xs
xsm
sm
md
lg

จะทำอย่างไรให้ชนะชัชชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ไม่น่าเชื่อว่าจะมีผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.มากมายขนาดนี้ และไม่รู้ว่าคนที่สมัครหลายคนเขาคิดอย่างไรถึงมาสมัครด้วยซ้ำ เพราะถึงขนาดนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าเป็นใครเลย เข้าใจว่าเขาคงมาสมัครกันเพื่อสร้างโปรไฟล์ให้กับตัวเองว่า เป็นอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.นั่นแหละ

ดังนั้นตัวละครในสนามผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้จึงเป็นคู่แข่งกันจริงๆ ไม่กี่คน มีไม่กี่คนที่จะมีคะแนนถึงหมื่น และมีไม่กี่คนที่จะมีคะแนนถึงแสน

คนที่พอจะมีคะแนนเริ่มจากหมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล หมายเลข 3 สกลธี ภัททิยกุล หมายเลข 4 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 7 นางรสนา โตสิตระกูล หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย นอกจากนั้นเป็นไม้ประดับเพื่อเพิ่มสีสันเท่านั้นเอง

ถ้าเราติดตามโพลของนิด้าโพลจะพบว่า คะแนนของชัชชาตินำห่างทุกคนมากจนยากที่จะพลาดเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เลยก็ว่าได้ แต่ถ้าไปดูโพลของธรรมศาสตร์จะพบว่าคะแนนของชัชชาติยังทิ้งห่างสุชัชวีร์ไม่มากนัก จนราวกับว่าโพลของนิด้ากับโพลของธรรมศาสตร์สำรวจกันคนละโลก

ผลสำรวจของนิด้าโพลล่าสุด พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.01 ระบุว่าเป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 13.40 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ อันดับ 3 ร้อยละ 11.73 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 4 ร้อยละ 8.83 ระบุว่าเป็น ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) อันดับ 5 ร้อยละ 8.61 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 6 ร้อยละ 5.56 ระบุว่าไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) อันดับ 7 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 8 ร้อยละ 3.73 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล

ส่วนโพลของธรรมศาสตร์ล่าสุดระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คะแนนร้อยละ 25.7 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คะแนนร้อยละ 18.3 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร คะแนนร้อยละ 11.6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง คะแนนร้อยละ 11.3 นายสกลธี ภัททิยกุล คะแนนร้อยละ 6.7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล คะแนนร้อยละ 5.7 น.ต.ศิธา ทิวารี คะแนน 2.8 อื่นๆ คะแนน 0.1 ยังไม่ตัดสินใจ คะแนน 17.5 ไม่ใช้สิทธิ์ (No Vote)/ไม่เลือก (Vote No) คะแนน 0.1

แม้คะแนนที่สองจะแตกต่างกันมาก แต่แน่นอนว่าทั้งสองโพลต่างระบุว่าคนที่นำหน้าคือนายชัชชาติ

ผมสดับเสียงจากสังคมแล้วหลายคนก็เชื่อว่าคนชนะน่าจะเป็นนายชัชชาติ จนกระทั่งมีคนพูดด้วยซ้ำว่าน่าจะแบเบอร์แถมน่าจะมีคะแนนทิ้งคู่แข่งหลายแสนคะแนนด้วยซ้ำไป หรือกระทั่งบางคนเชื่อขนาดว่าจะมีคะแนนมากกว่าทุกคนที่เหลือรวมกัน

มีคำถามเหมือนกันว่าอะไรที่ทำให้นายชัชชาติมาแรงขนาดนี้ ถ้าเราย้อนกลับไปดูผลงานของเขาในขณะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้มีผลงานอะไรโดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากภาพการใส่เสื้อกล้ามหิ้วถุงแกงจนกลายเป็น “มีม” ที่ถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ ในฐานะผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

แน่นอนชัชชาติเดิมนั้นเป็นคนของพรรคเพื่อไทยเป็นแคนดิเดต 1 ใน 3นายกรัฐมนตรีของพรรคในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยเล่าว่า ชัชชาติไปคุยกับทักษิณขอลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และทักษิณเห็นด้วย และมีคำสั่งให้พรรคเพื่อไทยไม่ส่งลงสมัครผู้ว่าฯ ในนามพรรค ตอนแรกก็มีคนไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะที่รับผิดชอบพื้นที่ กทม.ของพรรค เพราะเห็นว่า พรรคต้องส่งเพราะมี ส.ก.ของพรรคหลายคน แต่สุดท้ายก็เป็นที่รู้กันว่า พรรคนี้มีใครเป็นเจ้าของ ในที่สุดนางสุดารัตน์ก็ต้องแยกออกไปตั้งพรรคใหม่

ถ้าหากดูผู้สมัครแล้วมีคนพยายามแบ่งฝ่ายออกเป็นฝ่ายเอาระบอบทักษิณกับไม่เอาระบอบทักษิณ ฝ่ายเหลืองกับแดง ฝ่ายเอาทหารกับฝ่ายไม่เอาทหาร ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยม

แน่นอนวิโรจน์ จากก้าวไกล ชัชชาติ และศิธา จากไทยสร้างไทย ถูกจัดว่ามีฐานคะแนนในฝ่ายเดียวกัน และอีกฝ่ายคือ สุชัชวีร์ อัศวิน รสนา และสกลธีที่มีฐานคะแนนในฝ่ายเดียวกัน

แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่า รสนาก็เป็นอดีต ส.ว.ที่อยู่ในใจของคนหลายคน เธอมีผลงานที่เลื่องชื่อในการปราบปรามการทุจริตยาจนสามารถนำตัวรัฐมนตรีมาเข้าคุกได้เป็นคนแรก รวมถึงการคัดค้านการแปรรูป กฟผ.ในการเลือกตั้ง ส.ว.นั้น เธอเคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว.กทม.ด้วยคะแนนสูงถึง 743,397 คะแนน ถ้าคน กทม.ไม่ลืมเธอก็อาจจะสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ได้

ผมคิดว่าเสียงของทั้งสองฝ่ายมีฐานคะแนนใกล้เคียงกันเมื่อพิจารณาจากการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ครั้งที่ผ่านมา พลังประชารัฐได้ 791,893 คะแนน อนาคตใหม่ 804,272 คะแนน เพื่อไทย 604,699 คะแนน ประชาธิปัตย์ 474,820 คะแนน และอื่นๆ 426,596 คะแนน

แต่ต้องไม่ลืมว่าครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยส่งสมัครในพื้นที่ กทม.ไม่ครบทุกเขต จะเห็นว่า คะแนนอันดับ 1 นั้นเป็นของพรรคอนาคตใหม่ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยส่งสมัครครบทุกเขตไม่แน่ว่าคะแนนของอนาคตใหม่จะมากถึงขนาดนี้ไหม แต่นี่ก็เป็นตัวเลขที่เอามาให้คิดกันว่าจะสะท้อนออกมาในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างไร

ในกลุ่มแรกผมคิดว่า คะแนนของวิโรจน์กับชัชชาติไม่น่าจะตัดกันเยอะ ชัชชาติได้คะแนนจากคนเสื้อแดงที่เป็นฐานของเพื่อไทย ในขณะที่วิโรจน์นั้นมีฐานคะแนนจากคนรุ่นใหม่เจนเอ็กซ์เจนวายคนวัยทำงานที่มีหลายแสนคน ส่วนศิธา ผมไม่คิดว่าจะได้คะแนนมากนักจนมีนัยสำคัญต่อคะแนนของชัชชาติ

ส่วนอีกฝ่าย ผมคิดว่ามีคะแนนตัดกันเยอะ แม้ว่าสุชัชวีร์จะได้คะแนนจากแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีหลายแสนคะแนนเช่นกัน น่าสนใจว่าคะแนนในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐจะกลับมาไหม หรือคะแนนเหล่านั้นจะไปลงให้กับอัศวินและสกลธี

อย่างไรก็ตาม หากฟังเสียงของสังคมจะเห็นว่าคนที่เลือกชัชชาติไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดงหรือที่เป็นฐานของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่มีคนวัยทำงาน คนใส่สูทจำนวนมากที่พอใจกับภาพลักษณ์ที่ชัชชาติสร้างมา คะแนนของชัชชาติจึงมีฐานเสียงที่กว้างมากยากที่ผู้สมัครคนใดจะเอาชนะได้ และนี่อาจเป็นคนแรกที่พรรคเพื่อไทยสามารถแย่งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ได้ แม้ว่าชัชชาติจะลงสมัครในนามอิสระก็ตาม

ผมคิดว่ามีฐานเดียวเท่านั้นที่ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายเสื้อเหลือง ฝ่ายเอาทหาร ฝ่ายไม่เอาระบอบทักษิณจะกลับมาพลิกชนะเลือกตั้งได้ต้องเลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ เหมือนที่ชาว กทม.ยอมทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ในการไปเทคะแนนให้กับพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา

ถามว่าทำแบบนี้ยากไหมก็ต้องว่าคงยาก จะมีสัญญาณอะไรที่จะส่งต่อให้คน กทม.อีกฝั่งเพื่อลงคะแนนเสียงไปในแนวทางเดียวกัน ผมคิดว่าทำไม่ได้ง่าย ทางเดียวคือ แต่ละคนต้องใช้สัญชาตญาณและดุลพินิจคิดให้ได้ว่าใครที่น่าจะมีโอกาสชนะชัชชาติมากที่สุด แล้วหันไปเทคะแนให้กับคนคนนั้น

ถ้าทำแบบนั้นไม่ได้รับประกันว่า ผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไปก็คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์อย่างแน่นอน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น