xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.อนุมัติผู้ผ่านเกณฑ์ 3 ราย เดินหน้าประมูลวงโคจรดาวเทียมลักษณะจัดชุด 15 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติและวิธีการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด จำนวน 3 ราย พร้อมเดินหน้าเข้าประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในวันที่ 15 มกราคมนี้ โดยต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านกิจการกระจายเสียง (กสทช.) กล่าวถึงผลการพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัทมีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566 โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่สำนักงาน กสทช.

สำหรับการประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งนี้นำมาประมูล จำนวน 5 ชุด พร้อมกำหนดราคาเริ่มต้นดังนี้

ชุดที่ 1 ได้แก่วงโคจรที่ 50.5E และ 51E ราคาขั้นต่ำที่ 374,156,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 18,700,800 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องขึ้นใช้งานดาวเทียมภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 โดยวงโคจรนี้ครอบคุลมพื้นที่ประเทศอาหรับ

ชุดที่ 2 ได้แก่ วงโคจรที่ 78.5E ราคาขั้นต่ำที่ 360,017,000 และขั้นราคา (ประมูล) 18,000,850 บาท โดยครอบคลุมพื้นที่ประเทศพม่า และอินเดีย

ชุดที่ 3 ได้แก่ วงโคจรที่ 119.5E และ 120E ราคาขั้นต่ำที่ 397,532,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 19,876,600 บาท โดยวงโคจรนี้มีความต้องการสูงเพราะเป็นเพียงแพกเกจเดียวที่มีโครงข่ายด้านบรอดแบรนด์

ชุดที่ 4 ได้แก่ วงโคจรที่ 126E ราคาขั้นต่ำที่ 8,644,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 432,200 บาท และชุดที่ 5 ได้แก่ วงโคจรที่ 142E ราคาขั้นต่ำที่ 189,385,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 9,469,250 บาท

สำหรับการประมูลข่ายงานดาวเทียมในครั้งนี้ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะคือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

ส่วนกรณีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ด้านกรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” นั้น กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้สอดคล้องตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งตามนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม

ทั้งนี้ สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต เนื่องจากมีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากยกเลิกการประมูลและให้ NT เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจากสหภาพโทรคมนาคม (ITU) ได้ กรณีที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้จริง และไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย กลับไปสู่การผูกขาด และขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติให้ “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการจัดทำบริการสาธารณะ”

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ดังจะเห็นได้จาก การกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องมีหน้าที่จัดช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในแต่ละชุดของข่ายงานดาวเทียมจำนวน 1 transponder กรณีดาวเทียม broadcast และจำนวน 400 Mbps กรณีดาวเทียม broadband ซึ่งหากเทียบกับสัมปทานเดิม รัฐได้รับทั้งหมดเพียง 1 transponder เท่านั้น ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวงก็ตาม รวมทั้งในชุดที่ 3 ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถตั้งสถานีควบคุมบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนที่รัฐรับผิดชอบได้ เป็นต้น

“กสทช.ยินดีสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยที่หากเป็นการให้บริการเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีวัตถุประสงค์การใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้ว กสทช.พร้อมที่จะอนุญาตให้สิทธิดังกล่าวแก่หน่วยงานรัฐ หรือ NT โดยไม่ต้องประมูล เหมือนที่ กสทช.ได้สนับสนุนและอนุญาตให้สิทธิแก่กองทัพอากาศ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น ส่วนกรณีการนำสิทธิไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ กสทช.ต้องพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เสรี และ เป็นธรรม รวมทั้งสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ด้วย เพราะต้องเข้าใจว่ากิจการดาวเทียมสื่อสารไม่ใช่ให้บริการเฉพาะภายในประเทศ แต่สามารถให้บริการในต่างประเทศได้ด้วย รวมทั้งต่างประเทศเองต้องการมาให้บริการในประเทศไทยด้วยเช่นกัน“ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น