xs
xsm
sm
md
lg

ศาลตัดสินว่าการหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 อดีตพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตาม ม.112 หรือไม่ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญานั้นได้บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

การบัญญัติเช่นนี้ทำให้มีการต่อสู้คดีเมื่อหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 อดีตพระมหากษัตริย์ โดยผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าการหมิ่นอดีตองค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ระบุไว้โดยลายลักษณ์อักษรว่าคุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์

และเมื่อไม่นานมานี้ผมได้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 มีการหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็มีการยกประเด็นขึ้นมาต่อสู้ว่ามาตรา 112 มิได้คุ้มครองอดีตพระราชินีแต่ประการใด ซึ่งผมได้ให้ความเห็นโต้แย้งไปว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังทรงเป็นพระบรมราชินีนาถ หรือสมเด็จพระราชินีผู้เคยทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทั้งยังทรงเป็นพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย จึงทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในประวัติศาสตร์ไทย มีสมเด็จพระราชินีที่ต่อมาทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอยู่สองพระองค์คือสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์จึงทรงดำรงพระอิสริยยศทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาตรา 112 จึงต้องคุ้มครองพระองค์ท่านด้วยประการทั้งปวง
ทั้งนี้การตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องพิจารณาร่วมกันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 2 มาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้. ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเอาไว้ว่า มาตรา 5 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” การตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 6 และประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 อันเป็นพระบรมราชโองการที่อธิบายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 6 เอาไว้ดังนี้ว่า

“อนึ่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ดังนั้น พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

อดีตพระมหากษัตริย์ย่อมถือได้ว่าเป็นพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมต้องทรงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา6 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556 โดยมีองค์คณะผู้พิพากษาคือ นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, และนายพศวัจณ์ กนกนาก ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า มาตรา 112 คุ้มครองและหมายรวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนี้

"ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้"

ทั้งนี้ผู้เขียนได้เคยนำเสนอประเด็นดังกล่าวข้างต้นในบทความทำไมการหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเป็นความผิด ป.อาญา มาตรา 112 (โปรดอ่านได้จาก https://mgronline.com/daily/detail/9650000009119)

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ คือในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลชั้นต้นจังหวัดจันทบุรีพิพากษายกฟ้องมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ให้มีความผิดตามมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิพากษาจำคุกสองปี แต่ลดโทษให้เหลือจำคุกหนึ่งปีสี่เดือนและปรับเงิน 26,666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้สองปี ให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติสี่ครั้งในหนึ่งปี

ศาลชั้นต้นจังหวัดจันทบุรีบรรยายคำวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะมิได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ ทั้งไม่ได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ในการตีความทางกฎหมายต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและต้องตีความโดยเคร่งครัด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ย่อมหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ขณะที่กระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ในอดีตที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว มิฉะนั้นก็จะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่ได้
ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยลงข้อความในเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าทฤษฎีดังกล่าวเป็นแนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ด้วยถ้อยคำที่กระทบต่อพระองค์ในลักษณะการละเมิดและหมิ่นประมาท โดยเฉพาะประชาชนยังคงเคารพและสักการะพระองค์อยู่มิเสื่อมคลาย
แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะลงข้อความตามฟ้องในเฟซบุ๊ก การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง (โปรดอ่านได้จาก https://freedom.ilaw.or.th/node/1144)

เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ได้พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า องค์ประกอบ มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงพิพากษาจำคุกหนึ่งปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกแปดเดือน โดยไม่รอการลงโทษ

ทั้งนี้ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้บรรยายไว้ในคำพิพากษาว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยายคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดสมุทรปราการดังกล่าวที่พิพากษาว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่คุ้มครองในหลวงรัชกาลที่ 9 อดีตพระมหากษัตริย์ได้ส่งผลทำให้พสกนิกรผู้จงรักภักดีจำนวนหนึ่งเกิดความกระทบกระเทือนใจเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามพนักงานอัยการได้อุทธรณ์ทั้งสองคดีดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ทั้งสองคดีดังกล่าวดังนี้

สำหรับคดีที่ศาลชั้นต้นจังหวัดจันทบุรีพิพากษาว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่คุ้มครองในหลวงรัชกาลที่ 9 อดีตพระมหากษัตริย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษาแก้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ดังนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังคงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ และก็มิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังคงครองราชย์อยู่ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าแม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจนกระทั่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะ ให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีการ พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ ทางสายพระโลหิตต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือบุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่ กฎหมายมิได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้วก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชอยู่ ที่จำเลยกล่าวพาดพิงพิงทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ด้วยข้อความมิบังควรลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นนั้น ทรงเป็นพระบิดาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่นให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน แม้พระมหากษัตริย์จะสวรรคตไปแล้ว ก็ยังคงมีพิธีวางพวงมาลาในทุกๆ ปี ในวันคล้ายวันสวรรคตของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ มีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ การประกอบพิธีสำคัญ มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไว้บนที่สูงเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่แสดง การหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ด้วยข้อความที่มิบังควรตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”

เช่นเดียวกันกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจังหวัดสมุทรปราการที่พิพากษาว่าการหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 อดีตพระมหากษัตริย์ไม่เป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาในวันที่ 27 เม.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแก้ดังนี้

มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ เมื่อเป็นบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี

รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น การหมิ่นประมาทและดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 9 เป็นบิดาของรัชกาลที่ 10 หากตีความว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้

หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน อันนำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ (โปรดอ่านรายละเอียดได้จาก https://prachatai.com/journal/2023/05/104245)

จากที่ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งสองคดีข้างต้นมาให้พิจารณา เราจะเห็นได้ว่ายังไม่ได้มีความเห็นแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556 ซึ่งพิพากษาว่าการหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์เป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้โดยปกติและธรรมเนียมปฏิบัติ การกลับหรือการแก้แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาต้องอาศัยมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดังนั้นการหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 อดีตพระมหากษัตริย์จึงยังคงเป็นการกระทำที่ขัดกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ ผู้ใดที่หมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังคงได้รับโทษตามกฎหมาย