ประเทศแคนาดากับอินเดียแม้จะอยู่ห่างกันคนละทวีป แต่ถ้าหากผู้นำอยากจะมีเรื่องกันก็ไม่ยาก
และทำท่าจะไปไกลไม่มีใครยอมใครเพราะถือว่าถลำตัวเข้ามาแล้วก็ต้องว่ากันให้ถึงที่สุดเป็นเรื่องศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของประเทศด้วย
เรื่องมีอยู่ว่านายกรัฐมนตรีแคนาดา นายจัสติน ทรูโด ไปพูดในรัฐสภาและกล่าวหาว่ารัฐบาลอินเดียมีส่วนรู้เห็นกับการสังหารนายฮาดิพ ซิงก์ นิชฌา ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดนแคว้นปัญจาบออกจากอินเดีย
นายนิชฌาถูกสังหารในเดือนมิถุนายนในเมืองออนตาริโอ แคนาดาและทางการยังจับกุมตัวผู้ร้ายไม่ได้และข้อกล่าวหาของนายทรูโดก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุน
จากนั้นรัฐบาลแคนาดาได้ขับนักการทูตอินเดียออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบราชการลับ ซึ่งการกระทำของผู้นำแคนาดาทำให้อินเดียเป็นฟืนเป็นไฟ และใช้มาตรการตอบโต้ทันที
ในประเทศแคนาดามีกลุ่มประชากรชาวซิกข์อยู่มากถึง 780,000 คน เท่ากับ 2% ของประชากรแคนาดา และส่วนหนึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองของนายทรูโด ดังนั้นจึงต้องเดือดร้อนแทน
การกล่าวหาของนายทรูโดต่อรัฐสภาแคนาดา ได้รับการชื่นชมจากชุมชนชาวซิกข์ ในแคนาดาว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลอินเดียตอบโต้ว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระและไม่มีหลักฐาน
กลุ่มชาวซิกข์ในแคนาดายังเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบเจ้าหน้าที่นักการทูตและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอินเดียว่ามีบทบาทอย่างไร และสมควรถูกเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่เกิดเหตุซ้ำรอยอีก
แคว้นปัญจาบมีปัญหาตั้งแต่อังกฤษแบ่งแยกให้เกิดอินเดียและปากีสถานในปี 1947 หลังจากที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ แต่แคว้นปัญจาบมีอยู่ทั้งในปากีสถานแต่ส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย
ประชากรชาวปัญจาบหรือชาวซิกข์มีอยู่ทั่วโลกประมาณ 25 ล้านคน มี 500,000 คนอยู่ในสหรัฐฯ และอังกฤษและมี 200,000 คนอยู่ในออสเตรเลีย
ส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาบอินเดียและมีส่วนน้อยอยู่ในปากีสถาน
ในช่วงทศวรรษ 1980 กลุ่มหัวรุนแรงชาวซิกข์เข้ายึดวิหารศักดิ์สิทธิ์ในเมืองอัมริตสาร์ เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบเรียกร้องให้มีการแยกประเทศเป็นคาลิสถาน
แต่ผู้ยึดวิหารทองคำถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,000 ถึง 17,000 รายแต่ก็ยังไม่แน่ชัดถึงจำนวนตัวเลข
อีกไม่นานหลังจากนั้นนางอินทิรา คานธี ถูกสังหารโดยทหารองครักษ์ซึ่งเป็นชาวซิกข์ 2 นาย ทำให้เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงในแคว้นปัญจาบ
ก่อนหน้านั้นอินเดียและปากีสถานก็มีกรณีขัดแย้งกันเรื่องพื้นที่ของแคว้นปัญจาบเช่นกัน แต่เหตุการณ์สงบลงได้หลังจากเกิดสงครามชายแดน
ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ในแคว้นปัญจาบไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มก่อความไม่สงบหัวรุนแรงไม่สามารถเดินตามแผนในแคว้นปัญจาบ จึงต้องเคลื่อนไหวต่างแดนโดยเฉพาะในแคนาดา
แต่วิวาทะกันระหว่างแคนาดากับอินเดียยังไม่มีท่าทีสงบลง เพราะต่างฝ่ายก็มีจุดยืนแข็งกร้าว อินเดียปฏิเสธไม่รับรู้เกี่ยวกับเรื่องการลอบสังหาร
ก่อนหน้านี้มีการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ 1 ราย ในแคนาดาเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้ร้ายได้
ความขัดแย้งระหว่างผู้นำอินเดียและแคนาดายังไม่มีใครอาสาไกล่เกลี่ย ให้เจรจาเพื่อหาทางออกเพราะต่างก็มองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเกี่ยวโยงกับความเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนโดยชาวปัญจาบในแคนาดา
การตอบโต้โดยอินเดียตามมาด้วยการสั่งขับนักการทูตแคนาดา ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองในอินเดียโดยให้เวลา 5 วันสำหรับเตรียมการเดินทางออกนอกประเทศ
หลังจากนั้นสถานทูตแคนาดาในกรุงนิวเดลีแต่ปิดลงและสั่งให้พนักงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นออกจากอาคารเท่ากับว่าจะไม่มีการติดต่อสื่อสารกันระหว่างเจ้าหน้าที่แคนาดาและอินเดีย
สถานการณ์ที่ทำท่าจะลุกลามต่อไปได้สร้างความกังวลต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียซึ่งมีประชากรชาวซิกข์อาศัยอยู่และอาจเกิดเหตุไม่สงบขึ้นได้ถ้ามีการเคลื่อนไหวเป็นวงกว้าง
ผู้นำองค์กรชาวซิกข์โลกได้เรียกร้องให้รัฐบาลนายทรูโดสอบสวนและเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้
รัฐบาลอินเดียก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลแคนาดาไม่กระทำการอันใดเพื่อสกัดความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศ และปล่อยให้มีกิจกรรมเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดนต่อไป
ประเด็นนี้ได้มีการถกกันระหว่างการประชุมจี 20 ในกรุงนิวเดลี โดยผู้นำของทั้งสองประเทศแต่ไม่สามารถหาข้อสรุปเป็นที่พอใจได้
ดังนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวซิกข์นอกประเทศอินเดีย โดยเฉพาะกลุ่มหัวรุนแรงจะยังคงมีต่อไปซึ่งอินเดียคงได้แต่แสดงความกังวลว่าจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในแคว้นปัญจาบซึ่งจะเป็นปัญหาความมั่นคงอีก
อินเดียมีปัญหาเรื่องพรมแดนกับปากีสถานและจีนยังไม่สามารถหาข้อตกลงยุติความขัดแย้งอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะกับปากีสถานซึ่งถือว่าต่างก็เป็นศัตรูกัน