xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างของพิธา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



สิ่งที่ด้อมส้มกังวลอยู่ตอนนี้คือ พ่อส้ม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แม้วันนี้พิธาจะแสดงตัวเหมือนกับเขาเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้วผ่านการแสดงออกต่างๆ นานาต่อสาธารณะ ทั้งการเรียกและขอเข้าพบหน่วยงานรัฐเอกชนทั้งการเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนผ่านเข้ารับตำแหน่ง

ทั้งที่ตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงในรัฐสภา 376 เสียง ลำพังพรรคก้าวไกลได้เสียงมาเพียง 151 เสียงเท่านั้นเอง แม้จะรวบรวมเสียงจากพรรคที่ลงสัตยาบันร่วมกันได้เพิ่มมาเป็น 312 เสียงก็ยังห่างไกลความเป็นจริงมาก

นอกจากนั้นยังมีด่านที่พิธาจะต้องผ่านก็คือการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ที่เป็นข้อต้องห้ามของคนที่จะเข้ามาเป็นนักการเมือง รัฐธรรมนูญมาตรา 98 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

ต้องยอมรับว่า พิธานั้นเป็นหนุ่มรูปงาม มีความรู้ดี พูดจาฉะฉาน มีเสน่ห์เป็นที่ดึงดูดต้องตาใจของคนทุกเพศสภาพ ยิ่งเห็นเขาสวมอาภรณ์สีสายรุ้งไปร่วมงานบางกอกไพรด์แล้วต้องบอกว่าเขาสามารถเบี่ยงเบนไปตามเพศสภาพนั้นได้อย่างกลมกลืนลงตัว

ชีวิตครอบครัวของเขาเคยแต่งงานกับดาราสาวจนมีลูกด้วยกัน 1 คน แต่ต่อมาแยกทางกันด้วยเรื่องราวที่ไม่สวยงามนัก นอกจากฟ้องร้องแย่งกันขอปกครองลูกสาวแล้ว ยังมีคดีฟ้องร้องกันทำร้ายร่างกายด้วย ซึ่งต่อมาศาลพิจารณาว่า มีการทำร้ายร่างกายจริงแต่ไม่ถึงขั้นเป็นความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากนั้นอดีตภรรยาเคยเล่าว่า พิธาห้ามคบเพื่อนที่เป็นเกย์ทอม หรือคนที่ลักษณะภายนอกไม่ใช่ผู้หญิง ไปคุยด้วยหรืออะไรด้วยไม่ได้ เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม

ตัดกับภาพจริงที่เราเห็นต่อเขาแสดงต่อสาธารณะในงานบางกอกไพรด์เมื่อเร็วๆ นี้ พิธาบอกว่า

“การที่มาฉลองกันวันนี้ก็คงไม่ใช่แค่เป็นพาเหรดหรือสัญลักษณ์แค่นั้น แต่ว่าเมื่อรัฐบาลตั้งได้เมื่อไรก็ตั้งใจที่จะสนับสนุนเรื่องสมรสเท่าเทียมรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสวัสดิการก็คงจะเป็น 2-3 เรื่องนี้ที่ทำให้การเฉลิมฉลองความหลากหลาย ‘Pride Month’ ให้เป็น ‘Pride Always’ จริงๆ”

“พอถึงตอนนั้นคนก็จะมองประเทศไทยว่าเป็นพื้นที่ที่เปิดเผยได้ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยเป็นพื้นที่อิสระที่จะให้คนเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้วก็ลบข้อครหาต่างๆ ว่าบางคนมีความรักในอาชีพของเขาอยากจะเป็นครูก็เป็นไม่ได้เพราะว่าเพศสภาพที่ไม่ได้รับการยอมรับ บางคนอาจจะวางแผนครอบครัวอยากจะสร้างบ้านก็ทำไม่ได้ บางคนแค่อยากจะวางแผนภาษีซื้อประกันให้คนที่เรารักเมื่อปีที่แล้วก็ทำไม่ได้เหมือนกับคนทั่วไป”

การแสดงออกและคำพูดของเขาต่อเพศสภาพนั้นช่างแตกต่างกับที่เขาปฏิบัติต่ออดีตภรรยาของตัวเอง และเขาเข้าใจผิดอย่างมากว่าคนที่มีเพศสภาพผิดธรรมชาตินั้น ไม่สามารถเป็นครูได้ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย ไม่เชื่อก็ลองถาม ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริดูก็ได้

นอกจากนั้นยังมีเรื่องกัญชาพิธาพูดเมื่อปี 2562 ว่าอันดับแรกเราต้องคิดก่อนว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไปเวลาเราพูดเรื่องนโยบายยาเสพติดกัญชาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรื่องนั้นอีกต่อไปวิธีคิดของผมเกี่ยวกับกัญชาก็คือประเทศไทยจะต้องเป็นเมดิคัลฮับและก็เป็นทัวริซึมฮับเกี่ยวกับกัญชาอันดับ 1 ของเอเชียให้ได้ นั่นคือปลายทางที่เราต้องการแต่ระหว่างหาเสียงพิธาพูดว่าไม่เอากัญชาเสรีไม่เอากัญชาเสรีสุดโต่งเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วควบคุมให้ประโยชน์มากกว่าโทษ

เรื่องต่อมาเรื่องคำพูดของเขาตอนที่ “พ่อตาย” ที่พูดสองครั้งแต่มีความแตกต่างกันมากและต่อมาคนที่อยู่ในเหตุการณ์บอกว่าเป็นเรื่องเท็จ พิธาอ้างว่าถูกควบคุมตัวทำให้ไปงานศพพ่อไม่ทัน ถูกอายัดเงินทำให้ไม่มีเงินจัดงานศพ ตัวเองเป็นคณะทำงานของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาปานปรีย์ พหิทธานุกร ซึ่งร่วมเดินทางในไฟลต์นั้น บอกว่าไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น พิธาเพียงแต่ถูกฝากมาให้โดยสารกลับบ้านไม่ได้เป็นคณะทำงานของสมคิด ไม่มีการถูกทหารควบคุมตัวเมื่อมาถึงและอายัดเงินแต่อย่างใด

สิ่งที่หลายคนกังวลว่าพิธาจะนำพาประเทศไปรอดไหมเพราะไม่เคยมีประวัติการทำงานที่ชัดเจนมาก่อน แต่จริงๆ แล้วเขารับงานเป็นผู้บริหารบริษัทรำข้าวหลังจากพ่อของเขาเสียชีวิต แต่เพิ่งปรากฏออกมาว่า ในช่วงที่เขาบริหารนั้นมีการบริหารการเงินที่น่าเคลือบแคลงใจเพราะมีเงินถูกไซฟ่อนหายไปก่อนจะยื่นขอล้มละลาย

โดย “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า บริษัทได้ให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกันในช่วงที่พิธาเป็นกรรมการบริษัทระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม 2549 ถึง 6 มีนาคม 2560 กว่า 117 ล้านบาทแต่กลับไม่มีการชำระหนี้คืนให้แก่บริษัทแต่อย่างใด

วิบากกรรมสำคัญก็คือการถือครองหุ้นไอทีวีซึ่งเป็นหุ้นสื่อที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) เมื่อเรื่องถูกเปิดเผยออกมา พิธาอ้างว่า เขาถือครองในฐานะผู้จัดการมรดกของพ่อ แต่ความจริงพ่อเขาเสียชีวิตมาแล้วตั้งแต่ปี 2549 และหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นมีระยะเวลากำหนดไว้ แม้อาจอ้างได้ว่าทายาทคนอื่นยินยอมให้ถือไว้ก็เป็นเรื่องผิดวิสัยมาก ยิ่งถ้าไปตรวจสอบพบว่ามีการจัดการมรดกอื่นไปหมดแล้วเหลือแต่หุ้นไอทีวีก็จะเกิดข้อสงสัยว่าทำไมถือครองหุ้นโดยมีชื่อของพิธาคนเดียวมานานถึง 17 ปี แล้วเพิ่งจะมาเล่นคำว่า “ถือครองแทนทายาทอื่น” แล้วโอนไปให้ “ทายาทอื่น” หมดแล้ว เพราะกลัวว่าจะมีคนฟื้นชีพไอทีวีขึ้นมาออกอากาศให้กลายเป็นหุ้นสื่อ เพราะช่วงที่ตัวเองถือครองมานั้นไอทีวีไม่ได้ออกอากาศ

เรื่องหุ้นที่ถือครองอ้างว่า ถือครองแทนทายาทอื่นก็เป็นคำที่เล่นกับเทคนิคทางกฎหมาย อ้างว่าหุ้นนั้นไม่ใช่ของตัวเองแต่ถือแทนทายาทอื่นนั้นเป็นเรื่องตลบตะแลงเพราะหากเป็นมรดกที่ได้จากพ่อหุ้นไอทีวี 48,000 หุ้นนั้นก็มีส่วนหนึ่งของตัวเองในฐานะทายาทด้วยไม่ใช่เป็นของทายาทอื่นทั้งหมด เพราะไม่มีหลักฐานอะไรที่ยืนยันว่าพิธาสละมรดกส่วนนี้

ส่วนการถือหุ้นไอทีวีจะเข้าข่ายความผิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา98(3)หรือไม่ก็คงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน สิ่งที่พิธาและพรรคพวกอ้างกันอยู่ตอนนี้ก็คือ ไอทีวีไม่ได้ออกอากาศมานานแล้วเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี แต่ทางบริษัทไอทีวีก็ยืนยันว่าตัวเองยังประกอบกิจการในฐานะธุรกิจสื่อโทรทัศน์และส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกปี

แต่สิ่งที่ กกต.กำลังดูตอนนี้คือ พิธามีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้งและการยินยอมให้พรรคส่งชื่อตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลลำดับที่ 1 รวมถึงยอมให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่

นี่เป็นตัวตนของคนที่เขียนและปั้นแต่งชีวิตของตัวเองพลิ้วไหวไปตามสถานการณ์ที่เรายากจะจับได้ว่าเรื่องไหนจริงบ้างไม่จริงบ้าง แล้วจะมาเป็นผู้นำพาประเทศของเรา

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น