ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาสถิติ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ไทยนั้นมีความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นและยังคงสำคัญมาจนกระทั่งปัจจุบัน สถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพมีจำนวนพนักงาน/ข้าราชการ/ลูกจ้างมากเป็นอันดับสองของโลกมีกำลังพลราวสี่พันคนและเป็น Central Intelligence Agency: CIA มากกว่าครึ่งหนึ่ง และมีอำนาจควบคุมเอเชียตะวันออกทั้งหมดรวมถึงจีน/ญี่ปุ่น/ไต้หวัน/ฮ่องกงด้วย จะเป็นรองก็แค่สถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์เท่านั้น ที่มีจำนวนกำลังพลมากกว่าและมีอำนาจควบคุมแอฟริกาและตะวันออกกลาง
สถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีพื้นที่กว้างขวางนับร้อยไร่และสร้างลงไปในใต้ดินให้เป็น nuclear bomb shelter ที่พักหลบระเบิดนิวเคลียร์ได้ จึงสร้างอย่างแข็งแรงและใหญ่โตมาก คำถามคือทำไมสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับไทยมากเหลือเกิน เพราะเหตุใด บทความนี้มีคำตอบดังนี้
ประการแรก ภูมิรัฐศาสตร์ไทยที่เป็นที่หมายปอง ประเทศบนโลกนี้ที่ทั้งอยู่ระหว่างคาบมหาสมุทรสองคาบมหาสมุทรนั้นมีไม่มากนัก อียิปต์ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติค มีคลองสุเอซเป็นทางน้ำเชื่อมสองมหาสมุทร ปานามาตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติคและมหาสมุทรแปซิฟิค มีคลองปานามา เป็นทางน้ำเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทร ในขณะที่ไทยตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค เรามีคอคอดกระ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการขุดคลองเชื่อมสองมหาสมุทร หลายคนอาจจะแย้งว่ามาเลเซียก็อยู่บนสองคาบมหาสมุทรแต่เป็นแผ่นดินส่วนที่กว้างมากจะขุดคลองเชื่อมหรือสร้างแลนด์บริดจ์ก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น
ในทางภูมิรัฐศาสตร์ไทยอยู่ตรงกลางระหว่างสองอู่อารยธรรมและประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งและสองของโลกคืออินเดียและจีน ซึ่งมีประชากรกว่า 1.4 และ 1.42 พันล้านคนตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 273 ล้านคน อันใกล้เคียงกับจำนวนประชากรของชาติมหาอำนาจ ไทยจึงเป็นแหล่งหลอมรวมอารยธรรม ศูนย์กลางทางการการค้ามานับแต่สมัยทวาราวดีและศรีวิชัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียด้วยซ้ำ
ยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าจะล้อมจีนไว้ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ทำได้สำเร็จคือมีฐานทัพอเมริกาในเกาหลีใต้ ใต้หวันเองอาจจะใกล้ชิดอเมริกาบางเป็นพัก ๆ ตามการเมืองในไต้หวันแต่ก็ใช่ว่าจะห่างไปจากสหรัฐอเมริกาเลยเสียทีเดียว สำหรับญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศในกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียวเท่านั้นในกลุ่ม ส่วนฟิลิปปินส์เมื่อสหรัฐอเมริกาหนุนหลังมาร์คอส จูเนียร์ ทายาทของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้สำเร็จ สหรัฐอเมริกาก็กลับเข้าไปตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ได้สำเร็จอีกครั้ง ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นลูกไล่ของสหรัฐอเมริกามานับตั้งแต่แพ้สงครามโลกครั้งที่สองและมีกองทัพสหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพภายในประเทศโดยเฉพาะที่เกาะโอกินาวา ดังนั้นทางฝั่งทะเลจีนใต้และฝั่งตะวันออกของจีนจึงถูกล้อมด้วยสหรัฐอเมริกา
ในทางภูมิรัฐศาสตร์ไทยเป็นยอดปรารถนาของสหรัฐอเมริกา ภาษิตจีนนั้นกล่าวไว้ว่า ผู้ใดครองเสฉวนผู้นั้นครองแผ่นดินจีน ไทยนั้นเป็นฐานที่มั่นที่เหมาะสมที่สุดในการโจมตีเสฉวนและจีนตอนใต้ทางอากาศ ในขณะที่จีนมีอิทธิพลเหนือพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่จีนจะไม่มีวันสบายใจได้เลยหากไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาเพราะไทยจะกลายเป็นประตูด่านสำคัญในการโจมตีจีนตอนใต้ เพราะไทยกับจีนตอนใต้นั้นไกล้กันมากเหลือเกิน ดังนั้นไทยจึงสำคัญมากสำหรับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางโลจิสติกส์
ไทยมีโอกาสเป็นรัฐกันชน (Buffer state) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เหมือนกันกับที่ในสมัยลัทธิล่าอาณานิคมไทยก็เคยเป็นรัฐกันชนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสมาแล้วเช่นกัน แต่ในมุมกลับกันเราอาจจะอยู่ตรงกลางระหว่างเขาควายของสองชาติมหาอำนาจของโลกที่ระแวงและไม่เป็นมิตรต่อกันก็ได้ และเราเองก็วางตัวยากมากในการรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจเช่นกันที่เราต้องไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งจนมากเกินไปซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก วางตัวให้ดีพอดี ๆ ทำได้ยากมาก
ประการสอง ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก ไทยมีน้ำและมีอาหารล้นเหลือสามารถผลิตอาหารได้มากมาย ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปยังประเทศของโลกอย่างมากมาย ทั้งนี้กองทัพต้องเดินด้วยท้อง การตั้งฐานทัพก็ต้องอยู่ใกล้แหล่งอาหารเพราะทหารเองก็ต้องกินต้องดื่ม ดังนั้นไทยจึงเหมาะที่จะเป็นฐานทัพเป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้ไทยเหนือกว่ามาเลเซียที่แม้จะแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่าไทยแต่ก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากทั้งไทยและอินโดนีเซียเพราะผลิตวัตถุดิบในการแปรรูปอาหารได้ไม่พอ แตกต่างจากไทยที่ส่วนใหญ่แล้วมี local content ในการแปรรูปอาหารมากกว่า ส่วนสิงคโปร์นั้นแม้จะเป็นเมืองท่าและอยู่ในช่องแคบมะละกาอันเป็นช่องทางขนส่งทางเรือและขนน้ำมันปิโตรเลียมแต่สิงคโปร์นั้นเล็กมาก ผลิตอาหารเองก็ไม่ได้ แม้น้ำจืดก็ไม่มีเพียงพอต้องซื้อน้ำจืดจากมาเลเซียตลอดมา นอกจากนี้ฝรั่งหรือหลายๆ ชาติก็ชอบอาหารไทยกันมาก อาหารไทยติดอันดับความนิยมของชาวโลกมาโดยตลอด
ประการสาม ฐานทัพสหรัฐอเมริกาเคยตั้งในไทยมาก่อนในช่วงสงครามเย็น แม้กระทั่งสนามบินที่ดีที่สุดในเชิงการทหารก็สร้างและออกแบบโดยสหรัฐอเมริกา คือสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเชื่อมเรือ รถยนต์ รถไฟ และเครื่องบินเข้าไว้ด้วยกันเป็นการคมนาคมขนส่งหลายโหมด (Multi-modal transportation) ที่แท้จริง จัดว่าดีงามมากมายเหลือเกิน สนามบินในไทยก็มีความได้เปรียบโดยภูมิประเทศ เราจะได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน หรือพายุไต้ฝุ่นค่อนข้างน้อยมาก ทางฝั่งชายแดนพม่าเรามีเทือกเขาตะนาวศรียาวเหยียดเป็นกำแพงกั้นพายุตามธรรมชาติจากมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอล ส่วนฝั่งชายแดนลาว กัมพูชา เรามีเทือกเขาอันนัมในเวียดนามรอต้านรับพายุไต้ฝุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยเรามีคลื่นลมสงบพอสมควรไม่ได้รับผลกระทบจากพายุมากนักทำให้พิบัติภัยทางธรรมชาติ วาตภัย ก็มีน้อย ทำให้ทำการบินได้สะดวกมากมาย
ประการที่สี่ วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมอ่อน (Soft culture) ที่เข้ากับชาติไหน ๆ ก็ได้ง่าย คนชาติไหนมาอยู่ไทยก็รู้สึกได้ถึงมิตรไมตรี อัธยาศัยอันดี ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ คนไทยมีทัศนะคติที่ค่อนข้างเป็นมิตรและต้อนรับชาวต่างชาติ ไม่ต่อต้าน ทำให้การเข้ามาของต่างชาติในประเทศไทย ไม่ว่าจะมาตั้งฐานทัพหรือมาทำงานช่วยคราวเป็น Expatriates ก็ทำได้ง่าย ไม่ต้องปรับตัวมาก อยู่แล้วสบายใจ
อย่าได้แปลกใจที่สหรัฐอเมริกา ตำรวจของโลกหรือมหามิตรเก่าแก่ยาวนานของไทยพยายามเข้ามายุ่งกับกิจการภายในของไทยเราค่อนข้างมาก จนหลายครั้งทำน่าเกลียด เพราะพี่เบิ้มแยงกี้ต้องการมีอิทธิพลและอำนาจในประเทศไทย อยากได้รัฐบาลไทยที่อยู่ในอาณัติ ยินยอมเชื่อฟังและว่าง่าย อยากได้ที่ตั้งฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภา ค่ายไทรโยค หรือค่ายรามสูรก็ตาม ดังนั้นไทยเราจึงสำคัญกับสหรัฐอเมริกามากหากสหรัฐอเมริกาจะต่อสู้กับจีน และจีนเองก็ให้ความสำคัญกับไทยไม่น้อยกว่าสหรัฐอเมริกาอีกเช่นกัน ดังนั้น Siamese talk หรือยิ้มสยาม พูดแบบสยามรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจจึงเป็นกุศโลบายสำคัญในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทยเป็นอย่างยิ่ง