เงินไม่เข้าใครออกใคร อย่างที่คนหน้าเหลี่ยมแห่งดูไบได้พูดไว้ว่า แทบทุกคนมีราคา-ขึ้นอยู่กับจะจ่ายสูงเท่าใด (จึงจะจุใจคุ้มกับงานที่จะให้ทำ) เพราะมนุษย์ยังมีความต้องการสารพัดอย่าง เราไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่เป็นถึงลูกกษัตริย์ที่มีทุกอย่างตั้งแต่เกิดมา แต่ได้สละหมดทุกอย่างมาหาสัจธรรมแห่งการหลุดพ้น ซึ่งท่านเป็นสปีชีส์ที่หายากยิ่งคือ เงินซื้อไม่ได้
เมื่อวันจันทร์ (ที่ 12 ธันวา) ที่ผ่านมา เหล่าตำรวจคอมมานโดของเบลเยียมได้บุกเข้าค้นหาหลักฐานที่เมืองบรัสเซลส์ พร้อมหมายค้นในการค้นบ้าน ส.ส.สภายุโรปจำนวน 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นถึงรองประธานสภายุโรป (MEP) ชื่อ Eva Kaili ซึ่งเป็น ส.ส.หญิงอายุ 30 ปีที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประเทศกรีซ และเธอเป็น 1 ในรองประธานสภาที่มีทั้งหมด 14 คน เธอเป็น ส.ส.มาแล้วถึง 8 ปี (2 สมัย)...โดยข้อกล่าวหาคือ เธอรับเงินใต้โต๊ะเพื่อออกเสียงในสภา ที่มีกำหนดลงคะแนนกันในช่วงอาทิตย์นี้ เพื่อลงมติให้ประเทศกาตาร์มีเอกสิทธิ์พิเศษ ที่ประชาชนกาตาร์จะไม่ต้องขอวีซ่าในการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป
การบุกค้นตามที่พักและสำนักงานของ ส.ส. 4 คนนี้ เป็นการบุกค้นครั้งที่ 20 นับจากการจู่โจมบุกค้นเมื่อเช้าตรู่รุ่งสางของวันศุกร์ที่ 9 ธันวาฯ เพื่อเก็บหลักฐานให้ครบสำหรับการดำเนินคดีรับสินบนอันเป็นอาชญากรรม
อีก 3 คนเป็น ส.ส.จากประเทศอิตาลี (หนึ่งในนั้นเพิ่งพ้นวาระ ส.ส.แล้วยังป้วนเปี้ยนอยู่ที่บรัสเซลส์ โดยได้ก่อตั้งกลุ่ม NGO ด้านปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย และยังทำหน้าที่ล็อบบี้ยิสต์ในสภายุโรปด้วย)
ตำรวจพบเงินสดๆ เก็บไว้ในที่พักของทั้ง 4 คนจำนวนมาก ที่บ้านหลังหนึ่งพบถึง 6 แสนยูโร (ประมาณ 22 ล้านบาท); ที่ห้องพักของ ส.ส.คนหนึ่งพบเงินสดๆ 1.5 แสนยูโร (ประมาณ 1.2 ล้านบาท); ที่ห้องพักในโรงแรมของ ส.ส.คนหนึ่งพบกระเป๋าเสื้อผ้าจุเงินสดซ่อนไว้ในตู้เสื้อผ้ามูลค่า 1 แสนยูโร (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ยังกะที่พบของปลัดทรัพย์ล้อมของไทย!
ตำรวจได้ทำการอายัดเงินเหล่านี้ไว้ พร้อมหลักฐานในคอมพิวเตอร์ที่ขนออกมาจากบ้านพักเหล่านั้น ขณะเดียวกัน ก็ตั้งคดีสอบ ส.ส.ทั้ง 4 คน รวมทั้งได้อายัดเหล่าข้อมูลของพนักงานของสภาจำนวน 10 คน เพื่อไม่ให้ข้อมูลได้รั่วไหลอีกต่อไป
การบุกค้นยังกระทำทันท่วงที ที่ประเทศอิตาลีและกรีกมีการอายัดบัญชีของครอบครัวและคนรู้จักของ ส.ส.ทั้ง 4 คน เพื่อรวบรวมหลักฐานในคดีรับสินบนของคนทั้ง 4
ฝ่ายประธานสภาคือ นางRoberta Metsola (เป็น ส.ส.มาจากประเทศมอลตา) ได้สั่งพักการทำงานของรองประธาน Eva และ ส.ส.อิตาลีอีก 3 คนทันที
เธอให้ไฟเขียวกับการดำเนินคดีครั้งนี้อย่างรวดเร็ว เธอพูดว่า สิ่งนี้สะท้อนถึง “ประชาธิปไตยกำลังถูกโจมตีอย่างรุนแรง” คือ การซื้อเสียงโดยจ่ายใต้โต๊ะถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของระบอบประชาธิปไตย และต้องจัดการเพื่อนำความน่าเชื่อถือกลับมาสู่สภายุโรปอีกครั้ง
นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานกรรมาธิการยุโรป (หัวหน้าฝ่ายบริหารของอียู) ออกมาให้ไฟเขียวให้จับกุมดำเนินคดีจนถึงที่สุด เพื่อชะล้างการรับสินบนให้หมดสิ้นไป เธอไม่เหมือน “ตู่หาว” ที่ทำไม่รู้ ไม่ชี้ และไม่ยอมเปลืองตัวลงมาจัดการกับปัญหากรณีตู้ห่าว-ตู้เอทีเอ็มอันทรงพลังที่จ่ายหนักกับทุกคนที่ขวางหน้า
ไม่เพียงรองประธานสภา Eva Kaili (ซึ่งดูแลงานสภาครอบคลุมตะวันออกกลาง) จะถูกปลดออกทันที (เพราะหลักฐานหนาแน่นมาก) แต่พรรค Pasok (ซ้ายกลาง) ที่เธอสังกัดที่ประเทศกรีซ ก็ได้ถอดเธอออกจากสมาชิกของพรรคด้วย
ประเทศกาตาร์ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้จ่ายเงินใต้โต๊ะให้ ส.ส.เหล่านี้ (ใครจะออกมายอมรับล่ะ???) แต่หลักฐานผู้รับเงินดูจะเข้มข้นจนดิ้นไม่หลุด
น่าสังเกตว่า ส.ส.ทั้ง 4 คนนี้เป็นตัวแทนมาจากประเทศตอนใต้ของยุโรปคือ กรีซ และอิตาลี ไม่ใช่มาจากยุโรปเหนือ ซึ่งการรับสินบนใต้โต๊ะไม่ค่อยเกิดขึ้นเหมือนยุโรปใต้
สำหรับกาตาร์นั้น มีข้อสังเกตจากอดีตประธานฟีฟ่านายSepp Blatter ว่า การที่กาตาร์ชนะคะแนนเมื่อปี 2010 (จนได้เป็นประเทศเจ้าภาพแข่ง World Cup ในปี 2022 นี้) “เป็นความผิดพลาดมาก-It’s a mistake” และยังเปิดเผยด้วยว่า น่ามีการจ่ายใต้โต๊ะ (ต่อคณะกรรมการฟีฟ่าบางคน) เพื่อจะได้ชนะเป็นเจ้าภาพ หลักฐานคือ หลังจากกาตาร์ชนะ; ฝรั่งเศสสามารถขายอาวุธล็อตใหญ่ให้กาตาร์เป็นเงินก้อนโต ซึ่งเป็นสินบนที่ฝรั่งเศสลงคะแนนให้กาตาร์ชนะนั่นเอง
นายBlatter (ซึ่งตัวเองก็โดนคดีรับใต้โต๊ะแต่เพิ่งหลุดพ้นคดีมา) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ความจริงเขามีนโยบายขยายการแข่งขันไปยังทวีปและดินแดนใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กีฬาฟุตบอลได้ขยายตัวมากขึ้น แต่เมื่อเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพ...ด้วยอากาศที่ร้อนสาหัสกลางทะเลทราย (กาตาร์เป็นประเทศแรกกลางทะเลทรายที่จะได้เป็นเจ้าภาพ) ทำให้ต้องเลื่อนการแข่ง World Cup มาอยู่ถึงเดือนธันวาคม ซึ่งทำให้กระทบต่อตารางการแข่งฟุตบอลในยุโรปและตารางการแข่งขันกีฬาชนิดอื่นๆ อีก
นี่อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมทีมในทวีปแอฟริกาและในตะวันออกกลาง จึงชนะทีมเต็งหนึ่งในช่วงต้น เพราะอากาศที่กาตาร์ไม่เหมือนในประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นเจ้าภาพจัด!
การชนะเป็นเจ้าภาพจัดฟีฟ่านั้น มีเสียงนินทาถึงการซื้อเสียง ทั้งที่จัดที่แอฟริกาใต้ หรือที่รัสเซีย
และแม้แต่ IOC ก็มีซื้อเสียงจนถูกดำเนินคดีติดคุกกันก็หลายคน ที่สำคัญเช่นการแข่ง Winter Olympics 2002 ที่เมืองซอลต์เลก ซิตี รัฐยูทาห์ สหรัฐฯ
แต่ละครั้งที่เรื่องฉาวโฉ่เกิดขึ้น ก็มีการดำเนินคดีลงโทษกันถึงที่สุด และปรับปรุงกฎเกณฑ์การคัดเลือกให้โปร่งใสยิ่งขึ้น
แต่ถ้ามัวแต่ “ตู่หาว” หลับใหลปล่อยให้การจ่ายใต้โต๊ะงอกงามไม่มีการลงโทษตัวใหญ่ บ้านเมืองก็มีแต่จะเตี้ยลงๆ