xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เธอ​คือเครื่องพิมพ์​เงินสดของหมู่บ้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที



"พี่อร..ป้าสิน" พี่น้องสองแม่ค้าที่ขยัน บ้านของเธออยู่ที่บ้านดอนยูง หมู่ 9 ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย​ จ.กาฬสินธุ์​ 

ผมเองสนใจอาหารของเธอที่วางขายในตลาดใกล้บ้านในตลาดนัดใกล้บ้าน ผมชอบเดินและสนทนากับพี่อร-ป้าสิน เธอหาอาหารของแผ่นดินจากชนบทมีทั้ง "หอยโข่งนา" "จิ้งหรีด" "จิ้งโกร่ง" "ผักหนาม""ผักลืมผัว"" บัวบกนา" "ปูนา" สารพัดอาหารบ้านนอกที่ลูกหลานอีสาน กินแล้วมีแฮงสู้ชีวิต 

อาหารที่เธอนำมาขาย เป็นอาหารที่มนุษย์​ไม่ปลูกไม่ได้เลี้ยงไม่มีในฟาร์ม​ ผู้ผลิตผู้สร้างอาหารที่เธอขายวางขาย คือเทวดาแสงจันทร์​ พระพิรุณ ​และพระอาทิตย์​ 


เธอ​ต้องใช้​ทักษะ​ลูกชาวนาทำให้หอยโข่ง​นา"สดมีชีวิต" "ลูกอึ่ง ลูกฮวก ยังมีลมหายใจอยู่เสมอเวลาวางขาย"

คำถามคือเธอเอาอาหารเหล่านี้มาจากไหน?

เธอบอกผมว่า เธอต้องเดินทางไปกลับจากบ้านดอนยูง อ.กมลาไสย วันเว้นวัน เช่าบ้านในกรุงเทพฯ ​ไว้นอนพัก และต้องกลับไปชนบทในหมู่บ้านขนอาหารที่เทวดาเป็นผู้ผลิตเหล่านี้​ เข้าเมืองหลวงมาขาย


บางครั้งก็ใช้วิธี​โทรสั่งล่วงหน้าบอกตายายในหมู่บ้านว่า ต้อง​การหอยโข่งนา จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง หน้าฝนก็มีลูกอึ่งลูกฮวก คนที่อยู่​ตามชนบทก็ไปหาตามห้วยหนองลำคลอง ไปขุดไปหาตาม​ทุ่งนา ผักก็ไปเก็บตามป่าข้างบ้าน

สิ่งเหล่านี้​เป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงพี่น้องภาคอีสานมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ

มากไปกว่านั้นในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง "เงินสด" ที่ขายได้จากผู้บริโภคลูกหลานแรงงานอีสานในกรุงเทพ​ได้บริโภค เงินเล็กๆ น้อยๆ ที่มีคุณค่าเหล่านี้ก็กระจายไปถึงบ้านดอนยูง ภายในสองวัน


"หอยโข่งนา" "อึ่งฮวก" "ผักหนาม" "ผักเสี้ยน" "ปูนา" จากสินค้าธรรมชาติที่เทวดา​ผลิต ก็แปรเปลี่ยนเป็นเงินสดกระจายไปถึงหมู่บ้าน ให้คนเฒ่า​คนแก่​ในหมู่บ้าน​ได้ซื้อหาอาหารจับจ่ายใช้สอยกันต่อ

นี่คือห่วงโซ่เศรษฐกิจ​ชาวบ้าน​เล็กๆ ของประเทศ​ไทย

ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที









กำลังโหลดความคิดเห็น