เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงชาวบ้านก็จะรู้แล้วว่าท่านห้าวเป้งจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่ หรือว่าจะต้องไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอยู่มาครบ 8 ปีแล้ว
เป็นการนับถอยหลังที่น่าระทึกใจ เพราะเป็นการตัดสินชะตากรรมของบ้านเมือง ความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ ระบบนิติรัฐ นิติธรรม
เป็นเดิมพันความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย
อันที่จริง ถ้าท่านห้าวเป้งได้กลับมา ก็จะอยู่ถึงวันเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปีหน้า และจะอยู่ต่อจากนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคใดจะส่งเป็นคู่ชิง
หมายความว่าจะต้องมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญอีกว่าท่านห้าวเป้งจะอยู่เป็นนายกฯ ได้อีกกี่ปี ถ้ายังไม่ครบ 8 ปีวันที่ 24 สิงหาคมปีนี้
แต่ถามว่าท่านห้าวเป้งยังมีคุณค่าอะไรเหลืออยู่ในสายตาของชาวบ้านทั่วไป ภาคธุรกิจอีกหรือไม่ เว้นแต่พวกกองเชียร์หรือติ่งของท่าน
นับตั้งแต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงานเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม เวลาล่วงเลยมากว่า 1 เดือน ลุงป้อมอยู่ในสายตาของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวในกิจกรรมอะไร
แม้ท่านห้าวเป้งจะโผล่เข้าร่วมประชุม ครม.ผ่านวิดีโอ ก็ไม่มีความหมายอะไร ไปเยือนชาวบ้าน ดูแลเรื่องน้ำท่วม ก็ไม่ได้สร้างกระแสตื่นเต้นแต่อย่างใด
ระยะเวลาที่ผ่านไป ได้ตอบคำถาม ข้อสงสัยที่ว่า “ถ้าไม่เอาลุงตู่แล้วจะเอาใคร” เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าไม่มีท่านห้าวเป้ง บ้านเมืองก็อยู่ได้
ไม่มีความขัดแย้งรุนแรง สุขภาพจิตของประชาชนส่วนหนึ่งอาจดีขึ้นก็ได้
ถ้าท่านห้าวเป้งได้กลับมา ความขลังในอำนาจ วาสนา บารมีจะเหมือนเดิมหรือไม่ ที่ผ่านมาระดับความมีสง่าราศี โหงวเฮ้งดูขาดประกายไปมาก
ท่าทางการเดินเหินขาดความมั่นใจไปเยอะ การกลับมายังจะเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นของชาวบ้านและภาคธุรกิจได้อีกหรือ ที่ผ่านมา 8 ปี ผลงานเป็นอย่างไร ชาวบ้านที่ติดตามข่าวสาร ก็รู้เรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้ประเทศ ฯลฯ
ถ้ากลับมาเพื่องานใหญ่ การประชุมเอเปก ก็จะเสริมบารมี หรือปัญหาด้านภาพลักษณ์ของประเทศหรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่แน่ๆ คือ ผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดนไม่มา
นายห้างกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีมาแทน การประชุมเอเปกคงกร่อยไปมาก ถ้ายิ่งผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และผู้นำจีน สี จิ้นผิงไม่มาด้วยแล้ว งานเอเปกแทบไม่เหลืออะไรให้เป็นสาระสำคัญ
เพราะทั้ง 3 ผู้นำชาติมหาอำนาจคือสมการหลักของความเป็นไปในโลกขณะนี้และอนาคตว่าจะมีวิกฤตความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงในภาคเศรษฐกิจ การเมือง และไปถึงขั้นการเผชิญหน้าเป็นสงครามโดยตรงหรือไม่
เป็นสภาวะที่อาจเกิดสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ จากความขัดแย้งในยุโรป และระหว่างจีนกับไต้หวันซึ่งมีสหรัฐฯ ถือหางอยู่ และพยายามจะให้เป็นยูเครน 2
ทุกวันนี้ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็มีการพูดถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์แล้ว พูดกันหลายครั้งจนแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาว่าเป็นเหตุที่จะเกิดขึ้นได้
การประชุมเอเปก ถ้า 3 ผู้ยิ่งใหญ่มาพบกัน สถานการณ์จะดี หรือเลวร้ายเพราะการปะทะคารมกันก็ไม่รู้ แต่เมื่อไบเดนไม่มา ความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้น
ปูตินจะมาหรือเมื่อการเดินทางจะไกลจากมอสโก ความไม่แน่นอนด้านการเมือง การประท้วงในประเทศ ความจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์
รวมถึงความปลอดภัยส่วนตัวด้วย ส่วนผู้นำจีนยิ่งมีข่าวลือว่าโดนยึดอำนาจ ต้องรอดูว่าวันชาติจีน 1 ตุลาคม หรือก่อนหน้านั้น จะปรากฏตัวเพื่อสยบข่าวลือมั้ย
อย่างว่านั่นแหละ ถ้าขาดทั้ง 3 ผู้ยิ่งใหญ่ผู้กุมชะตากรรมโลก การประชุมเอเปกแทบไม่มีอะไรที่โลกจะให้ความสนใจ นอกจากกิจกรรม การเจรจาระหว่างผู้นำบางประเทศ ที่มาพบกัน และหาโอกาสคุยกัน
ก่อนวันที่ 30 เดือนนี้ เรายังไม่รู้ว่าใครจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเป็นประธานที่ประชุมเอเปก ซึ่งเป็นงานที่ท่านห้าวเป้งมุ่งหวังจะสร้างชื่อ แวดล้อมโดยผู้นำ 21 ชาติ
ถ้าท่านห้าวเป้งไม่รอด ก็ยังสงสัยอยู่ว่าใครจะเป็นประธาน ลุงป้อมจะได้อยู่รักษาการ หรือมีกระบวนการสรรหานายกฯ คนใหม่โดยรัฐสภา หน้าที่เป็นของท่านชวน หลีกภัย คัดเอาจากผู้มีสิทธิที่เหลือจริงๆ เพียง 3 คน
นี่คือความไม่แน่นอนของงานเอเปก ว่าใครจะเป็นตัวแทนของไทยเป็นประธาน และท่านปูติน สี จิ้นผิงจะมาหรือไม่
ต้องดูว่าปูตินจะไปร่วมงานประชุมจี 20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพก่อนงานเอเปกหรือไม่ เพราะโจ ไบเดนจะไปร่วม จากนั้นกลับบ้านไปงานแต่งงานหลานสาว
ไม่สนใจที่จะมาร่วมงานเอเปก ไม่ให้ราคามากกว่างานแต่งงานหลานสาว
นี่แหละ วันที่ 30 ตุลาคม จะเป็นตัวกำหนดหลายอย่างสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในบ้านเรา ถ้าท่านห้าวเป้งกลับมา ย่อมมีม็อบสารพัดรอต้อนรับเพราะไม่มีประกาศภาวะฉุกเฉินป้องกัน เมื่อลุงป้อมตัดสินใจยกเลิกไปแล้ว
ความรู้สึกโหวงเหวงน่าจะมี เพราะหลายม็อบรออยู่ แม้แต่วันที่ 30 ก็มีม็อบหลอมรวมของทนายนกเขาและตู่ จตุพรจัดรอที่สี่แยกราชประสงค์
สถานการณ์ดูไม่สวยสำหรับท่านห้าวเป้ง รับรองได้ว่าเป็นสายล่อฟ้าเรียกม็อบได้จนถึงวันเลือกตั้งแน่ๆ ยิ่งไม่รู้ว่าจะได้อยู่ต่ออีกหรือไม่หลังเลือกตั้ง ก็ยิ่งต้องลุ้น
เว้นแต่ว่า ถ้ารอดจากวันที่ 30 แล้วประกาศลาออก จะมีความสง่างามบ้าง แต่ความอยากอยู่ต่อน่าจะมีอิทธิพลเหนือกว่า ไม่อย่างนั้นจะดันทุรังสู้คดีทำไม