ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศเอกวาดอร์ วันที่ 20 เดือนนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่นโยบายใหม่ เน้นการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันและการค้ายาเสพติดหรือไม่ จะเป็นตัววัดความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
การสังหารคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนายเฟอร์นันโด วิลลาวิเซนซิโอ (Fernando Villavicencio) อย่างโหดเหี้ยม ด้วยอาวุธปืนเข้าศีรษะ 3 นัด ทำให้ขาดใจทันที ถือเป็นความอุกอาจของเจ้าพ่อค้ายาเสพติดทั้งที่ติดคุกอยู่
การสังหารวันพุธที่ผ่านมา ได้สร้างช็อกให้ประเทศเอกวาดอร์ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มนอกกฎหมาย แก๊งค้ายาเสพติด การทุจริต ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในย่านเดียวกันที่ประชาชนอยู่ในสภาวะหวาดกลัวกลุ่มค้ายา
เจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งต้องยอมเป็นเครือข่ายเพราะความเหี้ยมโหด ข่มขู่ว่าจะสังหารสมาชิกครอบครัว ทำให้เหมือนอยู่ในสภาพตัวประกัน ด้วยเหตุนี้การปราบปรามจึงไม่ง่าย วิลลาวิเซนซิโอ ได้ประกาศว่าจะขุดรากถอนโคนกลุ่มค้ายา
ด้วยเหตุนี้จึงโดนขู่ฆ่าโดย “ฟิโต” ช่วงหาเสียงได้รับการคุ้มกันแต่ไม่เพียงพอเพราะการลงมือโดยกลุ่มนักฆ่ารับจ้างโดยพ่อค้ายา
เจ้าพ่อยาเสพติด โฮเซ่ อดอลโฟ มาเซียส Jose Adolfo Macias หรือเป็นที่รู้จักในนาม “ฟิโต” “Fito” อยู่ในคุกตั้งแต่ปี 2011 แต่ยังมีอิทธิพลอยู่
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องใช้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจกว่า 4 พันนายคุ้มกันการย้ายตัวเจ้าพ่อยา “ฟิโต” จากคุกนอกเมือง เข้าไปอยู่ในคุกมีความมั่นคงสูง
คุกนี้ La Roca มีนักโทษพิเศษอยู่เพียง 150 คน เท่านั้น และเจ้าพ่อคงถูกเฝ้าดูตลอดเวลาเพื่อป้องกันการวางแผนหลบหนี “ฟิโต” เป็นหัวหน้าแก๊ง Los Choneros ซึ่งวิลลาวิเซนซิโอ อ้างว่าตัวเองถูกขู่ก่อนโดนยิง
เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมทีมสังหารสมาชิกแก๊งได้ 6 คน ส่วนอีกคนเสียชีวิตในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ การเสียชีวิตของเหยื่อทำให้เห็นความรุนแรงของแก๊งค้ายา
ไม่กี่วันก่อนโดนสังหาร วิลลาวิเซนซิโอได้ร้องเรียนอัยการว่ามีกรณีการทุจริตในสัญญาการให้สัมปทานน้ำมันก่อนหน้านี้ ทำให้รัฐเสียหาย 7-9 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ถูกข่มขู่ว่าจะถูกฆ่าและตัวเองก็รู้ว่าเป็นเป้าหมายของการลอบสังหาร
ที่ผ่านมา เขาได้รณรงค์การปราบปรามการทุจริตและการค้ายาเสพติดหลังจากประเทศเผชิญกับความรุนแรงด้านอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน
เอกวาดอร์ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐแทนระบบเงินท้องถิ่นเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนพื้นเมืองหลายกลุ่มซึ่งค่อยๆ ถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิอินคาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภูมิภาคนี้ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16
ประเทศได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1820 ในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศกรันโกลอมเบีย จากนั้นเอกวาดอร์จึงแยกตัวออกมาเป็นรัฐเอกราชใน ค.ศ. 1830 มรดกของจักรวรรดิทั้งสองสะท้อนให้เห็นอยู่ในหมู่ประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์
เอกวาดอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นประชากรเลือดผสมหรือเมสติโซ รองลงมาเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายแอฟริกา ชนพื้นเมือง และยุโรป ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการและภาษาที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้กัน แต่ภาษาพื้นเมือง 13 ภาษา
ด้วยประชากร 17 ล้านคนเอกวาดอร์มีเกาะกาลาปากอสเป็นจุดขายธรรมชาติ มีความสวยงามเพราะมีการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
เอกวาดอร์อยู่ในสภาวะเป็นสมรภูมิของนักค้ายา 2 แก๊งใหญ่จากโคลอมเบียและ เม็กซิโก ในการชิงความเป็นใหญ่ในการคุมเส้นทางการค้ายา เหมือนประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาที่ไม่พ้นจากการค้าโคเคนและยาเสพติดประเภทอื่นๆ
ประธานาธิบดีกิเยร์โม ลาสโซ ได้ประกาศยุบสภาและให้มีเลือกตั้งก่อนครบวาระในปี 2025 ผู้ชนะจะดำรงตำแหน่งในช่วงนี้ และสู้ในศึกเลือกตั้งใหม่หลังจากนั้น
ผู้นำรัฐบาลมีวาระ 4 ปี ประธานาธิบดีลาสโซ ยังมีสิทธิลงแข่งขันได้อีก เพราะอยู่มายังไม่ครบ 1 สมัย แต่เลือกที่จะไม่ลงสู้ศึกอีกครั้ง
ดังนั้น เมื่อตัวเก็งถูกสังหารพรรค Construye ตัดสินใจส่งตัวแทนคือ นายคริสเตียน ซูริตา (Christian Zurita) ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นตัวแทน
ก่อนหน้านี้นางAndrea Gonzalez ซึ่งเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี จะเป็นตัวแทน แต่เกรงว่าจะมีปัญหาทางกฎหมาย เพราะได้ลงทะเบียนชิงในตำแหน่งรอง ดังนั้น พรรคจึงส่งนายซูริตาเป็นคู่ชิงแทน
นางกอนซาเลซ เป็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม การทุจริต คอร์รัปชันเช่นกัน
แม้เจ้าพ่อ “ฟิโต” อยู่ในคุก และต้องอยู่อีกกว่า 20 ปี ยังสามารถบงการการฆ่าได้ ดังนั้น ผู้สมัครคนใหม่ซูริตา รวมทั้งคู่ชิงรองประธานาธิบดี ต้องระวังตัวเช่นกัน
การอยู่ในคุกคุ้มกันสูงสุด ก็ยังไม่แน่ใจว่าเจ้าพ่อจะสามารถสื่อสารกับสมุนได้หรือไม่ การใช้โทรศัพท์มือถือจากในคุกเป็นเรื่องปกติ ถ้ามีเงินหว่านได้มากพอที่จะหาความสุขและความสะดวกได้ ไม่ต่างจากเจ้าพ่อค้ายาคนอื่นๆ
ต้องดูว่าผลการเลือกตั้งวันที่ 20 เดือนนี้เอกวาดอร์จะให้นักหนังสือพิมพ์มาเป็นผู้นำประเทศหรือไม่ หรือจะต้องเสี่ยงกับมือสังหารชุดใหม่