"กฎหมายคือ ศีลธรรมที่เขียนเป็นตัวอักษร ส่วนศีลธรรมคือ กฎแห่งสามัญสำนึก" นี่คือคำนิยามของคำว่า กฎหมาย และศีลธรรม ซึ่งผู้นำจีนในปัจจุบันได้นำมากล่าวไว้ในหนังสือ Xi Jinping the Governance of China
โดยนัยแห่งคำนิยามข้างต้น สรุปได้ว่า กฎหมายและศีลธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกจากกันในการนำมาบังคับใช้ไม่ได้ จะแตกต่างกันก็เพียงที่มาและบทลงโทษต่อผู้ล่วงละเมิดเท่านั้น กล่าวคือ ศีลธรรมเกิดจากคำสอนของศาสดาแห่งศาสนานั้น ส่วนกฎหมายเกิดจากฝ่ายปกครองกำหนดขึ้น และมีการลงโทษผู้ล่วงละเมิดโดยอาศัยพยานหลักฐาน แต่ศีลธรรมลงโทษโดยอาศัยการสำนึกผิด และเกิดความละอายต่อผลของการกระทำแล้วเลิกละไม่กระทำผิดซ้ำอีก
ดังนั้น เพียงลำพังกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขได้ เพราะจะต้องไม่ลืมว่า การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ไม่มีคุณธรรม และจริยธรรมแล้วโอกาสที่จะเกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นผู้มีอิทธิพลทางด้านการเงิน และมีอิทธิพลอันเกิดจากมีตำแหน่งหน้าที่ในภาครัฐ ได้ใช้อิทธิพลที่ตนเองมีอยู่เข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็จะทำให้ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้ และได้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายคดีในอดีตที่ผ่านมา และกำลังเกิดขึ้นในกรณีของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้กระทำผิดกฎหมาย และถูกศาลพิพากษาลงโทษรวมกันหลายคดีเป็นเวลา 8 ปี แต่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อรับโทษ โดยการหนีไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลา 10 กว่าปี แล้วกลับมาประเทศไทยและอาศัยช่องว่างของกฎหมายโดยการได้รับความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนบางกลุ่ม ไม่ต้องนอนคุกและยังได้รับความสะดวกสบายในฐานะผู้ป่วย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับผู้กระทำผิดในคดีทุจริตด้วยกันแล้ว พูดได้ว่าไม่เป็นธรมกับนักโทษคนอื่น
อะไรทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความไม่เป็นธรรม?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ถ้าอธิบายโดยใช้คำสอนของศาสนาพุทธเป็นหลัก ก็บอกได้ว่าเกิดจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความลำเอียงหรืออคติ 4 ประการ ข้อใดข้อหนึ่งหรือ 4 ข้อรวมกันดังต่อไปนี้
1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก
2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง
4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
ส่วนว่าความลำเอียงข้อไหนจะเกิดขึ้นในคดีใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
1. จำเลยหรือผู้ต้องหามีอิทธิพลทางด้านการเงินหรืออิทธิพลจากการมีตำแหน่งในภาครัฐ และนำอิทธิพลนั้นเข้าแทรกแซงก็ทำให้การบังคับใช้ถูกบิดเบือน และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้
2. บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมีอคติ กระบวนการยุติธรรมก็ถูกบิดเบือน และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้
ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงสรุปได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายจะต้องใช้คุณธรรม และจริยธรรมกำกับ จึงจะทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความเป็นธรรม และมีความเสมอภาคกับทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังที่เกิดมาแล้วในอดีต และกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจะยังเป็นต่อไปในอนาคต ถ้าอคติยังคงอยู่และเข้าครอบงำในกระบวนการยุติธรรม