xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้และตั๋วเงิน) โดยบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อนุรักษ์ นิยมเวช



นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com


การออกและเสนอขายตราสารหนี้ที่ถือเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์นั้น จะอยู่ภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ตราสารหนี้ที่นิยมออกกันโดยทั่วไปก็ได้แก่ หุ้นกู้ และตั๋วเงิน (ที่ออกเพื่อระดมทุนจากประชาชน ไม่ใช่ตั๋วเงินที่ออกเพื่อชำระหนี้ในทางธุรกิจทั่วๆไป) โดยหลักเกณฑ์การอนุญาตในการออกและเสนอขายตราสารหนี้ดังกล่าว อาจแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 กรณี คือ

1. การเสนอขายในวงจำกัด (Private Placement หรือ PP) ซึ่งได้แก่การเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด ดังนี้

1.1ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจงวงแคบ ซึ่งเป็นการเสนอขายต่อ
1.1.1 ผู้ลงทุนสถาบัน รวมไม่เกิน 10 ราย ในรอบทุกๆ 4 เดือน แต่ทั้งนี้ ตั๋วเงินจะขายได้ไม่เกิน 10 ฉบับ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง โดยผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย กองทุนรวม ฯลฯ ตามที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
1.1.2 เสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ รวมไม่เกิน 10 ราย และมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ตั๋วเงินจะขายได้ไม่เกิน 10 ฉบับ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ผู้ลงทุนรายใหญ่หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษดังกล่าว กล่าวโดยสรุปหมายถึง บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ต่อปีหรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์สุทธิตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือนิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือส่วนของผู้ถือหุ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด แล้วแต่กรณี

1.2ผู้ลงทุนสถาบัน

1.3ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net worth)

1.4ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth)

การเสนอขายตราสารหนี้ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจงวงแคบและผู้ลงทุนสถาบันตามข้อ 1.1 และ 1.2 ข้างต้น จะถือว่าผู้ออกตราสารหนี้ได้รับอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้เป็นการทั่วไป ส่วนกรณีการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นกรณีที่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. โดยผู้ออกตราสารหนี้จะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการออกเสนอขายตามที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด แล้วแต่กรณี

2. การเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering หรือ PO )

การเสนอขายตราสารหนี้ในกรณีนี้เป็นกรณีที่ต้องขออนุญาต และต้องมีการยื่นหนังสือชี้ชวนและแบบ filling ต่อ ก.ล.ต. โดยผู้ออกตราสารหนี้นอกจากจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการออกเสนอขายตามที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ตามเงื่อนไขที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดไว้อย่างละเอียดและเคร่งครัด เช่น กรรมการและผู้บริหารของตนจะต้องอยู่ใน list ของ ก.ล.ต. และไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ ต้องไม่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้หรือเงินกู้ ไม่อยู่ระหว่างค้างส่งงบการเงิน ผู้สอบบัญชีต้องไม่มีการแสดงความเห็นต่องบการเงินว่าไม่ถูกต้องหรืออย่างมีเงื่อนไข ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการถูกห้ามเสนอขายหลักทรัพย์ ฯลฯ

สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ที่มีการเสนอขายเป็นการทั่วไปต่อประชาชนนั้น ควรทำความเข้าใจว่าผู้ถือหุ้นกู้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ซึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในจำนวนที่แน่นอนตามที่ระบุไว้ในหุ้นกู้ แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้ออกหุ้นกู้แต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมในที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือรับเงินปันผล ดังนั้น ก่อนการเลือกลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทใด ผู้ลงทุนควรต้องพิจารณาเครดิตหรือความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทนั้นๆ เป็นสำคัญ ซึ่งอาจพิจารณาเบื้องต้นได้จากรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ (Credit Rating) นั้น ซึ่งปกติแล้วบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้ต่อประชาชน จะต้องดำเนินการจัดให้มีขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. อยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น