xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อโตโน่ถูกสามกีบค่อนแคะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่แปลกแทนที่จะเห็นคนทำความดีเพื่อสังคมควรจะยกย่องกลับต่อว่า กระแหนะกระแหนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำซึ่งเราเคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดกับตูน อาทิวราห์ คงมาลัย และล่าสุดกับโตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ที่ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเอาเงินมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว

เสียงติฉินเหล่านั้นออกมาจากฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยหรือที่เรียกขานกันว่าฝั่งสามนิ้วหรือสามกีบ

คำว่าสามกีบเป็นคำหมิ่นแคลนไหม ก็ไม่นะเหมือนกับคำว่าสลิ่มที่คนพวกนี้ใช้เรียกฝ่ายที่มีความคิดทางการเมืองไม่เหมือนกับตัวเอง แล้วพวกเขาอธิบายกันว่า สลิ่มเป็นพวกที่ไม่มีความคิดหรือใช้ความคิดเชิงเหตุและผลไม่เป็น วันนี้สามกีบไม่ใช่มีแค่คนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่มีผู้เฒ่าจำนวนไม่น้อยที่ทำตัวเป็นสามกีบ

พวกนี้พยายามบอกว่าคนที่สนับสนุนกิจกรรมแบบนี้นั้นเป็นพวกตื้นเขินเพราะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ถ้าอุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลนก็เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องจัดสรรมาไม่ใช่ให้ประชาชนหรือดาราออกมาเรี่ยไรเงิน

นั่นแสดงว่าสายตาของคนเหล่านี้มองว่าประชาชนอยู่ภายใต้ปกครองของรัฐและผู้มีอำนาจที่จะต้องเข้ามาดูแล การที่ประชาชนที่มีศักยภาพจะทำกิจกรรมช่วยสังคมและประเทศชาตินั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว

ความคิดนี้ถูกต้องหรือ คิดว่าไปถามใครทั่วโลกเขาก็ขบขัน เพราะกิจกรรมช่วยสังคมนั้นเขาทำกันทั่วโลกไม่ว่าจะในประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้กระทั่งประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดีก็ยังมีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้น มีองค์กรการกุศลทั่วโลกที่เขารับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสังคม กิจกรรมแบบนี้เป็นกิจกรรมที่ควรจะติฉินค่อนแคะในสายตาของสามกีบไทยไปได้อย่างไร

การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่จำเป็นแน่นอนครับ แต่ก็เป็นหน้าที่ที่ผู้มีอำนาจต้องกระทำไป ซึ่งถามว่า ระบบสาธารณสุขบ้านเราถูกปล่อยให้ล้าหลังก็ไม่ใช่อีก เพราะระบบสาธารณสุขของเรานั้นโลกเขาจัดอันดับให้เป็นระบบสาธารณสุขที่ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก เหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่ได้ชื่อว่ามีรัฐสวัสดิการที่ดีหลายประเทศเลย

การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศก็ว่าไป แต่ถ้าประชาชนคนหนึ่งลุกขึ้นมาเพื่อจะช่วยแบ่งเบารัฐและสังคมไม่ใช่สิ่งที่ควรยกย่องเช่นนั้นหรือ

เราคงได้ยินคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่าพวกสามกีบเรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่ถามหน่อยว่ารัฐจะเอาเงินมาจากไหนมาสร้างรัฐสวัสดิการ ในเมื่อประเทศนี้มีคนเสียภาษีเงินได้แค่ 3.9 ล้านคนจาก 70 ล้านคน สิ่งที่ไปเรียกร้องบนถนนว่า “ภาษีเราๆ” นั้นที่แท้เป็นเพียงการเสียภาษีแวตเท่านั้นเอง

กรณีของโตโน่นั้นมีดรามาตั้งแต่เรื่องค่อนแคะว่า “หนึ่งคนว่ายหลายคนเป็นภาระ” พูดกันว่าเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณของรัฐที่ถูกนำไปช่วยในภารกิจนี้ แต่เมื่อถูกชี้แจงว่า ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐเลย แต่เป็นความเต็มใจของหน่วยงานในจังหวัดนครพนมที่ลงไปช่วยเพราะกิจกรรมนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดนครพนม ก็มีดรามาต่อมาว่า เป็นการสิ้นเปลืองเวลาราชการ

ถามว่าการที่หน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยประชาชนที่ทำประโยชน์ให้กับราชการและสังคมส่วนรวมนั้นเป็นเรื่องไม่ควรสนับสนุนหรือ หรือนี่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐหรือ หรือว่ารัฐมีหน้าที่จะปกครองเราอย่างเดียว ในต่างจังหวัดเวลามีงานบุญ งานแต่งหรืองานศพหน่วยงานรัฐไม่ว่า อบต.หรือเทศบาลก็ลงไปช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั้งนั้น และกรณีของโตโน่เป็นเรื่องที่จังหวัดได้ประโยชน์เต็มๆ การลงไปช่วยอำนวยความสะดวกจะแปลกตรงไหน

หรือบางคนบอกว่าเป็นการเสี่ยงอันตราย แต่เมื่อมีการเตรียมการปกป้องกันอย่างดี ทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตทีมงานที่ทุกคนน่าจะมีความสุขในการร่วมกิจกรรมก็กลับถูกค่อนแคะอีกไหนบอกว่าหนึ่งคนว่าย หรือบอกว่าไม่ได้ว่ายแต่เป็นการลอยน้ำ เป็นต้น ถ้าอย่างนั้นโตโน่ควรจะว่ายตามลำพังไม่ต้องหยุดไม่ต้องมีอุปกรณ์หรือทีมงานช่วย ไม่ต้องคำนึงถึงชีวิตจึงจะถูกต้องในสายตาของฝ่ายที่ค่อนแคะเช่นนั้นหรือ

หรือหมอคนหนึ่งบอกว่า ต่อให้โตโน่ว่ายน้ำเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคเป็น 1,000 ล้านบาท หมอพยาบาลเขาก็เหนื่อยเหมือนเดิม คำพูดนี้ฟังดูเหมือนจริง แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่า อาชีพหมอพยาบาลที่ไหนก็ต้องเหนื่อยทั้งนั้น แต่การที่คนหนึ่งเห็นว่าหมอพยาบาลเหนื่อยแล้วอยากจะช่วยหาอุปกรณ์มาสนับสนุนมันไม่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไปได้อย่างไร

ได้ยินเหมือนกันว่าที่สามกีบหรือฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเพราะโตโน่เคยออกไปเป่านกหวีด ถ้าอย่างนั้นถามว่าเสรีภาพและการเคารพความเห็นต่างของฝ่ายสามกีบอยู่ตรงไหน หรือไม่รู้จักแยกแยะระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับการกระทำความดีเพื่อสังคม เหมือนกำลังบอกว่า ถ้าใครมีความคิดทางการเมืองต่างกับเราคนนั้นเป็นคนเลวไม่ว่าจะทำดีเพื่อสังคมเพียงไหนก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

แต่ถ้าเราติดตามพวกสามกีบ เราจะเห็นว่าการติฉินดูถูกค่อนแคะคนที่ทำความดีเพื่อสังคมนั้น อาจจะไม่ใช่ที่สุดของที่สุดของพวกเขา เพราะบรรดานักวิชาการฝ่ายเขายังสอนด้วยว่า อย่ามองครูบาอาจารย์เป็นผู้มีพระคุณ เพราะเป็นอาชีพที่ได้เงินจากพวกเรา หรือบอกว่า เด็กๆ ไม่ได้ขอให้เกิดมานะ พ่อแม่เป็นคนทำเขาเกิดมา เป็นหน้าที่เราต้องเลี้ยงเขาให้ดี ไม่ใช่หน้าที่เขาต้องมากตัญญู

ไม่เพียงแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์นะแม้แต่ศาสนา ศาสดาของพวกเขาอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็บอกว่าทุกคนมีพระเจ้าของตัวเอง แล้วคุณก็คุยกับพระเจ้าของคุณเองได้โดยไม่ต้องผ่านวัด โบสถ์ หรือมัสยิด คุณคุยกับพระเจ้าของตัวคุณได้ แม้กระทั่งระหว่างการวิ่ง คุณก็คุยกับพระเจ้าได้ คุณไม่ต้องไปตักบาตร ไปมิสซา หรือละหมาดเพื่อจะคุยกับพระเจ้า สิ่งที่ผมเชื่อก็คือศรัทธาทางศาสนาควรจะเป็นศรัทธาที่เปิดกว้าง และไม่ควรมีวัดหรือศาสนา หรือองค์กรใดมาบังคับหรือเชิดชูความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มากกว่าความเชื่ออื่นๆ

แต่ที่เราเข้าใจกันก็คือ ไม่ว่าศาสนาไหนก็ล้วนแต่สอนให้เราทำดี แต่วันนี้การทำดีในทัศนะของคนที่เรียกว่าสามกีบกลายเป็นสิ่งที่จะต้องติฉินและค่อนแคะคงมาจากการถูกปลูกฝังไม่ให้ศรัทธาต่อศาสนาใดๆ นี่เอง

หรือที่ธนาธรสอนพวกเขาว่า “ไม่ต้องหมอบกราบพระเจ้าองค์ไหน หรือบริจาคเงินให้ผู้วิเศษองค์ใด อนาคตของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอยู่ที่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

คงเป็นเช่นนี้เองที่การทำความดีเพื่อสังคมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสายตาของพวกเขา

ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตข้างหน้าที่พวกเขาเติบใหญ่ขึ้นมาดูแลสังคม พวกเขาจะนำพาประเทศชาติไปทางไหน

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น