xs
xsm
sm
md
lg

เงินหมื่นดิจิทัลโอกาสที่เลือนราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ใครที่รอเงินหมื่นจากรัฐบาลเศรษฐา ก็คงต้องบอกว่าถึงตอนนี้คงต้องทำใจ ไม่ใช่เพราะมีเสียงคัดค้านออกมาจากอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติหรือนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์นับร้อยคนหรอกแต่รัฐบาลเองกำลังมะงุมมะหงาหราว่าจะทำโครงการนี้ให้เป็นจริงได้อย่างไร

ถึงตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท จะมีบทสรุปอย่างไร เพราะคนในพรรครัฐบาลต่างพูดไปคนละทิศละทาง และดูเหมือนว่าเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเองก็ยังจับต้นชนปลายไม่ได้และชี้แจงไม่ได้เลยว่าจะเอาเงินมาจากไหน

เริ่มตั้งแต่จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้าหลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า มีการกำหนดในการคัดกรองคุณสมบัติประชาชนบางเงื่อนไขที่จัดเป็น “กลุ่มคนรวย” ออกจากการได้รับสิทธิดังกล่าวใน 3 แนวทางคือ

1. ตัดสิทธิที่มีรายได้/เงินเดือนๆ ละ 25,000 บาทหรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 1 แสนบาท (จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคนใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท)

2. ตัดสิทธิผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาทหรือมีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 5 แสนบาท (จะทำให้เหลือผู้ได้รับสิทธิเพียง 49 ล้านคนและใช้งบประมาณเพียง 4.9 แสนล้านบาท)

3. จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 15-16 ล้านคนใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

การแถลงของจุลพันธ์ใน 3 ทางเลือกนั้นเห็นได้ว่ามีความเป็นไปได้ทางเดียวที่รัฐบาลจะหาเงินมาแจกได้คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งใช้งบประมาณเพียง 1.6 แสนล้านบาท เพราะรัฐบาลสามารถเจียดจากงบประมาณปี 2567 ได้ แต่ถ้าแจกเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยในวงเงินดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลหวังไว้ แล้วตอบไม่ได้ว่า ทำไมต้องแจกต่างกับการแจกในยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอนนั้นมีสถานการณ์โควิดและหลายประเทศก็ทำแบบเดียวกัน

การแถลงของจุลพันธ์ถูกตีความว่ารัฐบาลจนตรอกไม่สามารถหาเงิน 5.6 แสนล้านบาทมาแจกได้ มากกว่าบอกว่ารัฐบาลกำลังฟังเสียงท้วงติงของแบงก์ชาติที่เห็นว่าควรแจกเฉพาะกลุ่มเท่าที่จำเป็นที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ ไม่ใช่แจกแบบเหวี่ยงแหตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะไม่ได้มีความต้องการเงินดังกล่าวทุกคน

ผมเองก็เชื่อว่าการที่รัฐบาลไม่สามารถหาเงิน 5.6 แสนล้านมาแจกได้น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงมากกว่า เพราะตอนนี้ที่รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าจะเอาเงินจากไหนนั่นแหละและล่าสุดธนาคารออมสินก็ได้ออกมาแถลงแล้วว่า ไม่สามารถสนับสนุนโครงการนี้ของรัฐบาลได้ หลังจากเคยมีข่าวว่าจะยืมเงินจากธนาคารออมสินบางส่วน

ส่วนการแจกตามฐานเงินเดือนนั้นยากที่จะทำได้ เพราะต่อให้เหลือแจกเฉพาะคนที่มีเงินเดือนๆ ละ 25,000 บาท ก็ยังต้องใช้เงินถึง 4.3 แสนล้านบาท ก็ไม่รู้จะเอาเงินจากไหนเช่นเดียวกัน ไม่รู้ว่าจุลพันธ์จะถูกตำหนิจากการออกมาแถลง 3 แนวทางหรือไม่ เพราะการแถลงครั้งนี้ชัดเจนว่าไม่ถูกใจเศรษฐา

การแถลงของจุลพันธ์ได้รับการปฏิเสธด้วยท่าทีจากเศรษฐาว่ายังไม่ได้มีการตัดสินใจตามข้อเสนอดังกล่าวที่จุลพันธ์แถลงออกมา 3 แนวทาง และยังคงแสดงท่าทีว่าจะทำตามนโยบายที่แถลงไว้ เพราะเศรษฐาพูดเสมอมาว่า นโยบายดังกล่าวต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่การสงเคราะห์

ความวัวจากจุลพันธ์ยังไม่จางหายความควายก็เข้ามาแทรก พิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียอมรับว่าโครงการนี้จำเป็นต้องปรับหลักเกณฑ์โดยเฉพาะคนที่มีรายได้สูงเพราะไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแท้จริง ทั้งนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะกลับไปใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังเนื่องจากมองว่าการพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่ต้องใช้เวลานานและยุ่งยากรวมถึงการใช้จ่ายอาจมีความล่าช้าไปถึงเดือนก.ย. 2567 โดยต้องผ่านการอนุมัติจากสภาฯ

ถ้าเป็นอย่างนั้นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยประกาศว่าจะแจกในเดือนกุมภาพันธ์ก็ต้องเลื่อนออกไป หรือการตั้งเป้าว่าจะแจกในช่วงก่อนสงกรานต์เพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้เงินตามทะเบียนบ้านก็เปลี่ยนเป้าหมายไป ส่วนการหันกลับมาใช้แอปเป๋าตังนั้นก็เป็นไปตามที่คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องสร้างแอปขึ้นมาใหม่ และเป็นการตอบคำถามไปในตัวว่า รัฐบาลจะเลิกใช้บล็อกเชนตามที่คิดกันในตอนแรก ซึ่งมีคำถามเหมือนกันว่าทำไมต้องบล็อกเชน

แต่การพูดของคนระดับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นทีมงานของรัฐบาลก็กลับถูกเศรษฐาปฏิเสธทันทีโดยบอกว่า มีการให้ข้อมูลที่กระจัดกระจายหลายคนต้องขอให้อดใจรอกันนิดนึงเดี๋ยวข้อมูลทั้งหมดจะออกมาในเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนคนรวยได้หรือไม่ได้หรือแบบใดถึงเข้าเกณฑ์คนรวยระยะทางการใช้เงินรวมถึงแหล่งที่มาของงบประมาณจะมีการชี้แจงคนเดียวจะได้ไม่ต้องมีข้อสงสัย

ส่วนจะเริ่มประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ได้เมื่อไหร่นั้นเศรษฐาตอบว่าก็ขอให้รอเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบ และเมื่อได้ข้อสรุปทุกอย่างแล้วจะนั่งหัวโต๊ะแถลงทุกอย่างเองพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การออกมาปฏิเสธพวกเดียวกันอีกครั้งของเศรษฐาเท่ากับยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะทำอย่างไรกับโครงการนี้จะเดินหน้าหรือถอยหลัง จะเอาเงินมาจากไหน จะแจกอย่างไร และจะแจกเมื่อไหร่ ซึ่งสะท้อนว่า ตอนที่คิดนโยบายนี้ออกมานั้นเกิดมาจากจักรวาลที่ว่างเปล่าไม่ได้มีงานวิจัยอะไรรองรับ คิดกันง่ายๆ ว่าเอาเงินมาแจกและกำหนดให้ประชาชนใช้ให้หมดใน 6 เดือน เงินก็จะหมุนเวียนแล้วจีดีพีก็จะเพิ่มขึ้น และถึงตอนนี้ก็ไม่สามารถตอบโต้ที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์นับร้อยคนบอกว่า โครงการนี้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงและได้ไม่คุ้มเสีย

แน่นอนล่ะว่าเศรษฐาเองก็คงอยากจะเดินหน้านโยบายนี้ตามที่หาเสียงเอาไว้ เพราะคนที่ประกาศแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ต้องใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาทคือ เศรษฐาเอง และเมื่อไปไหนชาวบ้านก็ถามว่าจะแจกเงินเมื่อไหร่ ถ้าไม่สามารถแจกเงินได้จริงคนที่จะเสียหายก็คือเศรษฐา และส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยที่เป็นเจ้าแห่งนโยบายประชานิยมมาตั้งแต่ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมาแล้ว หากไม่สามารถทำได้จริงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะลำบาก เพราะประชาชนจะไม่เชื่อถืออีก

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเดินหน้าและทำทุกวิถีทางที่จะไปหาเงินมาให้ได้ 5.6 แสนล้านและทำตามสัญญาโดยไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หากไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้และเกิดความเสียหายต่อประเทศตามมา ผลเสียก็ตกอยู่กับพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเศรษฐาคงจะไม่อยู่แล้ว เพราะทักษิณคงต้องการผลักดันให้อุ๊งอิ๊ง แพทองธารขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้านโยบายนี้ล้มเหลวหนทางของอุ๊งอิ๊งก็ตีบตัน

ก็คงต้องรอดูว่า เศรษฐาจะทำอย่างไรจะหาทางออกอย่างไรที่จะยืนยันทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ให้ได้ แต่ถึงตอนนี้ต้องบอกคนที่รอคอยเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นให้ทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่า โอกาสที่จะเป็นไปได้นั้นเลือนรางเหลือเกิน
 
 ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
 


กำลังโหลดความคิดเห็น