คาถาบทเดิม! “ปิยบุตร” ยก 2 กลไก นิติสงคราม ถูกนำมาเล่นงาน “พิธา” โทษกฎหมายล้าสมัย ไม่ป้องกันนักการเมือง ชี้นำผ่านการเป็นเจ้าของสื่อได้จริง ด้าน “ดร.ณัฎฐ์” ชี้ชัด “พิธา” โอนหุ้นแค่วิธีการสร้างหลักฐานสู้คดี ความผิดสำเร็จแล้ว
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (6 มิ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า
“[ 2 กลไกลของ “นิติสงคราม” ]
ท่ามกลางความคิดเห็นอันหลากหลายของผู้คนในสังคม การตัดสินใจร่วมกันว่าใครควรเป็นผู้ปกครองประเทศ ใครควรเป็นรัฐบาล จำเป็นต้องใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ
แม้ประเทศไทยของเราจะผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ความไม่แน่นอนชัดเจนก็ยังคงดำรงอยู่
นอกจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญอัปลักษณ์ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนชัดเจนแล้ว ปัจจัยอีกประการหนึ่ง ก็คือ “นิติสงคราม” ที่ยังคงเดินเครื่องอย่างไม่หยุดยั้ง
ปลายปี 2562 ผมได้นำเสนอเรื่อง Lawfare และคิดคำไทยใช้แทนที่ว่า “นิติสงคราม” และเห็นว่า สถานการณ์การเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 ทอดยาวมาจนถึงปัจจุบัน ได้แปรเปลี่ยน “ตุลาการภิวัตน์” ให้เป็น “นิติสงคราม” เต็มรูปแบบแล้ว
“นิติสงคราม” หรือ “Lawfare” เป็นการเล่นกับคำว่า “Warfare” ที่แปลว่า การสงคราม แทนที่จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ก็เปลี่ยนมาใช้ “กฎหมาย” เข้าทำสงครามแทน
ดังนั้น “นิติสงคราม” จึงหมายถึง การกำจัดศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านรัฐหรือรัฐบาลโดยใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ
นิติสงครามดำเนินการผ่านสองกลไกสำคัญ
กลไกแรก กระบวนการทำให้ประเด็นทางการเมืองเป็นคดีและอยู่ในมือศาล หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Judicialization of Politics
อุดมการณ์แบบเสรีประชาธิปไตย เรียกร้องให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีสารพัดศาล สารพัดองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง กำหนดกรอบล้อมคอกนักการเมืองเอาไว้ และมอบอำนาจเด็ดขาดให้กับศาลและองค์กรอิสระทำหน้าที่ประหารนักการเมือง
ทั้งหมดนี้ มาในนามของคำใหญ่ๆ โตๆ ประเภท “การตรวจสอบอำนาจรัฐ”, “ความโปร่งใสตรวจสอบได้”, “ธรรมาภิบาล” “ปฏิรูปการเมือง”, “หลักนิติธรรม”
พร้อมกันนั้น ก็สถาปนาสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับศาลและองค์กรอิสระ ท่องจำกันต่อๆ มา ว่า องค์กรเหล่านี้ “เป็นกลาง อิสระ” หากองค์กรเหล่านี้ตัดสินแล้ว ต้องเป็นที่ยุติ ต้องเคารพ
รัฐธรรมนูญแปลงสภาพเรื่อง “การเมือง” ให้กลายเป็น “ข้อพิพาทคดีความ” ให้หมด
แล้วสร้างศาลและองค์กรอิสระที่ถูกทำให้เชื่อว่า “ศักดิ์สิทธิ์ เป็นกลาง อิสระ” ให้พวกเขามีอำนาจเด็ดขาดในการชี้ขาด
บวกกับมี “นักร้อง” ทำหน้าที่ร้อง เขี่ยลูกเปิดเกม แทงสนุ้กลูกขาวระเบิดกลุ่มแดง เพื่อให้ศาลและองค์กรอิสระมาจัดการกวาดหมดโต๊ะ
ทั้งหมด คือ กระบวนการทำให้เรื่อง “การเมือง” ไปอยู่ในมือศาล
กลไกที่สอง กระบวนการนำเรื่องการเมืองซึ่งอยู่ในมือศาลแล้ว เอาไปไว้ในมือสื่อ หรือ Mediatization of Jucial/Political Cases
หากมีเพียงนักร้อง มีเพียงศาลและองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ร่วมกันประหารนักการเมืองกันไปแบบเงียบๆ โดยสังคมไม่รู้เห็น แต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ และอาจเกิดแรงต่อต้านได้ ดังนั้น “นิติสงคราม” จำเป็นต้องสร้างมติของสาธารณชน หรือ Public Opinion เข้าสนับสนุนด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการนำเรื่องการเมืองที่เป็นคดีในศาล เอามาปลุกปั่นชี้นำผ่านสื่อสาธารณะ
“นิติสงคราม” ต้องใช้กระบวนการทางสื่อและความเห็นของสาธารณชนเข้าสนับสนุน ด้วยการโหมประโคมโฆษณาชวนเชื่อจนทำให้สังคมและคนจำนวนมากเชื่อไปก่อนแล้วว่า นักการเมืองเหล่านี้มีความผิดจริง
เมื่อ “นักร้อง” เริ่มต้นร้อง ก็จะมีสื่อทำหน้าที่ปั่นข่าวทุกวัน ชี้นำสังคม ใช้คอลัมน์หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เนต เผยแพร่ทุกวันว่า ผิดๆๆ เชิญนักกฎหมาย ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกันชี้นำในรายการสื่อว่า ผิดๆๆๆ จนประชาชนเชื่อไปแล้วว่า ผิด หรือแม้ประชาชนจะคิดว่าไม่ผิด แต่ประชาชนก็จะยอมรับว่า ก็มันเป็นแบบนี้ พวกเขาถืออำนาจกลไกรัฐอยู่จะเล่นงานอย่างไรก็ได้
นอกจากนี้ “นิติสงคราม” ยังใช้กลไกสื่อ ชี้นำสังคม ทำให้เป็นเรื่องเทคนิควิธี รายละเอียดหยุมหยิม กลบหลักการคุณค่าพื้นฐานไปเสียหมด
เช่น แทนที่คนจะคิดว่ากรณีถือหุ้นถูกนำมาใช้อย่างผิดเพี้ยน ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ เป็นกฎหมายล้าสมัยที่ไม่สามารถป้องกันนักการเมืองชี้นำผ่านการเป็นเจ้าของสื่อได้จริง แต่คนกลับพร้อมใจกันไปคิดว่า นักการเมืองพลาดเอง โง่เอง ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้เทคนิควิธีทางกฎหมาย รู้อยู่แล้วว่าเขาจ้องเล่นงาน ทำไมไม่ระวัง เห็นใจอยู่เหมือนกันนะ แต่ทำไมไม่ระวังล่ะ ทำไมไม่สู้คดีแบบนี้ล่ะ เสียดาย ไม่น่าเลย พลาดง่ายๆ ทางกฎหมาย ถ้าเก่งกฎหมายสักหน่อย ก็รอดแล้ว เป็นต้น
…
ณ เวลานี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล กำลังเผชิญหน้ากับ “นิติสงคราม” อีกครั้ง
เมื่อ “นิติสงคราม” ดำเนินผ่านสองกลไก อันได้แก่ “ทำประเด็นการเมืองให้อยู่ในมือศาล” และ “ทำประเด็นการเมืองที่อยู่ในมือศาลนั้นให้อยู่ในมือสื่อ” การต่อสู้กับนิติสงคราม จึงต้องหยุดสองกลไกนี้
เมื่อ “นิติสงคราม” มีฐานจาก “การเมือง” แล้วเอา “กฎหมาย” บังหน้า
เมื่อ “นิติสงคราม” เป็นการต่อสู้ฟาดฟันกันทางการเมืองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
มันจึงมีสองมิติ “การเมือง+กฎหมาย” ผสมผสานกัน
การต่อสู้กับนิติสงคราม จึงต้องใช้ทั้งการเมืองและกฎหมาย
ร่วมกันหยุด “นิติสงคราม” ไม่ให้หนังม้วนเก่าที่ฉายซ้ำหลายรอบวนเวียนตั้งแต่ปี 2548 กลับมาหลอกหลอนสังคมไทยอีกต่อไป”
ขณะเดียวกัน จากกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 7 ต่อ กกต. กรณีการถือหุ้นไอทีวี ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล และต่อมามีกระข่าวว่านายพิธา ขายหุ้นไอทีวีไปแล้วเมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งนายพิธา ออกมาระบุว่า “เป็นการถ่ายโอนหุ้นให้ทายาทคนอื่นในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา”
ด้าน ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชน แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ว่า
ประเด็นการโอนหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงในการตรวจสอบ โดยเฉพาะการโอนหุ้นของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่ ส.ส.และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายเพื่อสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเพื่อเตรียมตัวในการต่อสู้คดีซุกหุ้น ไม่ว่าจะโอนให้แก่ทายาทคนอื่นหรือจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก ในทางกฎหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์
“ให้พี่น้องประชาชนจับไต๋ในเอกสารการโอน โดยระบุว่า เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเพื่อใช้ในการหักล้างข้อกล่าวหาเพื่อให้พ้นผิด ขัดแย้งกับเอกสารใบหุ้นที่ระบุชื่อว่า ถือครองในนามส่วนตัว หากคดีในชั้น กกต.นายพิธา จะหยิบประเด็นเอกสารการโอนหุ้นอีกทอดหนึ่งขึ้นมาเป็นการต่อสู้ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ ใช้บังคับระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน ซึ่งเอกสารเอกชน สามารถเขียนอย่างไรก็ได้ แตกต่างจากเอกสาร บอจ.6 ที่ปรากฏรายการถือครองหุ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แม้โอนไปกี่ทอด ย่อมไม่พ้นผิด เพราะในทางกฎหมาย เป็นการทำนิติกรรมอำพราง เพื่อสร้างพยานหลักฐานขึ้นมา
ลูกไม้ตื้นๆ หากคดีขึ้นสู่ชั้น กกต.และชั้นศาลรัฐธรรมนูญ การโอนหุ้นกี่ทอดก็ตาม ไม่สามารถให้พ้นผิด เปรียบดังการขว้างงูไม่พ้นคอ วิธีการเทคนิคทางกฎหมายโอนหุ้นให้แก่ทายาท หรือบุคคลภายนอกเพื่อหลีกเลี่ยงตรวจสอบและเพื่อให้ตนพ้นผิด พยานเอกสารที่จัดทำขึ้นมา มีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้ เพราะหากถือครองในฐานะผู้จัดการมรดกจริง ระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ผิดวิสัยผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาท หากไม่ถูกจับได้ว่า ซุกหุ้นสื่อ แล้วคุณจะโอนเพื่ออะไร”
ส่วนคำถามที่ว่า การถือครองหุ้นที่นายพิธา ยกเคส คำสั่งศาลฎีกา ลข.42/2566 ระหว่าง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปชป.เขต 2 นครนายก ผู้ร้อง ผู้อำนวยการเลือกตั้งเขต 2 นครนายก ผู้คัดค้านนั้น ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงแตกต่างจากการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา เพราะหุ้นเอไอเอส ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์โดยตรง แต่เป็นการนำเงินไปลงหุ้น เป็นการประกอบกิจการโดยทางอ้อม แตกต่าง บมจ.ไอทีวี ที่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ชนะคดี สปน.ซึ่งในคดีถือครองหุ้นสื่อ ที่ผ่านมา ศาลพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจและใบอนุญาตในการประกอบกิจการ
หากเทียบเคียงกับคดีถือครองหุ้นสื่อนายธนาธร แม้เลิกกิจการ แต่ยังมีใบอนุญาตประกอบกิจการสื่ออยู่ แม้ในระหว่างพิพาทระหว่าง บมจ.ไอทีวี กับ สปน.ในประเด็นจอดำ แม้จะไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ แต่ยังมีรายได้ช่องทางอื่น จึงไม่เป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะนายพิธา หยิบมาแถลงการณ์ เพื่อดิ้นให้มวลชนเห็นใจ
“การถือครองหุ้นสื่อตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ผู้สมัคร ส.ส.ถือครองมากน้อยเพียงใด ย่อมขาดคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส. ตามมาตรา 42(3) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จะเห็นได้จากความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องไม่ถือครองหุ้นสื่อในวันสมัคร การโอนหุ้นในระหว่างถูกตรวจสอบ แม้โอนไปหลายทอด ย่อมไม่พ้นผิดเพราะเป็นความผิดสำเร็จนับแต่วันยื่นใบสมัคร ส.ส.แล้ว” ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ