xs
xsm
sm
md
lg

อลงกรณ์ พลบุตร มีจุดยืนที่แท้จริงอย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผมต้องลัดคิวเขียนบทความนี้ก่อนถึงคิวประจำเพราะบอกตรงๆว่าผมรับความเห็นของอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ และเป็นโชคดีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่มีอลงกรณ์เป็นหัวหน้าพรรค เพราะไม่แล้วอลงกรณ์อาจจะพาพรรคประชาธิปัตย์เข้ารกเข้าพงจนลืมว่าอุดมการณ์การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์นั้นคืออะไร

ต้องไม่ลืมว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้นถือเอาวันที่ 6 เมษายน หรือวันจักรีเป็นวันเกิดของพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เรียกได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคอนุรักษนิยมในปีกกษัตริย์นิยมก็ว่าได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่อลงกรณ์ควรจะรู้รากเหง้าและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

การเมืองนั้นมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันหลากหลายทั้งอนุรักษนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ บางพรรคก็ยึดถืออุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งแบบกลางๆ บางพรรคก็สวิงไปทางใดทางหนึ่งแบบสุดขั้ว หรือบางพรรคก็มีอุดมการณ์แบบผสมผสาน นั่นคือพรรคการเมืองไทยก็มีความคิดทางอุดมการณ์ที่หลากหลายตามแนวทางของตัวเองที่ต้องยึดมั่นถือมั่นสมาชิกพรรคนั้นๆก็เช่นเดียวกัน และลงแข่งขันกันตามกติกาในระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศกำหนดไว้

ในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภานั้น นักการเมืองมีความชอบธรรมที่จะไม่ยกมือสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่างกับตัวเอง ไม่มีกติกาที่ไหนเขียนไว้ว่า เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วทุกคนจะต้องยกมือให้กับพรรคที่ประชาชนเลือกมาเป็นอันดับ 1 มาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างที่อลงกรณ์พยายามสร้างตรรกะนี้ขึ้นมา

อลงกรณ์ออกมาเรียกร้องให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียงยกมือให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า ต้องเคารพฉันทมติของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากเพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่อลงกรณ์สังกัดนั้นมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกับพรรคก้าวไกลชนิดที่เรียกกันว่าคนละขั้ว อลงกรณ์ไม่รู้เลยว่าพรรคก้าวไกลนั้นมีจุดมุ่งหมายอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ระบอบการเมืองของไทยนั้นไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีที่คนชนะอันดับ 1 จะต้องได้เป็นรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญไทยนั้นเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า พรรครัฐบาลจะต้องได้รับเสียงข้างมากจากรัฐสภาคือ 376 เสียง แต่อลงกรณ์กลับพูดเหมือนไม่รู้ว่า กติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอย่างไร ถามว่า อลงกรณ์จะให้ละเว้นกติกานี้เช่นนั้นหรือ จะบอกว่าอลงกรณ์ไม่รับรู้มาก่อนว่ามีกติกานี้ก็หาได้ไม่ เพราะในครั้งที่แล้วที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาร่วมบริหารประเทศและอลงกรณ์ได้ตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีก็ได้มาด้วยกติกานี้

อลงกรณ์อาจจะบอกว่า ครั้งที่แล้วพรรคร่วมรัฐบาลที่อลงกรณ์สังกัดสามารถรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกึ่งหนึ่งจึงมีความชอบธรรมที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ว. แล้วทำไมในครั้งนั้นอลงกรณ์ไม่เรียกร้องให้ส.ว.ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคอันดับ 1 ในครั้งนั้นเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผมรู้แหละว่าอลงกรณ์จะอ้างว่าเพราะพรรคเพื่อไทยในครั้งนั้นไม่สามารถรวบรวมเสียงส.ส.เกินครึ่งได้ แต่ถามว่า ถ้าส.ว.ยึดหลักการว่าจะต้องเลือกพรรคอันดับ 1แบบที่อลงกรณ์เรียกร้องอยู่ตอนนี้ คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้นได้ไหม

เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้อลงกรณ์ออกมาเรียกร้องให้ส.ว.ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล โดยอ้างว่า เพราะพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งได้รับเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 พูดง่ายๆว่า อลงกรณ์บอกว่า พรรคก้าวไกลมีความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลเพราะได้รับเลือกจากประชาชนเสียงข้างมาก

อลงกรณ์มองเหมือนกับว่า ส.ว. 250 คนต้องไม่มีความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง ไม่ว่าพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งจะมีอุดมการณ์อย่างไรหรือพาชาติบ้านเมืองไปทางไหน ส.ว.มีหน้าที่ที่จะต้องยกมือให้พรรคฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งโดยไม่มีความบิดพลิ้ว มองเหมือนกับว่า ส.ว.นั้นเป็นเพียงหุ่นยนต์กลไกที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง

อลงกรณ์ไม่คิดบ้างหรือว่า ส.ว.เขาก็รักชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของบ้านเมือง และเขามีสิทธิเลือกในทางที่เห็นว่าแนวทางนั้นจะสามารถปกป้องและรักษาสถาบันหลักของชาติเอาไว้ได้ไม่ใช่หรือ

ถามหน่อยเถอะว่า อลงกรณ์ไม่รู้เลยหรือว่า วันนี้คนกลุ่มหนึ่งมีจุดมุ่งหมายอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อลงกรณ์คิดว่า พวกเขาเพียงแต่ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถดำรงอยู่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างที่พวกเขาพูดจริงๆหรือ หรือรู้หรือไม่ว่าพวกเขาอาจมีจุดมุ่งหมายที่ไปไกลกว่านั้น

อลงกรณ์เชื่อว่า พวกเขาจะแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจริงๆหรือ แล้วอลงกรณ์คิดว่า บทบัญญัติมาตรา 112 ในปัจจุบันนั้นมันไปทำร้ายคนบริสุทธิ์หรือเอาไปกันกลั่นแกล้งกันจริงๆหรือ อลงกรณ์รู้ไหมว่า มวลชนของพวกเขากลุ่มหนึ่งนั้นแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร หรือเห็นการอภิปรายของพวกเขาในสภาอย่างฮึกเหิมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

อลงกรณ์ได้อ่านร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ว่า พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาอย่างไร หรือว่านั่นอลงกรณ์เห็นว่าเป็นอุดมการณ์เดียวที่ตรงกับความมุ่งมาดของตัวเอง แต่ซ่อนไว้ใต้เสื้อคลุมพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจุดยืนที่มั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

อลงกรณ์เห็นการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มหนึ่งที่รู้กันว่า เป็นมวลชนของพรรคก้าวไกลที่ออกมาท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้อย่างไรบ้าง ไม่เห็นหรือว่าพวกเขาให้ท้ายกันอย่างไรต่อการทลายเพดานของสังคมไทยขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วพรรคก้าวไกลนี่แหละใช้ตำแหน่งส.ส.ไปประกันบุคคลเหล่านั้นเมื่อถูกรัฐดำเนินคดี อลงกรณ์คิดว่าพวกเขามีเสรีภาพที่จะกระทำเช่นนั้นหรือ

แน่นอนว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ การเลือกตั้งนั้นมีแพ้มีชนะ แต่นักการเมืองก็ควรจะมีจุดยืนอุดมการณ์ของตัวเอง ไม่ทำตัวเป็นไฝ่ลู่ลมไปในทิศทางอุดมการณ์ที่ตรงกันข้าม ต้องรักษาอุดมการณ์ของตัวเองเอาไว้แล้วเสนอนโยบายที่จะเอาชนะใจประชาชนให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ต้องบอกตรงๆว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองของอลงกรณ์ในวันนี้นั้น มันอดทำให้เคลือบแคลงใจไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วอลงกรณ์มีจุดยืนและอุดมการณ์การเมืองอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น