ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Citizen Data Science
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
กสทช. ได้นำสิทธิวงโคจรดาวเทียมและคลื่นความถี่ดาวเทียมนำมาประมูลอีกรอบ หลังจากที่ต้องล้มเลิกการประมูลไปคราวก่อน และที่น่าเสียใจคือดาวเทียมที่ทำรายได้เป็นแสนล้านบาทกลับนำรายได้เข้ารัฐเพียงหลักไม่กี่ร้อยล้านบาท โดยที่การเปิดให้มีการแข่งขันไม่ได้ทำให้เปิดกว้างเต็มที่ โดยกำหนดให้ว่าต้องมีประสบการณ์ในการประกอบกิจการดาวเทียม ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่แม้จะไม่ใหม่ก็ไม่มีเพราะดาวเทียมเป็นธุรกิจผูกขาดของประเทศแต่เพียงรายเดียว จึงไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น
สิ่งที่คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบคือมีย่านความถี่ของดาวเทียมที่ปกติเป็นย่านความถี่ทางการทหารและความมั่นคงถูกนำออกมาให้เอกชนประมูลไปด้วย โปรดอ่านเรื่องย่านความถี่ของดาวเดียมได้จากบทความ ย่านความถี่ที่ กสทช. นำออกประมูลแพ็คเกจสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม https://mgronline.com/daily/detail/9640000069548 หากมีข้อสงสัยหรือต้องการหาความรู้เพิ่มเติม
ทั้งนี้คลื่นความถี่ย่าน X band (8.0 – 12.0 GHz) เป็นย่านความถี่สูงที่ถูกรบกวนด้วยความแปรปรวนในบรรยากาศโลกได้น้อย จึงเหมาะสำหรับการสำรวจระยะไกลหรือการรับส่งข้อมูลจากดาวเทียมสู่ดาวเทียมหรือดาวเทียมสู่ภาคพื้นดิน อีกทั้งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ International Telecommunication Union: ITU อันเป็นองค์การนานาชาติด้านดาวเทียมและการโทรคมนาคมไม่ได้จำกัดการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน X band ในงานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่แนะนำว่าเป็นย่านความถี่ที่เหมาะต่อการปฏิบัติการทางทหาร ดังนั้นภาครัฐของประเทศต่างๆ ในสากลโลก จึงนิยมให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้กำหนดแนวทางการใช้งานคลื่นความถี่ในย่านนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้งานเพื่อกิจการด้านความมั่นคงและงานสาธารณะประโยชน์ของประเทศ
เนื่องจากชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 3 ที่กสทช. นำออกมาประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วยข่ายงานดาวเทียม 4 ชุด ได้แก่ THAICOM-IP1, THAICOM-P3, THAISAT-119.5E และ THAISAT-120E มีคลื่นความถี่ในย่าน X band ด้วยแบนด์วิดท์ (bandwidth) ประมาณ 880 MHz หรือ 0.88 GHz ซึ่งจากตารางด้านล่างนี้ได้สรุปแผนงานความต้องการใช้ย่านคลื่นความถี่ดาวเทียมของไทยในอนาคตเอาไว้
ดังนั้นในอนาคตหน่วยงานภาครัฐคือกองทัพไทยหรือกระทรวงกลาโหมอาจมีความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน X band เพื่อกิจการด้านความมั่นคงและงานสาธารณะประโยชน์ด้วยแบนด์วิดท์ประมาณ 297.72 MHz ดังนั้นกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมจึงอาจต้องขอเช่าใช้งานแบนด์วิดท์นี้จากเอกชนผู้ชนะการประมูลข่ายงานดาวเทียมชุดที่ 3 นี้ในอนาคต เนื่องจากเอกชนมิได้มีแผนงานที่จะใช้คลื่นความถี่เหล่านี้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามแผนของหน่วยงานภาครัฐ มุ่งเพียงการทำธุรกิจเพื่อหารายได้
ดังนั้นการเปิดประมูลการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ผ่านมาจึงมิได้มีวิธีการป้องกันให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมทั้งไม่ได้กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย ดังนั้นการประมูลสิทธิดังกล่าวจึงอาจขัดต่อเจตนารมย์แห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 ที่กล่าวว่ารัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน
นอกจากนี้เทคโนโลยี SAR สำหรับดาวเทียม GEO อันเป็นเทคโนโลยีดาวเทียมที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายด้านความมั่นคง เป็นเทคโนโลยีอันล้ำสมัยก็ต้องใช้ย่านความถี่คลื่น X-band เป็นพื้นฐานสำคัญ ก็จะไม่เกิดการพัฒนาหรือถูกขายให้ต่างชาติมาพัฒนาในสิทธิวงโคจรดาวเทียมของไทยได้ อันจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้เทคโนโลยีเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ หรือ SAR (Synthetic Aperture Radar) เป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพพื้นผิวโลกที่แตกต่างไปจากการถ่ายภาพปรกติ ที่จะใช้เลนส์รับแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ซึ่งตกกระทบพื้นผิวโลกมาสร้างเป็นภาพถ่าย โดยที่ดาวเทียมสอดแนม (spy satellite) ส่วนใหญ่นิยมถ่ายภาพพื้นผิวโลกด้วยวิธีการนี้ การถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยี SAR จะส่งคลื่นเรดาร์ (RADAR, RAdio Detection And Ranging) ไปยังพื้นโลกแล้วตรวจวัดสัญญาณสะท้อนกลับ ด้วยเทคโนโลยีรับภาพความละเอียดสูงแบบสองมิติ จึงทำให้ SAR สามารถสร้างภาพถ่ายทะลุเมฆ มองเห็นใต้ร่มไม้ และทำงานได้ในทุกสภาพอากาศ โดยทั่วไปดาวเทียม SAR มักเป็นดาวเทียมในวงโคจรต่ำ LEO (Low Earth Orbit) ที่เรียกว่า LEO SAR ซึ่งมีข้อด้อยที่ดาวเทียม LEO SAR จะใช้เวลานานตั้งแต่หลายวันจนถึงหลายสิบวันจึงจะโคจรกลับมาสำรวจในพื้นที่เดิมได้อีกครั้ง ข้อมูลภาพที่ได้จึงไม่ต่อเนื่องตลอดเวลา
ในปัจจุบันจึงพัฒนาให้ SAR สามารถติดตั้งอยู่ในดาวเทียมที่วงโคจรค้างฟ้า GEO (Geosynchronous Orbit) หรือ GEO SAR เพื่อสามารถถ่ายภาพพื้นที่เป้าหมายได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยไม่ถูกรบกวนด้วยความแปรปรวนของสภาพบรรยากาศโลก เช่น ดาวเทียม Tianhui-3 ของประเทศจีนที่มีแผนส่งขึ้นประจำในวงโคจรในอนาคต
เทคโนโลยีของดาวเทียม GEO SAR ที่สำคัญในยุคปัจจุบัน คือ การสร้างภาพ 3 มิติด้วยข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม SAR และการทำงานของร่วมกันรหะว่าง GEO SAR และเทคโนโลยีอวกาศอื่นๆ เช่น การทำงานร่วมกันระหว่าง GEO SAR กับ LEO SAR โดย LEO SAR จะเป็นตัวส่งคลื่นเรดาห์ในย่าน X-band ไปยังพื้นโลกแล้วรับสัญญาณสะท้อนกลับนั้นด้วย GEO SAR, การทำงานร่วมกันระหว่าง GEO SAR กับอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) โดย GEO SAR สามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายให้แก่ UAV ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่เหนือพื้นดินได้อย่างต่อเนื่อง UAV จะสามารถสร้างเส้นทางการบินที่เหมาะสมได้
ในปัจจุบันตลาดของข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม SAR ที่ใหญ่ที่สุดราว 70% มาจากภาคการทหารและการป้องกันประเทศ เพื่อการตรวจจับลักษณะพื้นผิว เช่น กลุ่มอาคาร ฐานขีปนาวุธ และลักษณะภูมิประเทศของจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารและความมั่นคง ส่วนที่เหลือเป็นตลาดของภาคการเงินและการประกันภัย ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม SAR เช่น การตรวจสอบน้ำท่วมในการประกันภัย เป็นต้น
จากที่ กสทช. ได้ทำการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในวงโคจรค้างฟ้าของประเทศ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ทำให้เอกชนผู้ชนะการประมูลได้รับใบอนุญาติให้บริหารจัดการข่ายงานดาวเทียมของประเทศไปเป็นเวลา 20 ปี ในช่วงเวลานี้เมื่อเอกชนจัดสร้างและส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศ ดาวเทียมนั้นจะเป็นกรรมสิทธิของเอกชน (ในระบบสัมปทานเดิมดาวเทียมจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ) ถ้าในดาวเทียมนั้นติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี GEO SAR แล้วหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยจะตรวจสอบได้อย่างไร เพราะอำนาจการตรวจสอบมีอยู่เฉพาะในประเทศ แต่กระบวนการผลิตและส่งขึ้นสู่วงโคจรของดาวเทียมล้วนอยู่นอกประเทศทั้งสิ้น
การตรวจสอบโดยดูจากการประกาศรายละเอียดของดาวเทียมจากบริษัทเอกชนผู้ผลิตดาวเทียมในต่างประเทศจะเชื่อมั่นได้มากน้อยเพียงใดว่าจะถูกต้อง 100% ในประเทศที่ให้ใบอนุญาติประกอบกิจการด้านดาวเทียม เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีระบบตรวจสอบดาวเทียมของเอกชนอย่างเข้มข้นโดยจะตรวจสอบขั้นตอนการผลิตทุกขั้นตอนอย่างละเอียดโดนหน่วยงานพิเศษภายใต้ข้อกำหนด SPD-3 (Space Policy Directive-3) นอกจากนั้นเมื่อดาวเทียมขึ้นไปประจำตำแหน่งในอวกาศหน่วยงานพิเศษนี้ก็มีความสามารถที่จะตรวจสอบดาวเทียมต่างๆ ได้ตลอดเวลา จึงมีคำถามว่าประเทศไทยของเรามีหน่วยงานตรวจสอบเช่นนี้แล้วหรือ กสทช. จึงเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบในอนุญาติเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วความมั่นคงของชาติและการทหารจะได้รับความกระทบกระเทือนมากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดสงครามระหว่างประเทศขึ้น ความได้เปรียบเสียเปรียบจากการใช้งานและการถือครองคลื่นความถี่ X band จะกระทบภารกิจทางการทหารในสงครามเป็นอย่างยิ่ง เพราะความลับไม่มีในโลก และการสงครามเอาชนะกันได้ด้วยการจารกรรมข้อมูลและการข่าว
อ้างอิง :
- https://geoawesomeness.com/eo-hub/everything-you-ever-wanted-to-know-about-sar-satellite-data-and-the-ecosystem-but-were-afraid-to-ask/ - https://pdfs.semanticscholar.org/3452/9411261445f6e42a56ce5cd61a67f6c1a909.pdf - https://www.hindawi.com/journals/ijap/2018/6138709/ - https://trumpwhitehouse.archives.gov/presidential-actions/space-policy-directive-3-national-space-traffic-management-policy/
- https://forum.nasaspaceflight.com/index.php?topic=54086.0