xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมทางทหารระดับภูมิภาคที่สหรัฐฯ เป็นประธานร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กองทัพพม่าที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาของประเทศ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมทางทหารระดับภูมิภาคที่มีสหรัฐฯ และไทยเป็นประธานร่วมกัน

กองทัพพม่าได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารในปี 2560 ที่บังคับให้ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 730,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านของพวกเขาไปบังกลาเทศ ที่พวกเขาเล่าถึงการสังหาร การข่มขืนหมู่ และการลอบวางเพลิง และในปี 2564 กองทัพพม่าได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ

เมื่อปีที่ผ่านมา คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ตัดสินใจอย่างเป็นทางการว่าความรุนแรงที่กองทัพพม่ากระทำต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่กองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่าการปราบปรามของพวกเขามุ่งหมายที่กลุ่มกบฏโรฮิงญาที่ก่อเหตุโจมตี

โรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงในบังกลาเทศ และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เดินทางกลับพม่า ที่ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองและสิทธิอื่นๆ

สหรัฐฯ และไทยเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ด้านโฆษกของเพนตากอนกล่าวว่า การเข้าร่วมดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นโดยประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

“แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเข้าร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการตอบโต้อย่างหนักแน่นต่อการรัฐประหารในพม่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมทั้งหมด และฟื้นฟูเส้นทางสู่ประชาธิปไตย ตลอดจนผ่านการประชุม ADMM-Plus” โฆษกเพนตากอน กล่าว

ทั้งนี้ ข่าวความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ถูกรายงานครั้งแรกโดยสำนักข่าวเมียนมาร์ นาว

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ เชิญพม่าเข้าร่วมการฝึกทางทหาร และพม่าเคยเข้าร่วมการประชุมเสมือนจริงในรายการเดียวกันนี้เมื่อปีก่อน ส่วนในปี 2560 เพนตากอนได้เชิญพม่าเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ในการฝึกซ้อมทางทหารระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่นำโดยสหรัฐฯ และไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น