xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ยุทธศาสตร์ยางยั่งยืนประเทศไทย..เรามีต้นทุนและทักษะจากความรู้ของพระราชา!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที


ผลผลิตยางเต็มคุถัง ณ.ศูนย์เรียนรู้ครูสะเอ็ม บุญเสนา จ.สกลนคร
ผมเองบึ่งรถไปงานที่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วยความตั้งใจไปให้เห็นเก็บตา..ยุทธศาสตร์ยางยั่งยืนมันคือแก่นของประเทศไทยที่เราจะอยู่กันรอดในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมของโลก 

ประเทศไทยป้อนวัตถุดิบ Rubber Supply ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกใบนี้มาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 จนถึงวันนี้เรามีพื้นที่ปลูกยาง 21 ล้านไร่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก ผลิตวัตถุดิบมากที่สุดบนโลกใบนี้ 

เมื่อยางบนโลกมีมาก อุตสาหกรรมรถยนต์ Ford , Toyota, Benz, MG หรือBaojun, BYD รถยนต์ไฟฟ้าของจีน อุตสาหกรรมเหล่านี้เขาจะมีความสุขมากหากโลกนี้ปลูกยางพารากันมาก นั่นหมายถึงความมั่นคงของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะได้ต้นทุนยางล้อที่ราคาถูก 

เราเห็นปรากฏการณ์ว่าโลกใบนี้มีต้นยางเพิ่มในไลบีเรีย กินี ในไอวอรี่โคสต์ มีอัตราเร่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตที่น่าห่วงใยแซงขึ้นมาเป็นอันดับสามเหนือกำลังการผลิตยางพาราจากประเทศเวียดนาม และต้นทุนค่าแรงในไอวอรี่โคสต์ต่ำกว่าเราถึงหนึ่งในสาม 

ในทางกลับกันทุกวันนี้รายได้ของชาวสวนยางของผู้ปลูกมีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับอาหารสามมื้อของลูกหลานเยาวชนที่เกิดขึ้นมาในสวนยาง 

ผมสนทนากับลูกสาวของชาวสวนยางพาราในภาคอีสาน เธอเล่าเรื่องเศรษฐศาสตร์พื้นฐานในครอบครัวของเธอ ลูกสาวตัวน้อยของชาวสวนยางอีสานบอกผมว่า

"พ่อหนูมีสวนยางแค่หกไร่ค่ะ พ่อมีลูกสามคน สมาชิกในบ้านมีกันห้าชีวิต รายได้จากยางได้แค่ค่าเล่าเรียนของหนูกับพี่เท่านั้น ส่วนปลาดุกในสวนยางคือค่าอาหารประจำวันที่เลี้ยง5ชีวิต กล้วยที่แม่ปลูกคือค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียนของหนู พ่อเลี้ยงหนอนโปรตีนจากเศษอาหารเพื่อเป็นอาหารให้ไก่และนกกระทาหารายได้ เป็นรายได้เพิ่มคือค่ามือถือของพวกหนูขิงข่าตะไคร้ที่พ่อหนูปลูกคือค่าไฟในบ้าน ไข่ไก่และไข่นกทาคือค่าเล่าเรียนของหนูที่พ่อจะเก็บออมตอนหนูเข้ามหาวิทยาลัย"
 
ผมถามนักสังเกตการณ์นานาชาติที่มาดูงาน ว่าคุณไปมาหลายประเทศในแอฟริกา ในอินโดนีเซีย ศรีลังกา เห็นอะไรบ้างถึงทิศทางสวนยางของประเทศไทย เขาบอกว่าประเทศไทยชาวสวนยางดิ้นรนอย่างมีเป้าหมายและมีสติปัญญา เห็นว่าอย่าได้ให้ความสนใจกับราคายางที่ผันผวนมากนัก แต่สวนยางของไทยกลับมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงในระดับหมู่บ้าน มีพืชหลากหลาย มีพืชอาหาร มีป่ายางที่มีพืชผักผลไม้ ยุโรปที่เขาห่วงโลกร้อน ได้เห็นความจริง ในนโยบายยางยั่งยืนของเกษตรกรเดินกันมาถูกทางและทำต่อไป

แน่นอนว่าการก้าวเดินของเกษตกรชาวสวนยางของไทย ถือเป็นโชคที่แตกต่างจากบราซิล ศรีลังกา อินโดนีเซีย ผมเลยเกทับไปบอกนักสังเกตการณ์ชาวต่างประเทศที่มาร่วมงานในจังหวัดบุรีรัมย์ว่า "ประเทศไทยนั้นเรามีทุนทางปัญญาที่ประเทศของเรามีทักษะในศาสตร์ของพระราชาได้วางไว้ให้ ทำให้ประชาชนตื่นตัวเพื่อสร้างการพึ่งตนเองด้วยการป้องกันความเสี่ยง มิให้ชีวิตทางเศรษฐกิจผูกไว้กับยางเพียงเส้นเดียว ครับ!"

*ขอบคุณภาพจาก Rubber Research Institute of Thailand, RAOT

ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
สถานีโทรทัศน์NEWS1


กำลังโหลดความคิดเห็น