xs
xsm
sm
md
lg

สนามผู้ว่าฯ กทม. “นอมินี” ชิงดำ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา





ในที่สุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็ได้เซ็นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โดยจะมีการแถลงเปิดตัวพร้อมประกาศนโยบายสำหรับใช้ในการหาเสียงต่อไปเร็วๆ นี้ โดยมีรายงานว่า เขาจะลงสมัครในนาม “อิสระ” โดยใช้ชื่อกลุ่ม “รักษ์กรุงเทพ” ซึ่งที่ผ่านมา มีการเตรียมผู้สมัคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จำนวน 50 คน ครบทั้ง 50 เขตเลือกตั้ง เอาไว้พร้อมแล้ว

แน่นอนว่า เมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เปิดตัวลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นรายล่าสุด ก็ถือว่า ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นแห่งนี้ มีผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งหมด 8 คน และเชื่อว่า ก่อนถึงวันสมัครรับเลือกตั้งก็คงมีมาเพิ่มอีก แต่ก็คงเป็นแค่สีสัน หรือเพิ่มจำนวนตัวเลขเท่านั้น เพราะผู้สมัครหลักๆ ที่เป็นระดับ “บิ๊กเนม” ล้วนเปิดตัวออกมาครบถ้วนแล้ว

เมื่อสำรวจรายชื่อว่าที่ผู้สมัครทั้ง 8 คน ในเวลานี้ นอกเหนือจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่จะเป็นผู้สมัครอิสระคนที่ 4 แล้ว คู่แข่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครครั้งนี้ คือ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายประยูร ครองยศ จากพรรคไทยศรีวิไลย์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดแล้ว และจากผลสำรวจก่อนหน้านี้จากสำนักต่างๆ จะมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่มีความนิยมที่น่าจับตามอง และมีสิทธิลุ้น

แน่นอนว่า ชื่อที่ความนิยมนำโด่งมาตลอดทุกครั้ง ก็คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เปิดตัวว่าจะเป็นผู้สมัครอิสระ เป็นรายแรกๆ สำหรับผู้สมัครรายชื่อค่อยมาพิจารณากันในภายหลังว่า “อิสระจริงหรือไม่” ส่วนอันดับที่สอง ที่ตามมาห่างๆ ก็คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และ ห่างออกไปอีกก็คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ซึ่งรายหลังนี้ดูเหมือนว่าจากผลโพลบางสำนัก ยังมีความนิยมเหนือกว่า นายสุชัชวีร์ ด้วยซ้ำไป

แต่อีกด้านหนึ่ง ความนิยมจากผลสำรวจที่ออกมาดังกล่าว เป็นการสำรวจก่อนที่บางคนจะมีการประกาศเปิดตัวชัดเจนว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ก่อนหน้านี้ ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะลงสมัครหรือไม่ แม้ว่าหลายคนมีความเชื่อว่าจะต้องลงสมัครค่อนข้างแน่ก็ตาม แต่เมื่อยังไม่ชัดเจนในตอนนั้น ก็ยังถือว่าไม่ชัวร์ และนั่นก็อาจส่งผลต่อการตอบคำถามในผลสำรวจที่ผ่านมาด้วยก็ได้ แต่ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะถึงอย่างไรก็ตามมาอยู่ในอันดับที่สอง แม้ว่าตามมาห่างๆ ก็ตาม

แต่นับจากนาทีนี้เมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน มีท่าทีชัดเจนแล้ว ก็ต้องมาดูอีกทีว่า ความนิยมจะกระเตื้องทำให้ช่องว่างกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคบลงหรือไม่

แต่ที่น่าแปลกใจแบบผิดคาด ก็คือ กรณีของ “พี่เอ้” นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ก่อนหน้านี้ คาดว่าน่าจะมาแรง และจะเป็นคู่ต่อกรกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้อย่างสูสี แต่กลายเป็นว่า หลังการเปิดตัวเป็นผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กลับ “แผ่ว” ลงแบบดื้อๆ จนทำให้หลายฝ่ายงงกันไปตามๆ กัน ทั้งที่เชื่อว่า ด้วยฐานเสียงของพรรคที่ครองพื้นที่สนามในกรุงเทพฯ มาช้านาน มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องกันหลายคน เคยมี สมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ จะสูญพันธุ์ในสนามนี้ก็ตาม แต่มาถึงตอนนี้บรรยากาศก็น่าจะเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว

หรือว่า จะเป็นเพราะกรณี “เครือญาติไอน์สไตน์” ที่ถูกล้อเลียนในวันเปิดตัว ก็ไม่น่าจะใช่ คงไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญเท่าใดนัก เพราะชาวบ้านน่าจะพิจารณาจากวิสัยทัศน์ และแนวทางในการพัฒนา และบริหารกรุงเทพฯมากกว่า แต่ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม มาถึงวันนี้พิจารณาจากผลสำรวจที่ออกมา “พี่เอ้” ก็ยังไม่ปัง ผิดความคาดหมายไปมาก

หรืออาจเป็นเพราะสาเหตุมาจากการสังกัดพรรคประชาธิปัตย์หรือเปล่า ที่กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่คาดคิดไม่ถึงหรือไม่ เพราะหากเป็นแบบนี้จริง มันก็จะสะท้อนไปถึงสนามการเลือกตั้งระดับชาติ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยเหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่กล้าฟันธงลงไปว่ามาจากอะไรกันแน่ แต่เอาเป็นว่าจากผลสำรวจ เขามีความนิยมตามหลังห่างกันแบบสุดกู่ แม้ว่ายังมีเวลาเปลี่ยนแปลงพลิกกลับมาได้ เพราะการเลือกตั้งยังอีกพักใหญ่ นั่นคือ วันที่ 22 พ.ค. ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเอาไว้

เมื่อวกมาที่ “ผู้สมัครอิสระ” ที่เวลานี้พิจารณาตามที่ประกาศตัว มีอยู่ 4 คน คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายสกลธี ภัททิยกุล และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ซึ่งหากพิจารณากันจากข้อมูลที่พอสัมผัสได้ หากบอกว่า “อิสระแบบโดดๆ” ก็น่าจะมีเพียงคนเดียวในเวลานี้ ก็คือ น.ส.รสนา เท่านั้น ส่วนที่เหลือ ล้วนถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองอย่างชัดเจน

เริ่มจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีพรรคเพื่อไทย หนุนหลัง หรือเป็นพันธมิตรทางการเมือง สร้างประโยชน์ร่วมกันจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ และต้องดูว่าหาก นายชัชชาติ ไม่มีทีมผู้สมัคร ส.ก. ก็ถือว่าชัดเจน เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครฯผู้ว่าฯ กทม. แต่ส่งผู้สมัคร ส.ก.ครบทั้ง 50 เขต

ส่วนกรณีของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อาจมีลักษณะพิเศษแตกต่างไป นั่นคือ อาจจะไม่อยากให้พรรคการเมืองสนับสนุนอย่างออกหน้า นั่นคือ พรรคพลังประชารัฐ ที่มองกันว่า หากประกาศหนุนเต็มตัว อาจมีผลกระทบในทางลบกับคะแนนเสียงโดยรวมหรือไม่ ดังนั้น น่าจะออกมาในทางส่วนตัวแบบเงียบๆ ก็เป็นได้ ซึ่งก็น่าจะคล้ายๆ กับ นายสกลธี ภัททิยกุล ที่นอกเหนือจากการได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนที่เคยเลือกพรรคพลังประชารัฐแล้ว และผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีความเชื่อมโยงไปถึง พรรคกล้า หรือแม้แต่ผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ก็อาจเทมาทางนี้ รวมไปถึงกลุ่ม กปปส. ที่เขาเคยร่วมชุมนุมมาก่อน

ดังนั้น หากพิจารณาจากสถานการณ์และบรรยากาศในตอนนี้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจที่ออกมา มาประกอบก็ต้องถือว่า น่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างผู้สมัครอิสระ และผู้สมัครจากบางพรรคเท่านั้น แต่ก็ต้องโฟกัสไปที่ “นอมินี” เพราะผู้สมัครที่ประกาศตัวว่าอิสระนั้นเมื่อมองแบ็กกราวนด์แล้วมันไม่จริง !!



กำลังโหลดความคิดเห็น