สหรัฐฯ ไม่อาจกำหนดให้รัสเซียเป็น "รัฐสนับสนุนก่อการร้าย" เนื่องด้วยไม่เข้ากับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จากคำกล่าวอ้างของเบธ ฟาน ชาค เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของอเมริกา ด้านความยุติธรรมอาญาระหว่างประเทศ
ความคิดเห็นของเธอมีขึ้นในขณะที่รัฐสภาสหภาพยุโรป ยกมือเห็นชอบมติเรียกรัสเซียว่าเป็น "รัฐสนับสนุนก่อการร้าย" ในวันพุธ (23 พ.ย.)
ฟาน ชาค ระบุว่า "การระบุรัฐก่อการร้าย ในแง่ของคำนิยามตามกฎหมายของสหรัฐฯ มันยังไม่ใช่สำหรับรัสเซีย" ฟาน ชาค บอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่า ปัจจุบันวอชิงตันกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการกำหนดสถานะอื่นๆ ของรัสเซีย ที่จะเปิดทางสำหรับความเป็นไปได้ที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานมอสโกเพิ่มเติม
ความเห็นของ ฟาน ชาค อ้างว่าการตราหน้าดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เนื่องจากสหรัฐฯ "กำลังใช้มาตรการคว่ำบาตรของเราในระดับที่หนักหน่วงอยู่ก่อนแล้ว"
มติที่ไม่มีพันธะผูกพันของรัฐสภายุโรป ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 494 เสียง คัดค้าน 58 เสียง และงดออกเสียง 44 เสียง โดยในร่างมติเน้นย้ำว่า "การโจมตีของรัสเซียต่อประชากรพลเรือนของยูเครน และทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนของยูเครน เทียบเท่ากับอาชญากรรมสงครามและการก่อการร้าย"
ในร่างมติยังเรียกร้องบรัสเซลส์ จัดทำกรอบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่เปิดทางให้พวกเขาตราหน้าทั้งประเทศอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้สนับสนุนก่อการร้าย ในขณะที่เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ มติยังเรียกร้องให้โดดเดี่ยวรัสเซียในระดับนานาชาติอย่างครอบคลุม ในนั้นรวมถึงลดความสัมพันธ์ทางการทูตเพิ่มเติม และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่อย่างรวดเร็ว "การติดต่อกันระหว่างบรรดาผู้แทนอย่างเป็นทางการในทุกระดับกับรัสเซีย ควรคงไว้ในระดับที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น" ร่างมติเน้นย้ำ
เมื่อวันอังคาร (22 พ.ย.) ฟาน ชาค บอกว่าสหรัฐฯ ให้ความสนใจอย่างยิ่งในสิ่งที่ยุโรปกำลังจะทำ พร้อมระบุมติดังกล่าวถือว่ามีน้ำหนักอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เอกสารมติของรัฐสภายุโรปครั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากมันไม่ได้กำหนดพันธสัญญาทางกฎหมายใดๆ ต่อบรัสเซลส์
ในวันพุธ (23 พ.ย.) กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย โวยวายความเคลื่อนไหวของรัฐสภายุโรปที่กำหนดให้รัสเซียเป็น "รัฐสนับสนุนก่อการร้าย" โดยบอกว่ามันเป็นหนทางหนึ่งของตะวันตกใช้อ้างความชอบธรรมในมาตรการบีบบังคับแต่เพียงฝ่ายเดียว กับชาติต่างๆ ที่พวกเขามองเป็นศัตรู
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)