม่เหมือนกัน และแปลความในดัชนีชี้วัดที่ไม่เหมือนกัน

โดยคนหนุ่มสาวและวัยกลางคนจัดเป็นกลุ่มที่เป็น “มัชฌิมวัย” มีธาตุระบบความร้อนสูงที่มีธาตุไฟโดดเด่น มีอัตราการเผาผลาญสูง ระดับไขมันที่สูงเกินไป อาจสะท้อนความเสียหายในหลอดเลือดมากเกินไป คอเลสเตอรอลจึงย่อมต้องผลิตสูงขึ้นเพื่อเป็นองค์ประกอบในการซ่อมเซลล์ของหลอดเลือดที่เสียหายในวัยนี้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

แต่พออายุมากที่เรียกว่า  “ปัจฉิมวัย” เป็นวัยที่มีธาตุลมเป็นโทษมาก ธาตุไฟหย่อนลง ระบบการเผาผลาญต่ำลง ความสามารถในการซ่อมแซมร่างกายหย่อนลงตามเทโลเมียร์ (หางโครโมโซม)ที่สั้นลง หลอดเลือดย่อมตีบลง สัญญาณระดับคอเลสเตอรอลที่ลดลงของผู้สูงวัย อาจหมายถึงกลไกที่ลดการผลิตไขมันทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงการอุดตันของหลอดเลือด

แม้ระดับไขมันจะถูกแปลความไม่เหมือนกันในวัยที่ต่างกัน แต่ถ้าหลอดเลือดอักเสบ สัญญาณหลอดเลือดอักเสบเบื้องต้นคือ “ความดันโลหิตสูงขึ้น” คือสัญญาณที่ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม

อย่างไรก็ตามสงครามงานวิจัยระหว่างผลประโยชน์ในน้ำมันมะพร้าวของโลกตะวันออก กับน้ำมันไม่อิ่มตัว (ถั่วเหลือง ข้าวโพด ดอกทานตะวัน) ที่มาพร้อมกับการขายยาลดคอเลสเตอรอลของโลกตะวันตก จะยังคงดำเนินต่อสู้ไปอีกหลายสิบปี

ดังตัวอย่างเช่นในขณะที่มีขบวนการงานวิจัยจำนวนมากกำลังโจมตีเรื่องน้ำมันมะพร้าว กับ การซ่อนเงื่อนเรื่องระดับคอเลสเตอรอล แต่วารสาร British Journal of Sports Medicine ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์อังกฤษที่น่าเชื่อถือในเครือข่ายของ The Bmj ได้เผยแพร่สรุปความว่า

“ไขมันอิ่มตัว(เช่น เนย น้ำมันมะพร้าว) ไม่ได้ทำให้หลอดเลือดอุดตัน แต่สาเหตุของการอุดตันที่แท้จริงคือ แป้ง, น้ำตาล และไขมันไม่อิ่มตัวชนิด ไลโนเลอิก ซึ่งเป็นไขมันโอเมก้า 6 ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ หลอดเลือดอักเสบ”[17]

ซึ่งไขมันไม่อิ่มตัวที่มีโอเมก้า 6 สูงนั้น ที่นิยมกันอยู่ทั่วโลก คือกลุ่มพวกไขมันจากน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งน้ำมันเหล่านี้มีคุณสมบัติในการทำให้เลือดแข็งตัวมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการลิ่มเลือดได้ด้วย

แต่น้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัวเหล่านี้ในชีวิตจริงคือการบริโภคผ่านความร้อนในการผัดทอดทั้งสิ้น

 ศาสตราจารย์มาร์ติน กรูทฟีลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต ประเทศอังกฤษได้ทำการทดสอบการทอดมันฝรั่งและปลาด้วยน้ำมันหลากชนิดอย่างละ 1 ลิตร ที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ทำให้พบความจริงว่าการทอดด้วย ไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งได้แก่ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันมะกอก ได้ก่อให้เกิดสารพิษอัลดีไฮด์มากที่สุด 3 อันดับแรก ในขณะที่น้ำมันมะพร้าว และเนยก่อให้เกิดก่อให้เกิดสารพิษอัลดีไฮด์ในระหว่างการทอดน้อยที่สุด[18]

ดังนั้น หากจะมีการผัดทอดแล้ว น้ำมันที่อิ่มตัว ดังเช่น น้ำมันมะพร้าวและเนยย่อมมีความปลอดภัยมากกว่ากลุ่มน้ำมันไม่อิ่มตัว คือ ปลอดภัยกว่าน้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก

ดังนั้น การลดการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจคือลดหรืองดอาหารทอดกรอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัวที่มีไขมันโอเมก้า 6 สูง เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง ฯลฯ

ส่วนเนย น้ำมันมะพร้าว เนย และน้ำมันมะกอก ที่ไม่ผ่านความร้อน ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างไขมันที่ก่อให้เกิดการผลิต HDL หรือไขมันตัวดีในเลือด ซึ่งนักวิจัยจำนวนหนึ่งเชื่อว่าเป็นสัญญาณเพิ่มความปลอดภัยกับหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจในเรื่องการลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ก็คือ การวัดค่าการอักเสบในร่างกาย หรือการหากค่าการอักเสบที่สัมพันธ์เพิ่มความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจ หนึ่งในตัวชี้วัดที่อาจนำมาประกอบการพิจารณาจากการตรวจเลือดได้คือ การหาค่าการอักเสบที่เรียกว่า ซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein) หรือเรียกสั้นๆว่าค่า  “CRP”

 ค่า ซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein) หรือ CRR ค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2473 เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดที่สร้างมาจากตับ พบได้ในเวลาที่เกิดการอักเสบหรือการทำลายของเนื้อเยื่อภายในร่างกายในปัจจุบันมีการวัดแบบความไวสูง หรือที่เรียกว่า hs-CRP(High-sensitivity C-reactive protein) ซึ่งสามารถวัดค่า CRP ได้ต่ำถึง 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่าดังกล่าวนี้มีประโยชน์ในการนำมาใช้ประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจตีบด้วย



 โดยค่า hs-CRP หากต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าไม่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ค่าระหว่าง 1 -3 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระดับปานกลาง มากกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไปถือว่ามีความเสียวโรคหลอดเลือดหัวใจตีบระดับสูง และหากมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไป ถือว่ามีการอักเสบสูงมาก ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากการติดเชื้อหรือเกิดภาวะหัวใจอักเสบเฉียบพลันก็ได้

 งานวิจัยกลุ่มเล็กๆ ในการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่บริโภคเนย น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอก รับประทานวันละ 50 กรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทำให้ได้ทราบความจริงว่า น้ำมันมะพร้าวและเนยนอกจากจะเพิ่ม HDL หรือไขมันตัวดีมากกว่าน้ำมันมะกอกแล้ว ทั้งน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันเนยทำให้ค่า hs-CRP ลดลงด้วย ซึ่งต่างจากน้ำมันมะกอก[19]

ซึ่งหมายความว่าน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันมะกอก อาจช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือด และการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเกิดโรคระบาดโควิด-19 แล้ว ผู้ป่วยจำนวนมากได้ถูกตรวจค่าการอักเสบพบว่าค่า hs-CRP เพิ่มขึ้นเช่นกัน อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการอักเสบของหลอดเลือดและหลอดเลือดหัวใจ ทำให้มีนักวิจัยเริ่มสนใจว่า น้ำมันมะพร้าวอาจจะช่วยลดค่าการอักเสบในหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ก็ดี หรือรวมถึงผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ดี มักจะเกิดปัญหาลิ่มเลือด หรือการอักเสบหลอดเลือดเพิ่มขึ้น

 นักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ ได้ทำการวิจัยในมนุษย์ตีพิมพ์ในวารสารอาหารสุขภาพ ชื่อ Journal of Functional Foods ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2563 พบว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยลดค่า hs-CRP ของผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีนัยสำคัญ[20]

ผลการวิจัยครั้งนั้น ทำให้หัวหน้าคณะวิจัยชุดเดิมได้ทำการวิจัยซ้ำลงในรายละเอียดอีกครั้ง ในวารสารโภชนาการศาสตร์ ชื่อ Journal of Nutritional Science โดยคราวนี้ได้มีการเผยแพร่ออนไลน์โดยมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ มีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ใหญ่ได้รับการยืนยันว่าติดโควิด-19 ที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับน้ำมันมะพร้าวรวม 76 คน ผลปรากฏว่า…

 “กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวไม่มีอาการใดๆ และมีค่าการอักเสบหลอดเลือดหัวใจคือค่า ซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein) กลับมาเป็นปกติในวันที่ 14 นับแต่วันที่ป่วย ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันมะพร้าวมีอาการถึงวันที่ 23 นับแต่ที่พบการติดเชื้อ และมีค่าซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein) กลับมาเป็นปกติในวันที่ 28”[21]

สำหรับประเทศไทยเราได้มีภูมิปัญญาการใช้สมุนไพร คือ  การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งนอกจากจะงานวิจัยที่เผยแพร่ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฉบับเมื่อเดือนมกราคม-เมษายน 2564พบว่าช่วยลดความรุนแรงของโรคทำให้ลดอัตราความเสี่ยงที่ทำให้เชื้อลงปอดถึง 94.3%

คุณสมบัติของฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ราคาถูก หาได้ไม่ยาก และสามารถหายป่วยได้ภายในไม่กี่วันแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดและช่วยละลายลิ่มเลือดด้วยในเวลาเดียวกันอีกด้วย

แต่ปกติแล้วในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแล้ว ช่วงมีไข้จากโควิด-19 หรือแม้แต่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้รับประทานยารสขม เย็น จืด ฝาด และไม่แนะนำอาหารที่เพิ่มธาตุไฟซึ่งรวมถึงการบริโภคน้ำมันด้วย

ดังนั้น การบริโภคฟ้าทะลายโจรจึงน่าจะเหมาะสมดีอยู่แล้วในช่วงการติดโควิด-19 อย่างไรก็ตามฟ้าทะลายโจรก็ไม่เหมาะสำหรับบางคนที่บริโภคมากๆและเป็นเวลานาน ดังนั้นจากบทเรียนในเรื่องน้ำมันมะพร้าว เพื่อลดค่าการอักเสบของหลอดเลือดให้น้อยลง คือการงดหวานและแป้งขัดขาว รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยมากขึ้น งดของผัดทอดกรอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัว

นอกจากนั้น ควรออกกำลังกาย เช่น เดินวันละ 10,000 ก้าว, ออกกำลังกายแบบไอโซเมตริกซ์, และอาบแดดให้มากขึ้น และยังสามารถใช้การต้มใบกัญชา หรือนน้ำมันกัญชงกัญชา เพื่อช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดได้

ส่วนการอักเสบที่ผิดเพี้ยนในลักษณะ “กำเริบ” สามารถใช้ตำรับยาขาวตามศิลาจารึกของวัดโพธิ์ และสำหรับคนที่ท้องผูก พลังชีวิตอ่อนแอลง สามารถใช้ยาออกไปทางสุขุมร้อน เช่น กลุ่มยาลมเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อหายไข้และหยุดรับประทานฟ้าทะลายโจรแล้ว สำหรับคนที่เห็นงานวิจัยดังกล่าวแล้วก็สามารถบริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้เช่นกัน โดยน้ำมันมะพร้าวออกฤทธิ์ไปทางร้อนเพิ่มการทำงานของไทรอยด์

ส่วนเรื่องผลกระทบของวัคซีนโควิด-19 ยังไม่มีงานวิจัยอย่างเป็นระบบ แต่ทิศทางการใช้สมุนไพรดังที่กล่าวข้างต้นน่าจะประยุกต์ใช้ในระหว่างนี้ได้ไปพลางก่อน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[1] Ranil Jayawardena, et al, Effect of coconut oil on cardio-metabolic risk: A systematic review and meta-analysis of interventional studies, Diabetes & Metabolic Syndrome : Clinical Research & Reviews, Volume 14, Issue 6, November–December 2020, Pages 2007-2020
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1871402120303854?via%3Dihub
[2] Graziano Onder, MD, PhD, et al, Serum cholesterol levels and in-hospital mortality in the elderly, The American Journal of Medicine, VOLUME 115, ISSUE 4, SEPTEMBER 2003, P265-271 DOI:https://doi.org/10.1016/S0002-9343(03)00354-1
[3] Félix-Redondo FJ, Grau M, Fernández-Bergés D. , Cholesterol and Cardiovascular Disease in the Elderly. Facts and Gaps. Aging and Disease. 2013;4(3):154-169.
[4] He J, Gu D, Reynolds K, Wu X, Muntner P, Zhao J, et al. Inter ASIA Collaborative Group. Serum total and lipoprotein cholesterol levels and awareness, treatment, and control of hypercholesterolemia in China. Circulation. 2004;110:405–11. [PubMed] [Google Scholar]
[5] Guallar-Castillón P, Gil-Montero M, León-Muñoz LM, Graciani A, Bayán-Bravo A, Taboada JM, et al. Magnitude and management of hypercholesterolemia in the adult population of Spain, 2008–2010: The ENRICA Study. Rev Esp Cardiol. 2012;65:551–8. [PubMed] [Google Scholar]
[6] Primatesta P, Poulter NR. Levels of dyslipidaemia and improvement in its management in England: results from the Health Survey for England 2003. Clin Endocrinol (Oxf) 2006;64:292–8. [PubMed] [Google Scholar]
[7] Aguilar-Salinas CA, Gómez-Pérez FJ, Rull J, Villalpando S, Barquera S, Rojas R. Prevalence of dyslipidemias in the Mexican National Health and Nutrition Survey 2006. Salud Publica Mex. 2010;52:S44–53. [PubMed] [Google Scholar]
[8] Khonputsa P, Veerman JL, Vos T, Aekplakorn W, Bertram M, Abbott-Klafter J, et al. Joint prevalence and control of hypercholesterolemia and hypertension in Thailand: third national health examination survey. Asia Pac J Public Health. 2012;24:185–94. [PubMed] [Google Scholar]
[9] Erem C, Hacihasanoglu A, Deger O, Kocak M, Topbas M. Prevalence of dyslipidemia and associated risk factors among Turkish adults: Trabzon lipid study. Endocrine. 2008;34:36–51. [PubMed] [Google Scholar]
[10] Carroll MD, Lacher DA, Sorlie PD, Cleeman JI, Gordon DJ, Wolz M, et al. Trends in serum lipids and lipoproteins of adults, 1960–2002. JAMA. 2005;294:1773–81. [PubMed] [Google Scholar]
[11] de Souza LJ, Souto Filho JT, de Souza TF, Reis AF, Gicovate Neto C, Bastos DA, et al. Prevalence of dyslipidemia and risk factors in Campos dos Goytacazes, in the Brazilian state of Rio de Janeiro. Arq Bras Cardiol. 2003;81:249–64. [PubMed] [Google Scholar]
[12] Capuano V, Bambacaro A, D’Arminio T, Del Regno B, Dantonio V, Lanzara C. Changes in total serum cholesterol for cardiovascular disease in a Mediterranean area, 1989–1999. Eur J Epidemiol. 2003;18:27–32. [PubMed] [Google Scholar]
[13] Norman R, Bradshaw D, Steyn K, Gaziano T, South African Comparative Risk Assessment Collaborating Group Estimating the burden of disease attributable to high cholesterol in South Africa in 2000. S Afr Med J. 2007;97:708–15. [PubMed] [Google Scholar]
[14] Tuikkala P, Hartikainen S, Korhonen MJ, et al. Serum total cholesterol levels and all-cause mortality in a home-dwelling elderly population: a six-year follow-up. Scandinavian Journal of Primary Health Care. 2010;28(2):121-127. doi:10.3109/02813432.2010.487371.
[15] Pingting Zhou, et al, Prognostic role of serum total cholesterol and high-density lipoprotein cholesterol in cancer survivors: A systematic review and meta-analysis, Clinica Chimica Acta, Volume 477, February 2018, Pages 94-104
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0009898117304825?via%3Dihub
[16] Panrasri Khonputsa, et al, Blood pressure, cholesterol and cardiovascular disease in Thailand, Heart Asia 2010, page 42-46
https://heartasia.bmj.com/content/heartasia/2/1/42.full.pdf
[17] Aseem Malhotra, et al, Saturated fat does not clog the arteries: coronary heart disease is a chronic inflammatory condition, the risk of which can be effectively reduced from healthy lifestyle interventions, Br J Sports Med, August 2017 Vol 51 No 15, page 1111-1112
https://bjsm.bmj.com/content/bjsports/51/15/1111.full.pdf
[18] Robert Mendick, Chief Reporter, Cooking with vegetable oils releases toxic cancer-causing chemicals, say experts, The Telegraph, Health News, 8:13 PM, GMT 07 November 2015.
https://www.telegraph.co.uk/news/health/news/11981884/Cooking-with-vegetable-oils-releases-toxic-cancer-causing-chemicals-say-experts.html
[19] Khaw K-T, Sharp SJ, Finikarides L, et al. Randomised trial of coconut oil, olive oil or butter on blood lipids and other cardiovascular risk factors in healthy men and women. BMJ Open. 2018;8(3):e020167. doi:10.1136/bmjopen-2017-020167.
https://bmjopen.bmj.com/content/bmjopen/8/3/e020167.full.pdf
[20] Imelda Angeles-Agdeppaa, et al., Virgin coconut oil is effective in lowering C-reactive protein levels among suspect and probable cases of COVID-19, Journal of Functional Foods, 2021
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1756464621002061?via%3Dihub
[21] Imelda Angeles-Agdeppaa, et al., Virgin coconut oil (VCO) supplementation relieves symptoms and inflammation among COVID-19 positive adults: a single-blind randomized trial, Journal of Nutritional Science, Published online by Cambridge University Press: 23 January 2024
https://www.cambridge.org/core/journals/journal-of-nutritional-science/article/virgin-coconut-oil-vco-supplementation-relieves-symptoms-and-inflammation-among-covid19-positive-adults-a-singleblind-randomized-trial/C373F447EA944681684220143EBDF0F0

หมายเหตุ : วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดรับสมัครปริญญาตรีและปริญญาโทแล้ว โดยในการศึกษาปริญญาตรี เปิดรับนักศึกษาใหม่ ในหลักสูตร การแพทย์แผนไทยบัณฑิต การแพทย์แผนจีนบัณฑิต และการแพทย์แผนตะวันออก สามารถกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ 200,000 บาทต่อปีรับทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ “รับจำนวนจำกัด” สนใจการศึกษาปริญญาตรีติดต่อรับตรงได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2567 (แต่หากเต็มก่อนจะปิดรับสมัครทันที) ที่วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โทร.0855536533

และเปิดรับนักศึกษาปริญญาโทวิทยาศาตร์มหาบัณฑิต การแพทย์แผนตะวันออก ติดต่อรับตรงได้ที่วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โทร. 0862697521




กำลังโหลดความคิดเห็น