xs
xsm
sm
md
lg

ส่องสนามกรุงเทพฯ เริ่มสูสีช่องว่างแคบ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ -พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง- สกลธี ภัททิยกุล - สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

เมืองไทย 360 องศา


นาทีนี้สนามเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ถือว่าน่าจะคึกคักสุดขีด เพราะมันส่งผลไปถึงการเมืองระดับชาติ สะเทือนไปถึงกลุ่มขั้วอำนาจหลักๆ ที่ส่งผ่านทางผู้สมัคร “นอมินี” บางคน อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเริ่มเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. ถึงวันที่ 4 เม.ย. บรรยากาศยามนี้ต้องเรียกว่าปี่กลองเชิดกันสนุกแล้ว

หากโฟกัสกันเฉพาะตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จนถึงวันที่ 29 มี.ค.ก็มีการเปิดตัวเพิ่มเข้ามาอีกแล้ว ล่าสุด เป็นว่าที่ผู้สมัครจาก “กลุ่มใส่ใจ” ลงสนามคือ น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ชูนโยบาย “กรุงเทพเมืองปลอดภัย” พร้อมประสานกับทุกฝ่าย ทำให้เวลานี้ มีว่าที่ผู้สมัครลงชิงชัยจำนวนมากพอสมควร แต่เพื่อให้จดจำกันได้ จะทบทวนรายชื่อกันอีกครั้ง ดังนี้

เมื่อสำรวจรายชื่อว่าที่ผู้สมัครก่อนหน้านี้มีจำนวน 8 คน และเมื่อรวมรายล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวดังกล่าวก็ทำให้ ในเวลานี้ มีว่าที่ผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 9 คน และอาจมีมาเพิ่มเติมหลังจากนี้ก็เป็นไปได้

ซึ่งนอกเหนือจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครอิสระ ทำให้มีผู้สมัครอิสระเท่าที่เห็นในเวลานี้รวม 5 คนแล้ว โดยรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร มีดังนี้ “น.ต.ศิธา ทิวารี” ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย “นายสกลธี ภัททิยกุล” ผู้สมัครอิสระ “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากพรรคก้าวไกล “นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ “นายประยูร ครองยศ” จากพรรคไทยศรีวิไลย์ “น.ส.รสนา โตสิตระกูล” ผู้สมัครอิสระ และ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ และรายล่าสุดคือ น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครอิสระ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดแล้ว และจากผลสำรวจก่อนหน้านี้จากสำนักต่างๆ จะมีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่มีความนิยมที่น่าจับตามอง และมีสิทธิลุ้น

แน่นอนว่า ชื่อที่ความนิยมนำโด่งมาตลอดทุกครั้ง ก็คือ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่เปิดตัวว่าจะเป็นผู้สมัครอิสระ เป็นรายแรกๆ สำหรับผู้สมัครรายชื่อค่อยมาพิจารณากันในภายหลังว่า “อิสระจริงหรือไม่” ส่วนอันดับที่สอง ที่ตามมาห่างๆ ก็คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และห่างออกไปอีก ก็คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ซึ่งรายหลังนี้ดูเหมือนว่า จากผลโพลบางสำนัก ยังมีความนิยมเหนือกว่านายสุชัชวีร์ ด้วยซ้ำไป

แต่ล่าสุด บรรยากาศและสถานการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเป็นไปได้สูงว่าหลังจากวันสมัครรับเลือกตั้ง และเริ่มการรณรงค์หาเสียงกันอย่างเข้มข้น ก็น่าจะทำให้การแข่งขันมีความสูสีมากขึ้น อย่างน้อยช่องว่างระหว่างผู้สมัครบางคนที่เคยทิ้งห่างกันสุดกู่ก็จะแคบลง ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

หากจะโฟกัสผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ต้องจับตาไปที่บางคน ไล่เรียงไปจากผลสำรวจความนิยม และพิจารณาจากแนวโน้มความเป็นไปได้ เริ่ม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ที่เป็นตัวเป็นคนแรกๆ นาทีนี้ก็ยังถือว่า “ยืนหนึ่ง” แต่แนวโน้มเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลังจากมีว่าที่ผู้สมัครรายอื่นเริ่มทยอยเปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และหลายคนก็มีความน่าสนใจจนอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งผิดไปจากที่คาดหมายเอาไว้ตั้งแต่ต้นก็เป็นได้ โดยเฉพาะ “ช่องว่าง” จะแคบลงดังกล่าว

สำหรับสาเหตุที่จะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนสำคัญก็มีทั้งตัวผู้สมัครเอง และเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนผลักดันก็เป็นไปได้สูง เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของ “ขั้วอำนาจ” รวมไปถึง “กลุ่มมวลชน” ที่เคยแบ่งข้างสนับสนุนทางการเมือง ที่แม้ว่าทุกอย่างไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังถือว่า ส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างมาก เพราะไม่เช่นนั้น ผู้สมัครบางคนคงไม่แยกตัวออกมาประกาศ “ลงสมัครอิสระ” อย่างแน่นอน

ตัวอย่างที่เห็นชัดก็น่าจะเป็น “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ประกาศลงสมัครอิสระมาตั้งแต่ต้น แทนที่จะลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เคยเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก่อนหน้านี้ แต่ก่อนหน้านั้น เป็นช่วงที่สถานการณ์ภายในพรรคเพื่อไทย มีปัญหาในเรื่องความแตกแยก ภาพลักษณ์ และผลงานทั้งในและนอกสภา ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้หลายคนมองออกว่า “ต้องชิ่ง” ออกมาเป็นผู้สมัครอิสระ เพื่อสลัดภาพของพรรค หวังที่จะได้คะแนนจากมวลชนทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากขั้วตรงข้าม ทำให้ที่ผ่านมาเขาจะมีความโดดเด่น และ “ยืนหนึ่ง” อย่างที่ว่ามาโดยตลอด เอาเป็นว่ามีผลสำรวจจากแทบทุกสำนัก นายชัชชาติ ก็มีคะแนนความนิยมนำโด่งมาทุกครั้ง แม้ว่าบางโพลจะมีข้อกังขา และมีคำถามว่าเป็นโพลชี้นำหรือ โพลรับจ้างมาก็ตาม

อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในแบบมีนัยสำคัญ หลังจากมีการเคลื่อนไหวในการเมืองระดับชาติ หลังจากที่พรรคเพื่อไทย หรือ นายทักษิณ ชินวัตร มีการเปิดตัว “ลูกสาวคนเล็ก” คือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งก็รู้กันว่าเธอจะถูกวางตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคในอนาคตแน่นอน และฝ่ายตรงข้ามก็โจมตีว่านี่คือการสืบทอดอำนาจ ส่งต่อ “การเมืองระบบครอบครัว” ทำให้มองเห็นภาพการใช้อำนาจฉ้อฉลผ่านการบงการจาก นายทักษิณ

และแม้ว่านาทีนี้ยังไม่รู้ว่า การผลักดัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในลำดับต่อไปจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้ “มวลชนอีกฝ่าย” โดยเฉพาะกลุ่มที่ “ไม่เอาระบอบทักษิณ” เริ่มมีการขยับตัวต่อต้าน และเริ่มแยกกันสนับสนุน และลามมาถึงคะแนนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ตามมาด้วย และแน่นอนว่า ย่อมมีแนวโน้มส่งผลกระทบมาถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่แม้จะบอกว่าเป็นอิสระ แต่เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ มันก็ทำให้เกิดการเชื่อมโยงถึงกัน อีกทั้งเมื่อมองเห็นความเคลื่อนไหวของ พรรคเพื่อไทย ที่ส่งสมัครแค่สมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) เท่านั้น และที่ผ่านมา นายชัชชาติ ก็ไม่มีทีมผู้สมัคร ส.ก.ในทีมของตัวเอง ทำให้ทุกอย่างเข้าเค้า นี่คือ การ “ฮั้ว” กัน เพื่อหวังผลด้านคะแนนสนับสนุนหรือเปล่า

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงผู้สมัครรายอื่นบางคนก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน แม้แต่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่เป็นผู้สมัครอิสระ และย้ำว่า “อิสระจริง” เพื่อหวังคะแนนจากทุกกลุ่ม ซึ่งจะแตกต่างกันในรายละเอียดกับกรณีของ นายชัชชาติ เนื่องจากภาพลักษณ์ของ พล.ต.อ.อัศวิน เชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ ที่อาจทำให้มวลชนบางกลุ่มไม่เอาด้วย รวมไปถึง กรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล ที่เป็นผู้สมัครอิสระ เช่นกัน และมีฐานเสียงใกล้เคียงกับ พล.ต.อ.อัศวิน อีกทั้งเคยเป็นอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ถือว่ามีฐานเสียงเป็นกลุ่มก้อน

แต่ที่ต้องจับตาก็คือ ผู้สมัครของพรรคก้าวไกล คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่เชื่อมีมวลชนสนับสนุนแยกออกไป นั่นคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และจากผลสำรวจก็ถือว่า มาแรงไม่เบา ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตาเช่นกัน ก็คือ รายของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่น่าจะมาแรง แต่กลายเป็นว่า ยิ่งนานยิ่งแผ่วแบบไม่น่าเชื่อ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงตรงนี้ และเวลานี้ ก็ต้องบอกว่าในภาพรวม ถือว่าสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเริ่มเข้มข้น และเมื่อเข้าสู่การรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อว่า จะ “ข้นคลั่ก” กว่านี้หลายเท่า และที่สำคัญ โอกาสพลิกผันเป็นไปได้สูง คนที่เคยยืนหนึ่ง อาจจะเปลี่ยนไปเป็นคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก !!


กำลังโหลดความคิดเห็น