ในที่สุด เราท่านทั้งหลายที่อยู่รอดปลอดภัยจากปีเก่า และกำลังเดินหน้าสู้ชีวิตต่อไปในปีใหม่ ด้วยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น
แต่ในความเป็นจริง ทุกคนจะมีชีวิตดีขึ้นหรือเลวลง เมื่อเทียบกับปีเก่าไม่มีใครคาดการณ์ได้นอกจากหมอดู ซึ่งคาดการณ์โดยอาศัยศาสตร์ต่างๆ ถูกบ้างผิดบ้าง ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย 2 ประการดังต่อไปนี้
1. หมอดูหรือนักพยากรณ์มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความรู้ มีความชำนาญมาก ก็สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องมาก ถ้ามีความรู้ มีความชำนาญน้อย ก็คาดการณ์ถูกต้องน้อยหรือไม่ถูกต้องเลย และนี่เองที่คนไม่เชื่อบอกว่าหมอดูคู่กับหมอเดา
2. หมอดูได้มีการเก็บสถิติการพยากรณ์ไว้อย่างเป็นระบบหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีการเก็บสถิติอย่างเป็นระบบ และจำนวนมากพอก็สามารถพยากรณ์หรือคาดการณ์ได้ถูกต้อง ตรงกันข้าม ถ้าไม่มีการเก็บอย่างเป็นระบบ และไม่มากพอ โอกาสที่จะถูกเรียกว่าเป็นหมอดูปีเก่าที่ผ่านมา ถ้าพบว่าในปีเก่าเป็นอย่างไร และขึ้นปีใหม่แล้วยังเป็นเช่นเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ปีใหม่ก็มีโอกาสเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคลหรือนิติบุคคล แต่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงในกรณีที่มีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบกระทั่งในแง่บวกหรือลบ
ในเรื่องของบ้านเมืองในปีเก่าที่ผ่านมา ทุกคนทราบดีว่าเป็นอย่างไร เริ่มด้วยเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนในระดับกลางถึงระดับล่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เมื่อข้าวของแพงขึ้นแต่รายได้ลดลง บางคนไม่มีรายได้เนื่องจากว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง และจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำย่ำแย่นี้เอง คนส่วนหนึ่งหันไปเสพยาเสพติดเพื่อหนีปัญหาจนกลายเป็นทาสสิ่งเสพติด และกลายเป็นอาชญากรลักเล็กขโมยน้อยไปจนถึงปล้นฆ่า ข่มขืน และทำร้ายคนในครอบครัว
ยิ่งกว่านี้ในปีเก่านอกจากปัญหาอาชญากรรม อันเกิดจากอาชญากรจำเป็นจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาทุจริตคดโกงอันเกิดจากอาชญากรโดยสันดานที่แสวงหาความร่ำรวยด้วยการทำธุรกิจสีเทา และเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ของบุคลากรในภาครัฐ
ในด้านการเมืองในปีเก่าที่ผ่านมา ก็ไม่แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาก่อนหน้านี้คือ บุคลากรทางการเมืองทั้งตัวนักการเมือง และนายทุนทางการเมืองมุ่งเน้นการแสวงหาอำนาจรัฐ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ และแสวงหาผลประโยชน์โดยการอ้างความทุกข์ของประชาชน และความจำเป็นของประเทศมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ
เมื่อปีใหม่เริ่มขึ้นและผ่านมาได้เกือบเดือนแล้ว ก็ไม่มีทีท่าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเชิงบวก ตรงกันข้าม ถ้าพิจารณาจากนโยบายและการสรรหาตัวผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคการเมืองแล้ว อนุมานได้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีแนวโน้มว่าจะแย่ไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกศาสตร์ดังนี้
1. บุคลากรทางการเมืองทั้งผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.และนายทุนของพรรคการเมือง ซึ่งอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบของธุรกิจการเมือง และมีการบริหารพรรคในรูปแบบของเผด็จการทุนนิยมคือ นายทุนคนเดียวสั่งการให้ ส.ส.ทุกคนในพรรคหันซ้ายหันขวาตามที่ตนต้องการ ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ทำงานภายใต้สมองกล
2. เท่าที่ได้ฟังนโยบายและสังเกตการสรรหาผู้สมัคร ก็ยังเป็นแบบเดิมคือ การใช้พลังเงินดูดบุคลากรทางการเมืองเข้าพรรคหรือยื่นข้อเสนอผลประโยชน์ทางการเมืองเช่น ตำแหน่งการบริหาร เป็นต้น รวมไปถึงการวิ่งเต้นย้ายพรรคเพื่อให้ตนเองมีโอกาสได้รับเลือกของผู้สมัครเองด้วย
3. ทางด้านประชาชน โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งในชนบทห่างไกลหรือแม้กระทั่งในชุมชนแออัดในเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่ยังเลือก ส.ส.โดยคำนึงผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับเฉพาะหน้า หรือหลงเชื่อในคำสัญญาว่าจะให้ถ้าได้รับเลือกตั้งในรูปแบบที่พรรคการเมืองใช้เป็นเหยื่อล่อ
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ อนุมานได้ว่า ประเทศไทยคงจะได้รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศ และได้ ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ รวมไปถึงการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน คงจะไม่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา