xs
xsm
sm
md
lg

กฎแห่งกรรม : กฎแห่งสัจธรรมไม่มีข้อยกเว้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ในขณะที่ผู้คนในสังคมไทยรู้สึกหดหู่ และเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งนี้อนุมานจากข้อเขียนแสดงความคิดเห็นระบายความในใจในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้กระทำผิดและถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก และไม่ยอมรับโทษตามกฎหมาย แต่ได้หนีไปอยู่ต่างประเทศนานนับสิบปี และได้กลับมาโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนให้ความช่วยเหลือไม่ต้องนอนคุก แต่นอนโรงพยาบาลในฐานะคนป่วยแทน

ในทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป บรรดานักโทษและญาติของนักโทษทั้งหลายมองว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องโทษในคดีทุจริต คอร์รัปชันเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านี้ ผู้ที่พอจะมีความรู้และเคารพกฎหมายก็มองว่า กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือนและเลือกปฏิบัติ จึงทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบต่อกระบวนการยุติธรรม แต่คนเหล่านี้ก็ทำได้แค่บ่น และแสดงความในใจเท่านั้น คงจะไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางกฎหมาย ตรงกันข้ามอาจเป็นภัยต่อตนเองด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเห็นว่าทางเดียวที่ช่วยให้คนเหล่านี้ปล่อยวาง และไม่ต้องนั่งวิตกกังวลก็คือ ให้นึกถึงกฎแห่งกรรมตามนัยแห่งคำสอนของศาสนาพุทธ ซึ่งชาวพุทธเชื่อและยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ทั้งนี้เพื่อให้ทำใจและปล่อยวางไม่ต้องโกรธแค้น และกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรมลงโทษผู้กระทำผิด เมื่อถึงเวลาจะดีกว่า

คำว่า กรรม ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาหมายถึงการกระทำโดยมีเจตนาให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง “เจตฺนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเรียกเจตนาว่ากรรม

ดังนั้น เจตนาจึงเป็นตัวกำหนดว่าเป็นกรรมหรือไม่เป็นกรรม และมีวิบากที่ผู้กระทำต้องได้รับ ทั้งในส่วนกรรมดีและกรรมชั่ว

กรรมในทางพุทธแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามเจตนา กล่าวคือ ถ้าเป็นการกระทำด้วยเจตนาดี ก็เป็นกุศลกรรมซึ่งมีผลทำให้ผู้ทำกรรมสุขกาย และสุขใจ และถ้ากระทำด้วยเจตนาไม่ดี ก็เป็นอกุศลกรรมซึ่งมีผลให้ผู้กระทำทุกข์กาย และทุกข์ใจ

ส่วนว่ากรรมใดจะให้ผลก่อนหรือหลังขึ้นอยู่กับชนิดของกรรม ถ้าเป็นกรรมหนักหรือครุกรรม ก็จะไร้ผลก่อนลหุกรรมหรือกรรมเบา มิได้ขึ้นอยู่กับการกระทำก่อนหรือหลัง และนี่เองที่ทำให้ชาวพุทธบางคนสงสัยในกฎแห่งกรรมว่ามีอยู่จริง และให้ผลจริงหรือไม่ จึงเป็นที่มาของคำว่า “คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป”

อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านเป็นชาวพุทธและมีความเชื่อมั่นในสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะต้องยึดคำสอนที่ว่า “ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ” หว่านพืชชนิดใดไว้ต้องได้รับผลของพืชนั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นเอง

อีกประการหนึ่ง ท่านจะต้องเข้าใจว่าผลของกรรม โดยเฉพาะอกุศลกรรมให้ผลในหลายรูปแบบ และทุกรูปแบบล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดทุกข์กาย และทุกข์ใจทั้งผลของกรรมเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำโดยตรงหรือเกิดขึ้นแก่บุคคลอันที่รักของผู้กระทำกรรมก็ได้ แต่เกิดแล้วทำให้ผู้กระทำเกิดความทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ ก็ถือได้ว่า กรรมนั้นให้ผลแล้ว แต่อาจไม่ตรงกับความต้องการของผู้ที่ต้องการเห็น คนทำชั่วทำเลวได้รับผลของกรรมนั้นโดยตรง และรวดเร็วทันใจ ถ้าท่านคิดเช่นนี้คนที่เดือดร้อนคนแรกอาจเป็นท่านนั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง ท่านจะต้องเข้าใจว่าสังคมที่ถูกลัทธิวัตถุนิยมครอบงำ เฉกเช่นสังคมไทยเวลานี้ คนที่ทำไม่ดีและเสียชื่อเสียงสามารถทำให้ตนเองมีชื่อเสียง และกลายเป็นคนดีได้ในสายตาของคนที่ยึดความมั่งคั่งเป็นสรณะ โดยการเติม ง. เข้าไปก็กลายเป็นคนมีชื่อเสียงได้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การใช้เงินเป็นเครื่องมือซื้อการยอมรับจากผู้คนที่เห็นแก่เงินนั่นเอง

ไม่ว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร ถ้าท่านเป็นชาวพุทธจะต้องยึดกฎแห่งกรรม และทำความดีเพื่อให้ตัวเองภูมิใจในความเป็นมนุษย์ ในขณะที่มีชีวิตอยู่และวันใดที่ท่านตายลูกหลานจะได้นำความดีที่ท่านทำเขียนในหนังสืองานศพให้คนอ่าน และอนุโมทนา ใช่ว่าเขียนแล้วคนอ่านเกิดข้อกังขาเคยทำดีตอนไหน เพราะเท่าที่รู้ไม่เคยทำอะไรดีไว้ สุดท้ายขอจบด้วยกลอนบทนี้

คนทำชั่วได้ดี แม้มีอยู่

ก็ใช่ผู้ ที่ควรยึด เป็นแบบอย่าง

คนทำดี ควรเห็นเป็นแนวทาง

อย่าหลงอ้าง เป็นคนดี เพราะมีเงิน



กำลังโหลดความคิดเห็น