สหรัฐฯ อยู่ในสภาพนกอินทรีชราหมดเรี่ยวแรงที่จะไปทำตัวเป็นเจ้าโลกในหลายพื้นที่ ต้องลดเพดานบิน เพื่อนพ้องที่เคยแนบแน่นเพราะความเกรงกลัวแสนยานุภาพเริ่มตีตัวออกห่าง เมื่อเห็นว่าอินทรีลำบากจะดิ้นรนพาไปสร้างจุดวิกฤตอีก
สงครามที่สหรัฐฯ และนาโตสนับสนุนยูเครนให้รบกับรัสเซียเห็นเค้าลางว่าไม่มีทางชนะได้ แต่ยังพยายามส่งอาวุธให้ยูเครนยื้อสงครามต่อไป บั่นทอนรัสเซีย
สหรัฐฯ มองแล้วว่ายุโรปจะไม่เพิ่มระดับความร่วมมือด้านความช่วยเหลือยูเครนเหมือนแต่ก่อน สภาพเศรษฐกิจยุโรปย่ำแย่ ขาดแคลนพลังงาน ค่าครองชีพสูง ประชาชนลำบาก มาตรฐานชีวิตตกต่ำ ชาวอังกฤษหลายล้านคนอยู่อย่างขาดแคลน
สิ่งที่สหรัฐฯ พยายามไม่ให้เกิดขึ้นคือความหายนะของภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์ซึ่งมากกว่าครึ่งของจำนวนธนาคาร 4,800 แห่งเสี่ยงต่อการล้มละลาย
ทรัพย์สินของธนาคารที่มีปัญหาไม่สามารถครอบคลุมหนี้สินเพียงพอ นักธุรกิจมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตำหนินายธนาคารที่มีปัญหาว่าขาดความสามารถในการทำธุรกิจ ทำให้เกิดความอ่อนแอเชิงโครงสร้างทั้งระบบ
ที่ผ่านมา ธนาคาร Silicon Valley Bank, Signature Bank และ First Republic Bank ไปไม่รอด ต้องถูกธนาคารใหญ่กว่าเข้ามาซื้อ หลังจากลงขันอุ้มไม่ไหว
ธนาคาร PacWest ในแคลิฟอร์เนีย และอีกธนาคารในรัฐแอริโซนามีปัญหาเหมือนกัน หุ้นตกอย่างแรง ลูกค้าฝากเงินไม่เชื่อถือด้านความมั่นคง
สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐฯ ถูกเรียกร้องให้ค้ำประกันเงินฝากมากว่า 2.5 แสนดอลลาร์ทุกรายเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าเงินฝากจะปลอดภัย ประธานาธิบดี โจ ไบเดนยังทำเสียงแข็งว่าโครงสร้างทั้งระบบยังมั่นคง แต่หาคนเชื่อได้ยาก
สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซ้ำร้ายเงินดอลลาร์ก็มีปัญหา ในการค้าขายทั่วโลก สัดส่วนของเงินดอลลาร์ในการค้าลดลงจากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 1970 มาเหลือเพียง 47 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน ถือว่าตกต่ำอย่างมาก
เศรษฐกิจของกลุ่มจี 7 ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ มีสัดส่วนการค้าขายเป็นรองกลุ่ม BRICS ซึ่งมีจีน รัสเซีย บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ จากนี้ไปจะลดกว่าเดิม
ซาอุฯ อิหร่าน อาร์เจนตินา และเม็กซิโก แสดงความตั้งใจจะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS หมายความว่าเงินดอลลาร์ที่มีอิทธิพล และเป็นเครื่องมือของสหรัฐฯ ในการคว่ำบาตรประเทศต่างๆ นั้นไม่มีพลังอีกต่อไป โดยมีเงินหยวน รูปี รูเบิลและสกุลอื่นแทน
นั่นเป็นผลข้อตกลงของหลายประเทศที่จะซื้อขายสินค้าในสกุลเงินของตัวเอง รวมทั้งกลุ่มอาเซียน ไม่ต้องพึ่งเงินดอลลาร์ ปอนด์สเตอร์ลิง เงินเยน อีกต่อไป
กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเช่นโอเปก และโอเปกพลัส ก็จะลดการใช้เงินดอลลาร์ทำให้เงินเปโตรดอลลาร์เริ่มไร้ความหมาย แต่ละประเทศใช้เงินของตัวเองโดยมีทองคำหรือทรัพยากรอื่นๆ เป็นฐานหนุน ต่างจากสหรัฐฯ ที่เลิกใช้ทองคำหนุนดอลลาร์
ความเป็นเจ้าโลก ชาติมหาอำนาจเพียงขั้วเดียว กำลังใกล้สิ้นสภาพ รัสเซีย จีน และอินเดียได้เข้ามาเปลี่ยนสภาพให้เป็นมีโลกหลายขั้ว ผนึกกำลังต้านอิทธิพลสหรัฐฯ
เมื่อกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง รัสเซีย เวเนซุเอลา ไม่เอาด้วยกับสหรัฐฯ จะทำให้ยุโรปทั้งทวีปมีปัญหาด้านพลังงาน ต้องซื้อจากอินเดียซึ่งซื้อจากรัสเซียมากลั่นแล้วขายต่อให้ยุโรปมีกำไร ยุโรปต้องจ่ายแพง แต่ไม่มีทางเลือกอื่น
ยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีแสนแค้นสหรัฐฯ ที่เป็นตัวการระเบิดท่อก๊าซนอร์ดสตรีมทั้ง 2 สายใต้ทะเลบอลติก ตัดโอกาสที่ยุโรปจะได้ก๊าซราคาถูกจากรัสเซีย แต่พูดไม่ได้
ยุโรป ภายใต้ร่มธงนาโต ไม่ต่างจากการเป็นรัฐบริวารของสหรัฐฯ หนีไม่พ้นโอกาสที่อังกฤษและยุโรปจะฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโดยเร็ววันแทบมองไม่เห็นเพราะขาดแหล่งพลังงาน ต้องซื้อราคาแพง มีความไม่แน่นอน ไม่มีการลงทุน
ความเป็นมิตรแบบบริวารของสหรัฐฯ กำลังส่งผลร้ายให้กับชาวยุโรป มาตรฐานการครองชีพต่ำ คนว่างงาน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย รัฐบาลต้องสร้างหนี้ช่วยเหลือ
แต่นกอินทรีชราภาพยังไม่คำนึงถึงสังขาร บาปบุญคุณโทษ ยังคงมีฐานทัพน้อยใหญ่กว่า 750 แห่งทั่วโลก เพื่อรักษาความเป็นเจ้าโลก ใช้สงครามเป็นเครื่องมือทำลายประเทศที่ไม่ยอมสยบให้กอบโกยผลประโยชน์ อิรัก ลิเบีย ย่อยยับด้วยเหตุนี้
สหรัฐฯ จะรักษาความมั่นคงของระบบธนาคาร และเงินดอลลาร์ได้อย่างไร เมื่อทั้งสองต่างผูกพันกับความมั่นคง ความเชื่อมั่น และความยำเกรงอำนาจของสหรัฐฯ
ดูแล้วยาก หลายปัจจัยไม่หนุน สหรัฐฯ มีหนี้สินท่วมหัวเกือบ 32 ล้านล้านดอลลาร์ ติดเพดานเงินกู้ จะยกระดับก็ติดปัญหาที่พรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ สร้างเงื่อนไขต่อรองกับโจ ไบเดน ซึ่งอยู่ในสภาวะจำยอม
คนอเมริกันเป็นหนี้สินทั้งเงินกู้บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต อยู่แบบเดือนต่อเดือน เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย การจ้างงานจะไม่เพิ่ม โครงสร้างโดยรวมจะอ่อนแอ
การทำสงครามนอกประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นทางเลือกที่จะได้ขายอาวุธโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ เหมือนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พาสหรัฐฯ ให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำเริ่มในปี 1930 จนสงครามสิ้นสุดในปี 1945 สหรัฐฯ ผงาดเป็นผู้นำโลก
ไต้หวันกำลังเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ เพิ่มความตึงเครียด ใช้โอกาสระดมขายอาวุธให้ไต้หวัน ลูกค้าประจำสำคัญในพื้นที่ใกล้เคียงคือเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
โลกรู้ทันสหรัฐฯ ละตินอเมริกา แอฟริกา
ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียนไม่ใช่ลูกไล่ของสหรัฐฯ เว้นแต่ชาติที่มีผลประโยชน์ผูกติดอยู่ โลกของสหรัฐฯ แคบลงแล้ว