xs
xsm
sm
md
lg

เงินและทอง : สิ่งต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ภิกษุฉัพพัคคีย์ ทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ (ทอง เงิน หรือสิ่งของที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนทองเงินที่กำหนดให้ใช้ได้ในที่นั้น) มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียน ว่าทำเหมือนคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติสิกขาบทห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด จึงมีประเพณีถวายปัจจัย พระไตรปิฎกสำหรับประชาชนย่อความจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 45 โดยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

โดยนัยแห่งสิกขาบทนี้ จะเห็นได้ว่านักบวชในพระพุทธศาสนาไม่สามารถรับเงินหรือสิ่งของใช้แทนเงินได้ จึงได้มีการมอบหมายให้ไวยาวัจกรดูแลเงินทองที่ผู้ใจบุญถวายและจัดหาปัจจัย 4 มาถวายแก่พระภิกษุตามความจำเป็นในการดำรงชีพอันควรแก่สมณสารูป

แต่ในปัจจุบันสิกขาบทนี้มิได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเท่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้จากพระภิกษุบางพวกบางหมู่รับเงิน และเก็บไว้ในครอบครอง จับจ่ายใช้สอยด้วยตนเอง และบางพวกบางหมู่ ปฏิบัติตามพระวินัยข้อนี้อย่างเคร่งครัดไม่รับเงิน และไม่ครอบครองเงินไว้กับตนเอง แต่ได้มอบหมายให้ไวยาวัจกรดำเนินการแทนตนเอง เมื่อต้องการปัจจัย 4 อันควรแก่สมณบริโภคก็บอกกับไวยาวัจกร

ด้วยเหตุที่คณะสงฆ์ไทยถือปฏิบัติพระวินัยข้อนี้แตกต่างกัน จึงทำชาวพุทธมองเห็นความแตกต่างและเลือกทำบุญตามที่ตนเองศรัทธา โดยไม่ยึดถือความแตกต่าง จึงทำให้มองเป็นว่าสิกขาบทข้อนี้กลายเป็นเครื่องหมายแบ่งนิกายไปโดยปริยาย

พระพุทธเจ้าทรงเห็นอันตรายอันใด จึงทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้?

ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปต้นเหตุอันเป็นที่มาของสิกขาบทดังกล่าวข้างต้น ก็จะอนุมานเหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องบัญญัติสิกขาบทนี้ดังต่อไปนี้

1. บรรพชิตหรือนักบวชในพุทธศาสนา จะต้องมีเพศและภาวะแตกต่างจากคฤหัสถ์ตามนัยแห่งอภิณหปัจจเวกขณ์ 5 ข้อที่ 1 คือ บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว

ดังนั้น จึงไม่ควรทำเยี่ยงคฤหัสถ์ทำ และการทำซื้อขายด้วยเงินเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะการทำเช่นนี้จะต้องรับเงินทองและครอบครองสิ่งเหล่านี้เป็นการสะสมกิเลส

2. การสะสมเงินทองนอกจากเป็นการสะสมกิเลสแล้ว ยังเป็นอันตรายจากโจรผู้ร้ายอีกด้วย

3. ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งศรัทธาของผู้พบเห็น ซึ่งเคร่งครัดในคำสอนของพระพุทธองค์

แต่ในความเป็นจริงที่ปรากฏเป็นข่าว แม้พระภิกษุไม่รับเงินทอง และไม่ครอบครองเงินทองไว้กับตัว ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นดังเช่นกรณีของสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ทั้งๆ ที่เจ้าพระคุณสมเด็จเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยไม่รับเงิน ทั้งไม่ครอบครองไว้กับตน แต่ได้แต่งตั้งไวยาวัจกรเป็นผู้ดูแล แต่ก็เกิดปัญหาเกิดขึ้นกับเงินวัด โดยมีไวยาวัจกรคดโกงเงินวัดไปเป็นสมบัติส่วนตัว ดังที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่ออยู่ในขณะนี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ชาวพุทธมองเห็นอันตรายแก่พุทธศาสนาโดยรวมได้ว่า แม้แต่คนวัดคนวาถ้าอยู่ใกล้เงินทองแล้ว ก็กลายเป็นคนชั่วคนเลวได้ นับประสาอะไรกับพระภิกษุที่รับเงินรับทอง และทำการซื้อขายเยี่ยงคฤหัสถ์จะไม่ทำตัวเป็นคนบาป

ดังนั้น การห้ามมิให้พระภิกษุรับเงินรับทอง ตามสิกขาบทดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าของพระพุทธองค์โดยแท้


กำลังโหลดความคิดเห็น