ในสมัยโบราณ ข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เก็บภาษีเข้าคลังหลวงขูดรีดภาษีจากราษฎรแล้วไม่นำส่งเข้าคลัง หรือนำส่งไม่หมดเก็บส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าตนเอง พฤติกรรมเยี่ยงนี้เรียกว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวงคือ โกงประชาชนพร้อมกับโกงรัฐ
ในปัจจุบันคำนี้หายไปมีคำใหม่คือ ทุจริตในวงราชการมาแทน แถมมีคำฝรั่งคอร์รัปชันพวงท้ายเป็นทุจริตคอร์รัปชัน
การทุจริตในภาครัฐเกิดขึ้นและดำรงอยู่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยลดลงและหมดไปจากสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะในประเทศที่ลัทธิวัตถุนิยม และบริโภคนิยมครอบงำ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้ว จะต่างกันก็เพียงมากน้อยและรูปแบบของการทุจริตเท่านั้น
แต่ที่มีให้เห็นดาษดื่น และฉาวโฉ่ก็เห็นจะได้แก่ประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย
การทุจริตในภาครัฐเกิดขึ้นมากที่สุดจากการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีบุคคล 3 กลุ่มเข้าไปเกี่ยวข้องคือ
1. นักการเมือง
2. พ่อค้า
3. ข้าราชการประจำ และพนักงานของรัฐ
โครงการใดก็ตามถ้ามีบุคคล 3 ประเภทนี้ทำงานร่วมกันในลักษณะ 3 ประสาน โดยพ่อค้าเสนอนักการเมืองสั่ง และข้าราชการประจำดำเนินการสันนิษฐานได้ว่า ราคาจะต้องแพงกว่าปกติ หรือถ้าไม่แพงคุณภาพจะต้องด้อยกว่าโครงการประเภทเดียวกัน ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของและควบคุมการดำเนินการเอง หรือยิ่งกว่านั้น โครงการไม่เสร็จทันเวลาหรือเสร็จก็ไม่เรียบร้อยได้มาตรฐานเท่าที่ควรจะเป็น
วันนี้และเวลานี้ การทุจริตคอร์รัปชันร้ายแรงและฉาวโฉ่กว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เมื่อการทุจริตได้ลามเข้าไปในวงการพุทธศาสนา และมีพระภิกษุผู้ถือศีล 227 ข้อ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จะเห็นได้จากคดีเงินทอน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สำนักพุทธและเจ้าอาวาสวัดหลายแห่งตกเป็นจำเลย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาหลายครั้งหลายหนแล้ว
คดีเงินทอนวัดเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมพระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย?
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวคดีนี้เกิดจากวัด โดยเจ้าอาวาสหรือผู้ที่เจ้าอาวาสมอบหมาย ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานเช่น โบสถ์ และวิหาร เป็นต้น เพื่อขอเงินอุดหนุนจากรัฐโดยผ่านทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และได้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักพุทธถือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ด้วยการร่วมมือกับทางวัดเช่น อนุมัติโครงการภายใต้เงื่อนไขขอเงินส่วนหนึ่งคืน และส่วนที่คืนนี้เองกลายเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าอาวาสหรือคนที่เจ้าอาวาสมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการ และเจ้าหน้าที่สำนักพุทธ จึงเข้าข่ายเบียดบังงบประมาณเอามาเป็นของตน แทนที่จะมอบให้วัดทั้งหมด
ดังนั้น ทุกคนที่ได้รับส่วนแบ่งจากเงินทอนก้อนนี้ จึงตกเป็นจำเลยในข้อหาทุจริต และต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ทั้งจะต้องรับผลกรรมจากการโกงเงินวัดอีกด้วย
แต่ที่ร้ายยิ่งกว่าอื่นใดก็คือ ข่าวการทุจริตที่มีพระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเสียในความรู้สึกของชาวพุทธ อันเกิดจากการที่พระภิกษุผู้ถือศีล 227 ข้อกลายเป็นนักโทษในข้อหาฉ้อโกง
เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือ รัฐบาลควรจะดำเนินการให้มากกว่าการดำเนินคดีกับคนโกง ด้วยการปฏิรูปสำนักพุทธ และชำระวงการสงฆ์เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งสามารถกระทำได้ดังต่อไปนี้
1. ในการสรรหาบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่ในสำนักพุทธ จะต้องมีการคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม โดยการสอบประวัติการทำงานย้อนหลังอย่างน้อย 30 วัน และจะต้องขอความเห็นชอบจากเถรสมาคมด้วย โดยเฉพาะตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธ
2. ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาส จะต้องเน้นการปฏิบัติในด้านพระวินัยเป็นหลัก และดูความรู้ ความสามารถในด้านวิชาการหรือปริยัติเป็นส่วนประกอบ
ถ้าทำได้ทั้งสองประการ เชื่อได้ว่าจะทำให้การทุจริตในวงการสงฆ์ลดลงได้ถึงไม่ทั้งหมดก็คงจะเหลือน้อย