นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 326) คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
การใส่ความ หมายถึง การแสดงข้อความในลักษณะที่เป็นกล่าวอ้างหรือยืนยันข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลที่ถูกหมิ่นประมาท ซึ่งไม่สำคัญว่าจะเป็นความจริงหรือความเท็จ หากเป็นการใส่ความหรือเอาความใดๆ ไปใส่ผู้อื่น โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็ถือเป็นการหมิ่นประมาท เช่น การกล่าวต่อผู้ช่วยสมุห์บัญชีว่า โจทก์ “ยักยอก ตามตัวไม่พบ” (ฎีกาที่ 79/2537) การลงรูปถ่ายผู้เสียหายประกอบข้อความว่า “คนขายชาติ เป็นลมกลางศาล” (ฎีกาที่ 990/2508) กล่าวว่าผู้เสียหายลักทรัพย์ของจำเลย (ฎีกาที่ 2021/2517) กล่าวว่าหญิงมีเพศสัมพันธ์กับชายที่ไม่ใช่สามี (ฎีกาที่ 380/2503) เป็นต้น แต่คำด่าทอดูหมิ่นหรือไม่สุภาพ หรือการกล่าวเรื่องที่เลื่อนลอย ซึ่งไม่มีลักษณะใส่ความใครเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ถือเป็นหมิ่นประมาท เช่น กล่าวว่า “นามสกุลหมาๆ” (ฎีกาที่ 1035/2533) กล่าวว่า เป็นผีปอป เป็นชาติหมา (ฎีกาที่ 256/2509) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดูหมิ่นบุคคลอื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ก็อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 393) ได้ โดยการดูหมิ่นตามความหมายนี้ ต้องมีลักษณะถึงขั้นเป็นการดูถูกเหยียดหยาม การด่าหรือสบประมาท ทำให้อับอายขายหน้า เช่น ด่าว่า “ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์” (ฎีกาที่ 3800/2527) “ไอ้หน้าโง่” (ฎีกาที่ 7572/2542) “อีสัตว์ เดี๋ยวตบเสียนี่” (ฎีกาที่ 2220/2518) เป็นต้น แต่ต้องไม่ใช่แค่การพูดคำหยาบ ประชดประชัน หรือคำขู่ เช่น “กูจะเตะปากมึง” (ฎีกาที่142/2477) ตำรวจพูดกับผู้กระทำผิดกฎจราจรว่า “ขับรถยียวน” (ฎีกาที่ 3176/2516) เป็นต้น
ทั้งนี้ การตีความว่าข้อความใดเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่นั้น ปกติก็ต้องพิจารณาตามความเข้าใจของคนปกติทั่วไป ในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะพิจารณาชี้ขาดเป็นที่ยุติก็ย่อมได้แก่ศาลยุติธรรมนั่นเอง
นอกจากนี้ แม้จะมีการกล่าวข้อความที่อาจมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท แต่การกระทำนั้นจะไม่ถือว่าเป็นความผิดหากเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตในลักษณะต่อไปนี้
(1)เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ในบางกรณี แม้จะเป็นการหมิ่นประมาท แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ดังกล่าวถ้ากรณีเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
สำหรับการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดนั้น เนื่องจากการหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นถือว่าคดีขาดอายุความ ส่วนคดีความผิดดูหมิ่นนั้น แม้จะเป็นความผิดลหุโทษหรือความผิดเล็กๆน้อยๆ มีโทษเบา แต่ก็ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายจึงไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนดังกล่าว แต่ต้องดำเนินคดีภายในกำหนดอายุความสำหรับคดีลหุโทษคือภายใน 1 ปี
หากผู้เสียหายประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้หมิ่นประมาทด้วย ก็อาจเลือกฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาในคดีเดียวหรือฟ้องคดีแพ่งแยกต่างหากก็ได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนแพ่ง ส่วนในกรณีที่ผู้เสียหายให้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องให้ ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเข้าไปในคดีอาญาได้ โดยไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลในส่วนแพ่ง
ปัจจุบัน หากการใส่ความผู้อื่นทางคอมพิวเตอร์ใดมีลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ก็จะไม่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) (ที่แก้ไขเพิ่มเติม) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อีก