xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

คดีปกครองที่ภาคธุรกิจและประชาชนควรรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อนุรักษ์ นิยมเวช



อนุรักษ์ นิยมเวช 
กรรมการผู้จัดการ 
ANURAK BUSINESS LAW
anurak@anurakbusinesslaw.com


นอกจากคดีแพ่งซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว ยังมีคดีอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญเรียกว่าคดีปกครอง โดยในที่นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเภทของคดีปกครองที่ประชาชนสามารถเป็นฝ่ายใช้สิทธิฟ้องร้องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลปกครองที่มีเขตอำนาจได้ภายใต้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1)) ไม่ว่าจะเป็นการนิติกรรมทางปกครอง เช่น การออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลบังคับทั่วไป หรือการออกคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งอนุญาต คำสั่งลงโทษทางวินัย คำสั่งอนุมัติต่างๆ รวมทั้งการปฏิบัติการหรือกระทำทางกายภาพ เช่น การก่อสร้างสะพานหรือถนนหนทาง เป็นต้น

การฟ้องคดีประเภทนี้ก็เพื่อขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

2. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)) ตัวอย่างเช่น กรณีที่ประชาชนไปยื่นคำขออนุญาตหรือขอจดทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ยอมพิจารณาคำขอโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือดำเนินการล่าช้าเกินสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยไม่ยอมรื้อถอนป้ายที่ก่อสร้างโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

คดีประเภทนี้เป็นการฟ้องขอให้ศาลปกครองสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลจะกำหนด

3. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)) เช่น หน่วยงานของรัฐทำถนนสาธารณะรุกล้ำเข้าไปในที่ดินเอกชนอันเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินได้รับความเดือดร้อนเสียหาย การออกคำสั่งทางปกครองโดยมิชอบเป็นเหตุให้ผู้รับคำสั่งได้รับความเสียหาย เป็นต้น

การฟ้องคดีประเภทนี้จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอเรียกค่าเสียหายหรือเยียวยาความเสียหายจากการละเมิด โดยหากเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายก็อาจฟ้องหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดได้โดยตรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4)) เช่น สัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ เช่น สัญญาว่าจ้างเอกชนก่อสร้างถนนสาธารณะ หรือสัญญาจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น อุปกรณ์สัญญาณไฟจราจร เป็นต้น

การฟ้องคดีประเภทนี้จะเป็นการฟ้องขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้คู่สัญญาใช้เงิน ส่งมอบทรัพย์สิน หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อเยียวยาความเสียหายจากการผิดสัญญาหรือเพื่อปฏิบัติตามสัญญา

5. คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6)) เช่น กรณีที่ผู้ถูกเวนคืนที่ดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562ไม่พอใจเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ตนมีสิทธิได้รับและได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีแล้ว หากผู้ถูกเวนคืนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี ก็ให้สิทธิแก่ผู้ถูกเวนคืนที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

จะเห็นได้ว่าคดีปกครองแต่ละประเภทข้างต้นนั้น มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชนจากการใช้อำนาจหรือการกระทำของรัฐที่มิชอบเป็นสำคัญ ในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่อาจถูกละเมิดหรือเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐได้ทุกเมื่อ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่เราจะศึกษาคดีปกครองไว้บ้าง

การฟ้องคดีปกครองนั้น โดยทั่วไปก็จะต้องเริ่มต้นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ ได้แก่ ศาลปกครองกลาง (ถนนแจ้งวัฒนะ) และศาลปกครองในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมี 14 แห่ง ในกรณีที่คู่ความประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ก็ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหมายความว่าการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองนั้นจะมีเพียง 2 ชั้นศาลเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น