xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยควรมีค่ามาตรฐานควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์



ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


อาจกล่าวได้ว่าทุกวันนี้คำว่า PM2.5 กลายเป็นวลีเด็ดติดหูคนไทยนับตั้งแต่เกิดปัญหาวิกฤตคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ทั้งที่ปัญหาคุณภาพอากาศนั้นเรื้อรังมานานนับสิบปีในหลายพื้นที่ของประเทศเช่นภาคเหนือตอนบนในช่วงฤดูหนาว ภาคอีสานในช่วงฤดูแห่งการเผาเศษชีวมวลทางการเกษตร ไม่รวมถึงมลพิษข้ามพรมแดนซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงปีที่ปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Niño) รุนแรงสอดคล้องกับสภาพปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดปัญหาหมอกควันมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปรากฏการณ์ PM2.5 ได้สร้างกระแสความตื่นตัวในการทวงคืนสิทธิในการหายใจอากาศบริสุทธิ์จากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม แวดวงวิชาการ แม้กระทั้งภาคธุรกิจการเกษตร ธุรกิจการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมก็ไม่พลาดที่จะร่วมทัวร์ไปกับขบวนรถไฟ PM2.5 ท่ามกลางกระแสการตื่นรู้ถึงภัยจากมัจจุราชเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดซึ่งเราต้องจำทนสัมผัสอยู่กับมันในทุกลมหายใจ หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านงานวิจัยต่างทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 เสมือนหนึ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้ขบวนหัวรถจักร PM2.5 ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วรุนแรง อย่างไรก็ตามคำถามที่อยู่ในใจนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนรวมทั้งตัวผมเองคือ “ชานชาลาสุดท้ายของขบวนรถไฟนี้อยู่ที่ไหน?” หากเป้าหมายสุดท้ายคือการที่คนไทยทุกคนได้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ตราบใดที่เรายังไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของปัญหาคือการควบคุมแหล่งกำเนิด เราจะไปถึงเป้าหมายสุดท้ายนี้ได้อย่างไร?

เพราะ … ต่อให้คนไทย 60 กว่าล้านคนมีเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตัวตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อากาศก็ยังสกปรกเหมือนเดิม หากการควบคุมแหล่งกำเนิดไร้ซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ต่อให้เรารู้ว่าแต่ละแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 มีสัดส่วนเท่าไหร่ แต่ถ้ากฎระเบียบของแต่ละกระทรวงยังมีความขัดและย้อนแย้งกันเอง ปัญหาฝุ่นจะได้รับการแก้ไขได้อย่างไร?

และที่สำคัญ ต่อให้เรามีค่ามาตรฐานในการควบคุมฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับนานาอารยะประเทศ แต่หากยังไร้ซึ่งค่ามาตรฐานในการควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ แล้วประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่า พื้นที่อยู่อาศัยของตนเองนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากน้อยเพียงใด?

ย้อนกลับไปเกือบ 20 กว่าปีที่แล้ว สมัยผมไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ด้านองค์ประกอบของสารก่อมะเร็ง โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือที่เรียกกันย่อๆว่าสาร พีเอเอช (PAHs) ในฝุ่น PM10 ของชั้นบรรยากาศของเมืองเบอร์มิงแฮมประเทศอังกฤษ ทางรัฐบาลอังกฤษได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช กันไว้ก่อนหน้าหลายปีแล้ว โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุณภาพอากาศแห่งสหราชอาณาจักร (The UK Expert Panel on Air Quality Standards: EPAQS) ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานในชั้นบรรยากาศของสาร เบนโซเอไพรีน (Benzo[a]pyrene) ซึ่งจัดเป็นสาร พีเอเอช ที่มีความเป็นพิษในการก่อให้เกิดมะเร็งสูงสุด ไว้ไม่ให้เกิน 0.25 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US-EPA) กำหนดไว้ที่ 1.0 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไว้เกือบสี่เท่า

นอกจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และ องค์การอนามัยโลกแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่ได้กำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ไว้อย่างชัดเจนเช่น เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ กำหนดค่าเบนโซเอไพรีนในชั้นบรรยากาศไม่ให้เกิน 0.5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ โครเอเชีย ฝรั่งเศส และ เยอรมนี กำหนดไว้ที่ 0.1 0.7 และ 1.3 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ แม้แต่ อินเดีย ประเทศที่มีภาพลักษณ์เชิงลบด้านมลพิษทางอากาศและมักจะเป็นข่าวของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพอากาศแย่ติดอันดับต้นของโลก ก็ยังมีค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็ง โดยกำหนดให้ค่าเบนโซเอไพรีนในชั้นบรรยากาศไม่เกิน 5 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ข่าวดีคือทางกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ประกาศปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของประเทศใหม่ ลงมาอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศเทียบเท่ายุโรปและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่จะดีกว่าด้วยหรือไม่ หากทาง คพ. จะมีการพิจารณากำหนดค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ เพื่อเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับชาวไทยและลูกหลานของพวกเราทุกคนที่ต้องสูดอากาศหายใจบนผืนแผ่นดินแห่งนี้?


กำลังโหลดความคิดเห็น