xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกใหม่หรือแค่ซื้อเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ (ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียน) จัดการประชุมระดับรมต.ต่างประเทศ (และคณะมนตรีประสานงานอาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตา โดยมีรมต.ต่างประเทศอินโดนีเซีย เร็ตโน มาร์ซูดี เป็นประธาน และไม่มีรมต.จากเมียนมาเข้าร่วมประชุม

คำแถลงของรมต.หญิงมาร์ซูดี หลังการประชุมน่าสนใจมาก เธอสรุปว่า

“ชาติสมาชิกได้หารือกันเรื่องเมียนมาอย่างเปิดเผย (ไม่ใช่ Quiet Diplomacy ที่ลี้ลับจนจับต้นชนปลายไม่ถูก แบบที่ไทยทำกับเมียนมา) อย่างลึกซึ้ง และอย่างตรงไปตรงมาเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน (คือเป็นปัญหาภายในครอบครัว ไม่ใช่ปัญหาที่คนนอกครอบครัวจะมาชักจูงสั่งการ!) โดยชาติสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมได้พร้อมใจกันยืนยันว่า ฉันทมติ 5 ข้อ ยังคงเป็นแนวทางหลักในการคลี่คลายวิกฤตเมียนมา”

เธอสรุปด้วยว่า “ชาติสมาชิกในที่ประชุมทั้งหมดให้การสนับสนุนแนวทางของอินโดนีเซีย เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา”

“และเห็นพ้องต้องกันว่า การเจรจาระดับชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม (inclusiveness) จะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการแสวงหาแนวทางสันติเพื่อคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตในเมียนมา เพื่อลดความรุนแรงในเมียนมาขณะนี้

เธอพูดถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะดำเนินต่อไป

ประเด็นวิกฤตเมียนมาในโอกาสครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหารที่นั่น ได้บดบังวาระสำคัญอื่นๆ ของการประชุมครั้งนี้ เช่น เรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน, ความร่วมมือด้านการเงินและสาธารณสุข, การอนุมัติสถานะผู้สังเกตการณ์ให้แก่ประเทศติมอร์ตะวันออก ในขณะที่มีตัวแทนจากติมอร์ตะวันออกได้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรกในฐานะผู้สังเกตการณ์

รมต.มาร์ซูดี ได้สรุปถึงการตั้งสำนักงานของทูตพิเศษอาเซียนเรื่องเมียนมา สำนักงานนี้ตั้งอยู่ที่จาการ์ตา เพื่อทุ่มเทมุ่งเน้นการแก้ปัญหาในเมียนมาอย่างเต็มที่ ซึ่งเธอเองจะติดต่อประสานกับทุกกลุ่มในพม่าที่เกี่ยวข้อง เพื่อหวังผลักดันให้เกิดการเจรจาทุกฝ่ายระดับชาติเพื่อคลี่คลายวิกฤตที่ไม่มีความคืบหน้าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

2 วันก่อนการประชุมนี้ ท่านปธน.อินโดนีเซียได้ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า อินโดนีเซียจะส่งนายพลทหารของอินโดนีเซีย (น่าจะเป็น 1 ท่าน) ไปหารือกับนายพลมิน อ่อง หล่ายแห่งพม่า เพื่อนำตัวอย่างของอินโดนีเซียที่ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยราบรื่น หลังจากปธน.ซูฮาร์โต ได้ถูกกดดันให้ลงจากอำนาจ (ที่ได้เป็นผู้นำทั้งจากรัฐประหาร และจากการเลือกตั้งที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ควบคุมหมดทุกอย่างเป็นเวลา 31 ปี)...โดยปธน.วิโดโดได้ย้ำว่า จะไม่ใช่เป็นการไปสั่งสอนแต่จะเป็นการไปเล่าประสบการณ์และวิธีการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นในอินโดนีเซีย (และจนทุกวันนี้ อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยระดับแนวหน้าของโลก โดยเฉพาะในอาเซียน)

การเสนอของวิโดโดครั้งนี้ น่าจะตรงกับที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ยอดอัจฉริยะของโลกได้เคยพูดเอาไว้ว่า “เราไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยวิธีการเดิมๆ ที่ได้ใช้มาคือ ต้องหาวิธีการใหม่ๆ มาแก้ปัญหา” ซึ่งอาเซียนได้ใช้วิธีการฉันทมติ 5 ข้อเป็นหลักมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่ไปถึงไหน ซ้ำกลับเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้นในวิกฤตเมียนมา

วิโดโดยังไม่ได้เผยชื่อนายพลคนนั้น แต่บอกว่า จะต้องเป็นผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในแนวทางการปฏิรูปอินโดนีเซีย โดยเขาจะรีบส่งบุคคลผู้นี้ไปยังเมียนมาโดยเร็วที่สุด เพราะการจัดเจรจาระหว่างคนหัวอกเดียวกัน (ทหารพูดจากับทหาร) จะเข้าใจกันง่าย...โดยวิโดโดย้ำว่า อินโดนีเซียได้ผ่านประสบการณ์รัฐประหารมาก่อน ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา

วารสาร The Diplomat ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอสเร็วๆ นี้ ท่านอดีตนายพลเอกของอินโดนีเซียชื่อ Luhut Pandjaitan ซึ่งปัจจุบันเป็นรมต.ประสานงานด้านกิจการทางทะเล และการลงทุนในรัฐบาลวิโดโด ได้นำเสนอว่า ผู้นำทหารเมียนมาปัจจุบัน ควรมอบอำนาจให้แก่พลเรือนที่ไว้วางใจ และมีความสามารถเพื่อเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ดังเช่นที่อินโดนีเซียได้ทำช่วงเปลี่ยนถ่ายทางการเมืองในปี 1998 (หลังวิกฤตต้มยำกุ้งและซูฮาร์โตถูกโค่นโดยการประท้วงของประชาชน)

ในแวดวงวิชาการและการทูตได้มีการถกเถียงข้อเสนอของวิโดโดทันที

เท่าที่มีความเห็นต่างจากวิโดโด นำโดยนักวิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศคนสำคัญของอินโดนีเซียคือ Dewi Fortuna Anwar แห่งสถาบันวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มองว่า สถานการณ์แตกต่างกันระหว่างเมียนมาและอินโดนีเซีย เพราะทหารพม่าได้ผ่านการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบเรียบร้อยแล้วในปี 2021 แต่ฝ่ายทหารกลับเดินย้อนกลับไปยึดอำนาจคืนอีกครั้งหนึ่ง และขณะนี้เหล่าทหารเมียนมามีความแข็งกร้าวต่างกับทหารอินโดนีเซีย ซึ่งในช่วง 1998 นำโดย SBY (พลเอกSusilo Bambang Yudhoyono นายทหารที่ผ่านเวสพอยต์ของสหรัฐฯ และเป็นผู้ที่รอบรู้-อ่านหนังสือในห้องสมุดส่วนตัวที่บ้านเป็นพันๆ เล่ม) ซึ่งต่อมาได้รับการเลือกตั้งตรงเป็นประธานาธิบดี

SBY ได้มีส่วนช่วยเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารของเมียนมา และชนกลุ่มน้อยเมียนมา อันเป็นการปูทางการผ่านกฎหมายสำคัญที่เป็นประชาธิปไตยในเมียนมาก่อน 2020

นักวิชาการอีกหลายคนเช่น Greg Barton นักวิชาการด้านเอเชียของมหาวิทยาลัย Deakin, ออสเตรเลีย; Than Soe Naing นักวิชาการด้านการเมือง และการทหาร; รวมทั้งโฆษกของ NUG (National Unity Government) ชื่อ Nay Phone Latt มองไม่เห็นว่า ฝ่ายผู้นำทหารเมียนมาที่มีความโหดเหี้ยมทารุณ (ยอดการตายจากการประท้วงรัฐบาลและถูกฆ่ามีสูงถึง 3 พันคน และบาดเจ็บมหาศาล) รวมทั้งผลประโยชน์ด้านแก๊สธรรมชาติที่กองทัพกำลังได้รับอยู่ ก็ต่างกับสมบัติของชาติเมียนมาในอดีต

ด้านอดีตทูตไทยสุรพงษ์ ชัยนาม ได้แสดงความคิดเห็นผ่านหน้าจอทีวีว่า การส่งทหารไปพูดกับทหารตามแนวคิดนี้ น่าจะเข้าทางของมิน อ่อง หล่าย เพื่อเป็นการ “ซื้อเวลา” เสียมากกว่าจะเกิดการเจรจาจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำ การเจรจาทหารกับทหารอาจพูดกันรู้เรื่องด้านผลประโยชน์ใต้โต๊ะด้วยซ้ำ

เราเห็นผบ.สส.ของไทย เป็นผู้นำทหารไปพบมิน อ่อง หล่าย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยยกเอาการประชุมระหว่าง 2 กองทัพที่ทำเป็นประจำทุกปีเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีของสองประเทศ...(แต่ได้หยุดมา 3 ปีช่วงโควิด)

ไม่ปรากฏว่า ได้มีการลดความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน และชนกลุ่มน้อยในเมียนมาเกิดขึ้นเลย

มิหนำซ้ำรัฐบาลทหารพม่าประกาศขยายเวลาภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือนด้วยซ้ำ

คงต้องดูว่า ทางออกใหม่ที่วิโดโดเสนอจะนำสู่การเจรจาทุกฝ่ายในพม่าหรือไม่ หรือยิ่งเป็นการซื้อเวลาให้แก่กองทัพพม่าด้วยซ้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น