ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ เตือน กกต.รับมือความโกลาหลวุ่นวายจากพายุ 2 ลูกในวันเลือกตั้ง มีโอกาสจะเกิดเป็นพายุฤดูร้อนประมาณ 30%
วันนี้ (5 พ.ค.) เฟซบุ๊ก "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "ฝนชุ่มฉ่ำวันเลือกตั้งมาพร้อมกับพายุ 2 ลูก ขนาบซ้ายขวา ฝนต้นฤดูมาแรง เกษตรกรรีบกักเก็บน้ำไว้ใช้ก่อนจะไม่มีให้เก็บ พายุลูกข้างซ้ายจะเกิดในมหาสมุทรอินเดีย มีนามว่าไซโคลน "Mocha" พายุลูกข้างขวาจะเกิดในทะเลจีนใต้ ฝั่งตะวันตกของฟิลิปปินส์ อาจมีนามว่า “Mawar” หากมีการพัฒนาตัวเป็นพายุโซนร้อน พายุทั้งสองลูกจะเริ่มก่อตัวพร้อมๆ กันตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม โดยพายุไซโคลน Mocha จะรุนแรงกว่า คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ในขณะที่อากาศร้อนจากความกดอากาศต่ำปกคลุมทั่วทุกภาค
ทำให้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมมีโอกาส เกิดฝนฟ้าคะนองตามมา ตั้งแต่ภาคใต้ขึ้นไปภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมภายใต้ความชุ่มฉ่ำจากฝน และมีโอกาสจะเกิดเป็นพายุฤดูร้อนประมาณ 30% จึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าฤดูฝนนี้
แม้ว่าการคาดการณ์ความรุนแรงของพายุอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมือโดยเฉพาะช่วงก่อนวันเลือกตั้งมีความสำคัญ เนื่องจากยังพอมีเวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่า ผมจึงอยากแนะนำ กกต.ควรจัดเตรียมสถานที่ หรือคูหาเลือกตั้งภายในอาคารเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดความโกลาหล วุ่นวาย เนื้อตัวเปียกปอน ป้ายตรวจสอบรายชื่อผู้ลงคะแนน และป้ายแนะนำผู้สมัครเสียหาย บัตรเลือกตั้งเปียกยุ่ย ตู้หย่อนบัตรได้รับความเสียหาย หลังคาปลิว น้ำท่วมขังคูหาเลือกตั้ง การขนถ่ายบัตรไม่สะดวก เป็นต้น การเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ และยุติธรรม กกต.จึงควรบริหารความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างระมัดระวัง และสำหรับผู้ที่จะไปเลือกตั้ง ควรเตรียมร่มติดตัวไปด้วยนะครับ
ปริมาณฝนตกติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ ช่วงต้นฤดูฝน จะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ภัยแล้ง เกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรเร่งขุดสระ สร้างฝายชะลอน้ำ ร่องน้ำ ฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงกลางฝน และปลายฝนซึ่งคาดว่าจะมาน้อยกว่าปกติจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ El Nino