“ราเมศ” ยัน ปชป.ไม่ฟรีโหวตเลือกนายกฯ อัดอย่าใช้สังคมกดดันต้องเลือก “พิธา” อย่างนั้นจะมีพรรคการเมืองไปทำไม ประชดยุบรวม “ก้าวไกล” ไม่ดีกว่าหรือ? ปชต.ต้องฟังเสียงข้างน้อย
วันนี้ (7 ก.ค.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค. แล้ว การพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะมีการพิจารณาร่วมกันระหว่าง กก.บห. และ ส.ส. 25 คน ว่า จะมีทิศทางในการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร ซึ่งการเลือกนายกฯเปรียบเสมือนการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ฉะนั้น หลักเกณฑ์ วิธีการ ตามข้อบังคับพรรคต้องประชุมร่วมกันเพื่อมีมติออกมา ดังนั้น หลังจากวันที่ 9 ก.ค.ก็จะเกิดความชัดเจน
“ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีฟรีโหวต ต้องเป็นไปตามมติพรรค และเชื่อว่า จะต้องรีบประชุมเพื่อให้ทันตามกำหนดที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะเลือกนายกฯในวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งเราจะต้องมีความชัดเจน เพราะหากไม่ชัดเจน สังคมก็จะตั้งคำถามได้ และปกปิดไม่ได้ เพราะต้องกระทำโดยเปิดเผยในสภา ดังนั้น ทุกการดำเนินการในฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะการเลือกนายกฯที่ต้องเปิดเผย ทุกคำพูดจึงต้องรับผิดชอบ เหนือสิ่งอื่นใดความเป็นพรรคต้องรับผิดชอบ” นายราเมศ กล่าว
เมื่อถามว่า มีกระแสเรียกร้องให้แยกประเด็นการเลือกแคนดิเดดนายกฯ ออกจาก ม.112 นายราเมศ กล่าวว่า เรื่อง ม.112 เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา ตนถามว่า หากทุกคะแนนเสียง หรือว่าเป็นประเพณีปฏิบัติว่าใครจะเป็นนายกฯ ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน ไม่ต้องมีรัฐบาล โดยไม่ต้องมี 8 พรรคแกนนำไปตั้งรัฐบาล แต่รวมทุกพรรคการเมืองเลยที่จะโหวตให้นายพิธา ซึ่งสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาสามารถใช้สิทธิและดุลพินิจของตนเองได้ ซึ่งสมาชิกก็ต้องเก็บ ม.112 มาคิดในการจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ
“แต่หากจะบอกว่า เสียงข้างมากชนะเลือกตั้งแล้ว จะมาบังคับว่าประชาธิปัตย์ต้องเลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ เราจะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม ยุบไปรวมกับพรรคก้าวไกลดีไหมครับ ซึ่งไม่ใช่ ผมถึงบอกว่าประชาธิปไตยต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่ใช่เสียงข้างมากบอกได้มา 14 ล้านเสียงแล้ว พรรคนี้ไม่ยกมือให้เขาเป็นนายกฯ แล้วใช้สังคมประชาชนมากดดันว่าคุณไม่ยกมือให้เขาไม่ได้ ซึ่งสังคมก็เกรียวกราวตอบรับเขาล้นหลามทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีสิทธิคิดหรือว่าเขาจะเลือกใครเป็นนายกฯ เราต้องทำตามกระแสแบบนั้นหรือ ซึ่งมันไม่ใช่ ที่ผมพูดไม่ได้ใช้ความรู้สึกส่วนตัว หรือความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เหมือนสิทธิของประชาชนทั่วไป” นายราเมศ ระบุ