ราคาน้ำมันดีเซลที่นายกฯแพลมว่าจะลดเหลือไม่เกิน30บาท/ลิตรนั้น แต่ไม่พูดถึงการลดราคาเบนซิน เพราะยังต้องการล้วงกระเป๋าคนใช้เบนซินมาอุ้มราคาดีเซล ใช่หรือไม่?!
วันนี้มีการนำเงินกองทุนน้ำมันจากคนใช้เบนซินไปชดเชยราคาดีเซลถึงลิตรละ 7.71 บาทโดยที่ดีเซลราคาหน้าปั๊มอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร ถ้าจะลดลงไม่เกิน 30บาท/ลิตร รัฐบาลก็ต้องลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่เก็บอยู่ 5.99 บาท/ลิตรลงไป หรือเพิ่มการล้วงเงินกองทุนน้ำมันมาช่วยลดราคาดีเซลอีก ใช่หรือไม่?!
การลดราคาดีเซล โดยใช้มาตรการทางภาษีและกองทุนน้ำมัน ย่อมหมายถึงการเล่นมายากล ล้วงเงินคนใช้น้ำมันเบนซินไปชดเชยราคาดีเซลเพิ่มขึ้นอีก ใช่หรือไม่
ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประกาศว่าจะลดราคาเบนซินให้เฉพาะกลุ่มพิเศษที่ต้องใช้เบนซินในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นคำประกาศที่ไร้ความเป็นธรรมโดยสิ้นเชิง หรือไม่?!ประชาชนทั่วไปไม่แฮบปี้แน่นอน คนใช้เบนซินที่เดือดร้อนจากการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลพล.อ ประยุทธ์มานานแล้ว รัฐมนตรีของพรรคที่พล.อประยุทธ์สนับสนุน ก็จะมาทำต่อ คือเอาเปรียบคนใช้เบนซินต่อไปอีก ใช่หรือไม่?! ที่ผ่านมา การลดราคาดีเซลมาจากการล้วงกระเป๋าคนใช้เบนซินมาตลอด ขอถามท่านรัฐมนตรีว่าเป็นความไม่เป็นธรรมเกินสมควรหรือไม่!?
ขอให้รัฐบาลช่วยแสดงความสามารถว่าปรับลดราคาน้ำมันได้ด้วยการลดผลกำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการลงไปด้วย ไม่ใช่ลดราคาโดยล้วงกระเป๋าประชาชนอยู่ฝ่ายเดียว
ราคาเบนซินและดีเซลควรมีช่วงห่างของราคาต่างกันประมาณ 3 บาท/ลิตร แต่น้ำมันเบนซิน 95 ราคาลิตรละ 48.24 บาท ดีเซล ราคาลิตรละ 31.94 บาท ห่างกันถึงลิตรละ 16.30 บาท การมีช่วงห่างมากขนาดนี้ ก็เพื่อถ่างราคาในการรีดเงินคนใช้เบนซินมาชดเชยดีเซล และแบกกำไรเกินควรของผู้ค้าน้ำมัน ทั้งค่าการกลั่น และค่าการผสมเอทานอลและไบโอดีเซลที่มีราคาแพงเวอร์ของโรงกลั่น ใช่หรือไม่
ขอเสนอวิธีแก้ไขเพื่อให้โครงสร้างราคาน้ำมันเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างยั่งยืน
1)ขอให้รัฐบาลกำหนดค่าการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 3บาท/ลิตรเพื่อลดค่าการกลั่นที่สูงเกินสมควรเป็นการลดราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่นให้เหมาะสมกับราคาจริงของตลาดโลกได้ โดยรัฐบาลที่เป็นเจ้าของหุ้นส่วนปตท.เกิน51% ย่อมสามารถกำหนดนโยบายได้ เว้นแต่รัฐบาลจะไม่กล้าทำ
ยกตัวอย่างราคาน้ำมันดิบดูไบ วันที่18/9/66 อยู่ที่ 93.16 $/บาร์เรล เทียบเป็นราคาไทย คือ 21.05 บาท/ลิตร แต่การที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ราคาเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปของสิงคโปร์เป็นราคาอ้างอิง ซึ่งราคาอ้างอิงของเบนซินอยู่ที่ 26.68 บาท/ลิตร แสดงว่ามีค่าการกลั่นของเบนซินสูงถึง 5.63 บาท/ลิตร ส่วนดีเซลราคาอยู่ที่ 29.06 บาท/ลิตร มีค่าการ กลั่นสูงถึง 8.01 บาท/ลิตร (อ้างอิงจากราคาเบนซิน ดีเซลของสิงคโปร์ 15/9/66) ตามปกติค่าการกลั่นบวกกำไร ลิตรละ2 บาท โรงกลั่นก็อยู่ได้แล้ว
ถ้าท่านนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนโยบายกำหนดวิธีคิดราคาเนื้อน้ำมันใหม่ตามราคาน้ำมันดิบ +ค่าการกลั่นโดยให้ค่าการกลั่น+กำไรมากกว่าเดิมที่ 3บาท/ลิตร ราคาเบนซิน และดีเซลหน้าโรงกลั่นจะมีราคา 21.05 + 3 = 24.05 บาท/ลิตร
2)รัฐบาลควรยกเลิกการผสมเอทานอลและไบโอดีเซลในน้ำมันพื้นฐาน เมื่อราคาน้ำมันชีวภาพมีราคาสูงกว่าน้ำมันพื้นฐานมาก เพราะยิ่งผสมยิ่งแพง เป็นภาระต่อประชาชนในสถานการณ์น้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่มีเหตุผลใดๆที่ต้องผสมน้ำมันชีวภาพที่มีราคาแพงให้ผู้ใช้น้ำมันแบกรับภาระเพิ่ม
3)รัฐบาลต้องกำกับให้มีการใช้กองทุนน้ำมันเป็นเงินชดเชยเวลาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นทั้งเบนซินและดีเซลตามที่กฎหมายกองทุนน้ำมันบัญญัติไว้ ไม่ควรเอาเงินสะสมของคนใช้เบนซินไปชดเชยให้เฉพาะน้ำมันดีเซลฝ่ายเดียว
ที่ผ่านมามีการเก็บเงินจากคนใช้เบนซิน95 เข้ากองทุนน้ำมันถึง ลิตรละ 9.38 บาท แก๊สโซฮอล์ 91,95 เก็บลิตรละ 2.80 บาทและอี20 อี85 เก็บลิตรละ 81 สต. ซึ่งเป็นเงินสะสมในกองทุนน้ำมันหลายหมื่นล้านบาทแล้ว แต่เงินดังกล่าวเอาไปชดเชยดีเซลเป็นหลัก ส่วนคนใช้เบนซินไม่มีสิทธิใช้เงินที่ตนเองถูกชักเนื้อไปเก็บสะสมไว้แม้แต่สตางค์แดงเดียว เพื่อมาลดราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นแบบวันเว้นวัน แบบนี้เป็นธรรมต่อคนใช้เบนซินแล้วหรือ!?
การที่รมว.พลังงานบอกว่าจะลดราคาเบนซินให้เฉพาะกลุ่มพิเศษที่ใช้เบนซินเพื่อประกอบอาชีพนั้น จะกล่าวอ้างเช่นนั้นได้หรือ เพราะทุกคนที่ขับรถไปทำงานก็ไปทำมาหากินกันทั้งนั้น มีใครบ้างที่ขับรถเล่นทั้งที่ราคาน้ำมันแพงมหาโหดแบบนี้ การเรียกร้องขอสิทธิใช้เงินที่คนใช้เบนซินเก็บออมไว้ในกองทุนน้ำมัน ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนที่ใช้เบนซิน ใช่หรือไม่ มิใช่เป็นการร้องขอความเมตตาสงสารจากนักการเมืองแต่อย่างใด
4)ในอดีตสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงเกิน112 เหรียญ/บาร์เรล หรือ (25บาท/ลิตร ขึ้นไป) มีการลดเก็บภาษีสรรพสามิตเหลือแค่ครึ่งสตางค์/ลิตร แต่รัฐบาลปัจจุบันยังเก็บภาษีสรรพสามิตของเบนซิน95 สูงสุดที่ 6.50บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์95 ลิตรละ 5.85 บาท/ลิตร และดีเซลลิตรละ 5.99 บาท
ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาเก็บภาษีสรรพสามิตสูงขนาดนั้น ทำให้กรมสรรพสามิตได้รายได้จากภาษีสรรพสามิตปีละมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นภาระของประชาชนเป็นอย่างมาก รัฐบาลของท่านเศรษฐาในฐานะควบรัฐมนตรีการคลังควรพิจารณาลดอัตราภาษีที่เก็บจากคนใช้น้ำมันให้เหลือปีละไม่เกิน70,000 ล้านบาท ก็จะช่วยลดภาระบนหลังอันอ่อนล้าของประชาชนได้มาก
5)รมว.พลังงานควรกำกับคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการบริหารบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ควบคุมค่าการตลาดในราคาที่เหมาะสมตามที่กบง.ประกาศคือเบนซิน 2บาท/ลิตร ดีเซล 1.50 บาท/ลิตร และสั่งการให้บมจ.ปตท.ที่รัฐถือหุ้นเกิน51% ให้ความร่วมมือในการกำหนดค่าการตลาดที่เหมาะสมตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน
6)รมว.พลังงานควรกำกับให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากดีเซล และเบนซินไม่เกิน ลิตรละ 2บาท และเก็บไว้ชดเชยเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงเกินราคาขายปลีกหน้าปั๊มที่รัฐบาลควรกำหนดไว้เช่นกัน เช่นน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซินไม่เกิน 33 บาท/ลิตร
เมื่อกำหนดราคาขายปลีกไว้แล้ว หากราคาตลาดโลกปรับสูงกว่าที่กำหนด รัฐบาลจึงสมควรใช้มาตรการกองทุนน้ำมัน และภาษีมาใช้ในการปรับลดราคาให้ราคาหน้าปั๊มไม่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปจนประชาชนประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต
7)ยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพราะไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว
หากรัฐบาลทำได้เช่นนี้ ประชาชนจะได้ราคาดีเซลที่ 29.55 บาท/ลิตร ดังนี้
-เนื้อดีเซล 24.05บาท/ลิตร
-ค่าการตลาด 1.50 บาท/ลิตร
-ภาษีทุกชนิดรวม 2บาท/ลิตร
-กองทุนน้ำมัน 2บาท/ลิตร
ราคาเบนซินจะได้ราคา 33.05 บาท/ลิตร
-เนื้อเบนซิน 24.05บาท/ลิตร
-ค่าการตลาด 2บาท/ลิตร
-ภาษีรวม 5บาท/ลิตร
-กองทุนน้ำมัน 2บาท/ลิตร
เชื่อว่ารัฐบาลของท่านเศรษฐาจะได้รับความชื่นชมจากประชาชนทั้งประเทศ ยิ่งกว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทอย่างแน่นอน ถ้าท่านมีความจริงใจทำให้ราคาน้ำมันลดราคาลงโดยไม่ใช้มายากลล้วงเงินจากกระเป๋าซ้ายของประชาชน มาโปะกระเป๋าขวาโดยที่ภาษีของรัฐบาล และกำไรเกินควรของผู้ค้าน้ำมันยังอยู่ครบและอู้ฟู่ดังเดิม
รสนา โตสิตระกูล
18 กันยายน 2566
#หยุดล้วงเงินเบนซินอุ้มดีเซล
#หยุดอุ้มกำไรกลุ่มทุน
#ดีเซลไม่เกิน30บาททำได้
#เบนซินไม่เกิน33บาททำได้