ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้พิพากษายกฟ้องคดี ม.112 ซึ่งจำเลยได้ไปคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่คุ้มครองกษัตริย์องค์ก่อน แต่ตัดสินพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 8 เดือน โดยฐานความผิด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากการที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่าทรงเกี่ยวข้องกับกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จริง
ดังที่มีการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ประชาไทเอาไว้ว่า
“แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ครอบคลุมถึงพระมหากษัตริย์องค์ก่อน การกระทำของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” โปรดดูได้จาก https://prachatai.com/journal/2022/03/97865
ประเด็นนี้ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนทั่วไปที่จงรักภักดีว่า ต่อไปนี้จะเกิดการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กันอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน เพราะแม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะไม่เสด็จอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่รักและศรัทธาของปวงชนชาวไทยเป็นจำนวนมากและมีผลกระทบกระเทือนจิตใจของอาณาประชาราษฎรที่จงรักภักดีแม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีผู้รู้ทางกฎหมายก็สงสัยในว่าทำไมศาลชั้นต้นจึงพิพากษากลับแนวฎีกาในอดีตที่เคยวินิจฉัยว่าการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอาญามาตรา 112
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่องค์คณะที่พิพากษาคดีนี้ จำเป็นต้องได้พิจารณาอ่านสำนวนฟ้องของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคำสั่งฟ้องของอัยการจังหวัดสมุทรปราการ สังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบกัน แต่เนื่องจากไม่อาจจะหาเอกสารดังกล่าวได้ ผู้เขียนจึงไม่อาจจะวิจารณ์ล่วงเกินคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ แต่จะได้ทดลองยกร่างเขียนสำนวนฟ้องในคดี หากต้องเขียนสำนวนและทำความเห็นสั่งฟ้องคดีหมิ่นในหลวง ร.9 ดังนี้
การที่จำเลยได้แสดงความคิดเห็นในทำนองว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ด้วยถ้อยคำหยาบคายมาก ถือเป็นการลบหลู่พระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเป็นการกระทำความผิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า “มาตรา ๖ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ทั้งนี้การใช้คำพูดหยาบคายและแสดงความคิดเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ย่อมมิใช่การแสดงความคิดเห็นอันสุจริต และไม่เป็นไปตามฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะขององค์พระมหากษัตริย์ และเป็นการละเมิดองค์พระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าเป็นทั้งการหมิ่นประมาทและการดูหมิ่น สองมูลฐานความผิด หมิ่นประมาทเพราะเป็นการใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปราศจากหลักฐานที่จะพิสูจน์ชี้ชัด และดูหมิ่นเพราะมีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ล่วงละเมิดในหลวงรัชกาลที่ 9
อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ.2560 อันเป็นต้นธารของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่ากฎหมายทั้งสองมาตรานี้คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ที่มิได้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในขณะเกิดเหตุหรือไม่
ทั้งนี้ในหนังสือความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้อธิบายเจตนารมณ์ของมาตรา 6 เอาไว้ว่า “บทบัญญัติลักษณะนี้ ได้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (มาตรา 3) และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ซึ่งหมายความรวมทั้งพระมหากษัตริย์ ในฐานะส่วนพระองค์และพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ อันเป็นการสืบทอดหลักการการรับรองพระราชสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของชาติ ซึ่งผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้”
คำว่า The person of the King หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงดำรงสถานะพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในเวลาใดก็ตามในฐานะส่วนพระองค์ก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขแห่งรัฐเมื่อทรงทำหน้าที่ ข้อนี้ย่อมแตกต่างจากบทบาท (Role) หน้าที่ (Duty) ในตำแหน่งอื่นๆ เช่น คนที่เป็นอธิบดีก็เป็นอธิบดีเพียงแค่ในเวลาที่ทำงาน นอกเหนือเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เป็นอธิบดีตลอด 24 ชั่วโมง ต่างกับ The person of the King เป็นสถานะ (Status) ซึ่งทรงดำรงสถานะองค์พระมหากษัตริย์ทั้งในเวลาส่วนพระองค์และในฐานะประมุขแห่งรัฐด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามมีพระบรมราชโองการในประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน ได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 6 ย่อมหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย (The King as an institution) ดังใจความตอนหนึ่งว่า
“อนึ่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรง อยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้อง พระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินีพระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ดังนั้นพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
พระบรมราชโองการ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลำดับศักดิ์ของกฎหมายเท่าเทียมกับพระราชบัญญัติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้เป็นพระราชอำนาจเกี่ยวกับราชการในพระองค์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่ประการใด ดังนั้นประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงมีฐานะเป็นกฎหมายที่อธิบายเจตนารมณ์ของมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเหตุให้มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ย่อมคุ้มครองทั้งองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้หมายรวมถึงพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ด้วย
เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมหมายถึงการร้อยเรียงสืบทอดราชสันตติวงศ์แห่งพระมหาบรมราชจักรีวงศ์นับตั้งแต่ปฐมกษัตริย์คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มาจนกระทั่งถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และหมายรวมถึงพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ด้วย ดังนั้นเมื่อมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้รวมทั้ง The person of the King และ The King as an institution และโดยที่มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญามี มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เป็นต้นธาร และกฎหมายอื่นใดจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาย่อมคุ้มครองทั้งองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งย่อมต้องรวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน
ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกา 6374/2556 (องค์คณะผู้พิพากษา นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, นายพศวัจณ์ กนกนาก) ได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และอดีตพระมหากษัตริย์ดังนี้
"ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้"
เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและคุ้มครององค์รัฏฐาธิปัตย์ (sovereignty) อีกด้วย หากกฎหมายสำหรับบุคคลธรรมดาใดได้รับสิทธิคุ้มครองแล้วไซร้ กฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงย่อมต้องให้ความคุ้มครองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพื่อให้เกิดหลักการได้สัดส่วนกันของกฎหมาย (Proportionality) ไม่เกิดความลักลั่น
ดังนั้นการกล่าวหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเป็นพระราชบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ย่อมถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อบุคคลธรรมดาได้รับความคุ้มครองในการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบิดามารดา ดังนั้นองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์ย่อมต้องทรงได้รับการคุ้มครองจากการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระราชบิดาหรือพระราชมารดาด้วยเช่นเดียวกัน และเนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง บทลงโทษจึงหนักกว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ดังนั้นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ จึงเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112