xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” ถอยไม่เข้าชื่อ ส.ว.ยื่นตีความคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ปล่อยสภา ลั่นตัดไฟแต่ต้นลมแก้ 112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.เสรี” ถอย ไม่เข้าชื่อวุฒิฯ ยื่นตีความคุณสมบัติ “แคนดิเดตนายกฯ-พิธา” อ้างไม่ควรทำ บอกมี ส.ส.จ่อเข้าชื่อตรวจสอบ ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของสภา ย้ำ ต้องตัดไฟแต่ต้นลมสกัดแผนแก้ ม.112

วันนี้ (7 ก.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า จากที่ตนระบุถึงการศึกษาในแนวทางการเข้าชื่อ ส.ว. ที่จะยื่นตีความคุณสมบัติของบุคคลที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น ล่าสุด เห็นว่า ไม่ใช่แนวทางและไม่เหมาะสมรวมถึงไม่ควรทำ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทราบว่าจะมี ส.ส.ที่อาจจะเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นคุณสมบัติของนายพิธา ดังนั้น ควรปล่อยให้กระบวนการเป็นเรื่องของสภา ขณะเดียวกัน ทราบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของนายพิธา และเตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้น เชื่อว่า เรื่องดังกล่าวจะมีความชัดเจน ส่วนจะดำเนินการได้ทันก่อนโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่า ในการโหวตเลือกนายกฯ มีผู้เสนอว่าไม่ควรนำประเด็นการแก้ไข ม.112 หรือคุณสมบัตินายพิธามาตั้งแง่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน นายเสรี กล่าวว่า ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ กำหนดหน้าที่ให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบไม่ใช่แค่เลือกหรือไม่เลือก ดังนั้น กรณีจะให้ความเห็นชอบต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ส่วนที่บางฝ่ายอ้างว่า ส.ว.สามารถใช้อำนาจยับยั้งการแก้ไขมาตรา 112 ตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา ตนมองว่า ไม่สามารถรอให้ถึงตอนนั้นได้ เพราะ ส.ว.ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เนื่องจากทราบเจตนาของผู้เสนอแก้ไข ว่าต้องการใช้เป็นเวทีเพื่อเปิดช่องวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูง

เมื่อถามว่า กรณีที่โหวตนายกฯ รอบแรก แต่นายพิธาไม่ได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาจะทำให้เกิดสถานการณ์พลิกขั้วการเมืองหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เกิดได้ทุกอย่าง เพราะขึ้นอยู่ ส.ส.ไปจัดทัพ รวบรวมคะแนน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการพลิกขั้ว หรือเปลี่ยนข้างได้ทั้งสิ้น และตนเชื่อว่าการเมืองหลังจากนั้นจะไม่อ่อนแอ

เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.มีความเห็นว่า ให้ปัดตกชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่โหวตไม่ผ่านในรอบแรก นายเสรี กล่าวว่า ตามกติกาไม่มีสิ่งใดห้าม แต่อยู่ที่ความเหมาะ ความควร หากคนที่รัฐสภาไม่เห็นชอบในรอบแรก จะเสนอกลับมาอีกเพื่ออะไร หากทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดภาพได้ว่า มีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่คะแนนรอบแรกปรากฎชัดเจนอยู่แล้ว หากรอบแรกไม่ได้ รอบต่อไปต้องเปลี่ยนคน

“หากรอบสอง พรรคการเมืองยังเสนอชื่อคนเดิม ส.ว. ไม่จำเป็นต้องประท้วงหรือวอร์คเอ้าท์ แค่นั่งบนเก้าอี้และงดออกเสียง ก็เพียงพอ และมีค่าเท่ากัน” นายเสรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น