ในบรรดาพรรคการเมืองไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุด และมีรูปแบบบริหารจัดการพรรคเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เมื่อเทียบกับพรรคเฉพาะกิจหรือแม้กระทั่งพรรคที่อยู่ภายใต้การบงการของนายทุน
ถ้ามองย้อนไปในอดีตในยุคที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้การครอบงำของระบอบเผด็จการ พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทโดดเด่นในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ จึงเป็นพรรคที่โดดเด่นในฐานะเป็นพรรคฝ่ายค้านตลอดมา
แต่เมื่อระบอบเผด็จการอ่อนแอลง และมีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน โดยเฉพาะในช่วงปี 2544 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทในทางการเมืองน้อยลง เนื่องจากมีข้อด้อยในการต่อสู้ทางการเมือง จึงทำให้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง เสียที่นั่งในสภาฯ ให้แก่พรรคคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองภายใต้การดำเนินงานของระบอบทักษิณ นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้อนุมานได้ว่าน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
การต่อสู้ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปจากอดีตที่เคยต่อสู้กับระบอบเผด็จการ และปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในวงราชการ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทโดดเด่นในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันปัญหาที่ประชาชนคนไทยกำลังเผชิญมิได้จำกัดวงอยู่กับระบบและปัญหาทุจริตในวงราชการเฉกเช่นเมื่อก่อน แต่ปัญหาของประเทศและประชาชนได้ขยายวงไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น นโยบายของพรรคการเมืองจึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อเหตุการณ์ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเกี่ยวกับประเด็นนี้ดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์จะด้อยกว่าพรรคการเมืองคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองภายใต้การชี้นำของระบอบทักษิณ จึงทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมา ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
จากการที่พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียโอกาสทางการเมืองในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมานี้ ทำให้สมาชิกพรรคส่วนหนึ่งย้ายออกไปอยู่พรรคอื่น และล่าสุด ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี คนเก่าคนแก่ของพรรคได้ประกาศลาออกไป
จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ตลอดเวลาที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากคนเก่าคนแก่ซึ่งอยู่กับพรรคมาคนละหลายปีได้ย้ายออกไปอยู่พรรคอื่น ทำให้เกิดข้อกังขาว่า อะไรเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนในฐานะที่นิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์ และได้ลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นทั้งวิกฤต และโอกาส ส่วนจะเป็นประเด็นใดนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ถ้าคนเก่าที่ลาออกไป มีความสำคัญต่อเนื่องจากเป็นคนเก่งและเป็นคนดี ถ้าลงเลือกตั้งแล้วมีโอกาสได้รับเลือก และพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถหาคนใหม่มาทดแทนคนเก่าได้ก็จะเป็นวิกฤตแน่นอน
2. ถ้าคนเก่าที่ออกไปไม่มีความสำคัญต่อพรรค เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติโดดเด่นเพียงพอที่จะช่วยกอบกู้พรรคได้ และพรรคสามารถหาคนใหม่มาทดแทนได้ดีกว่าก็เป็นโอกาส
ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่คนเก่าลาออกจากพรรคในครั้งนี้จะเป็นวิกฤตหรือโอกาสขึ้นอยู่กับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้เป็นปัจจัยสำคัญมิได้ขึ้นอยู่กับการออกไปของคนเก่าและการเข้ามาของคนใหม่
นอกจากการออกไปของคนเก่า และการเข้ามาของคนใหม่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านนโยบายอันเป็นเสมือนสินค้าทางการเมืองจะนำมาขายในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะชนะการเลือกตั้ง นอกจากหาคนใหม่มาทดแทนคนเก่าที่มีศักยภาพแล้ว การจัดทำนโยบายก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน อย่าคิดแบบเก่าทำแบบเก่า ซึ่งไม่ต่างกับสินค้าตกยุคขายไม่ออก เนื่องจากไม่สนองความต้องการของประชาชน แต่จะคิดใหม่ ทำใหม่ หรือนำของเก่ามาต่อยอดให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาความยากจนของเกษตรกรรายย่อย และผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น