ศึกเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งนี้นับได้ว่ามีคนดังลงเยอะ ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มรู้สึกรักพี่เสียดายน้อง ตัวเลขผู้สมัครล่าสุดน่าจะอยู่ที่ 30 คนหรือกว่านิดหน่อย ส่วนหนึ่งเป็นคนหน้าใหม่ ไม่เป็นที่รู้จัก แต่ก็สนใจการเมืองท้องถิ่น
เสี่ยวรัญชัย โชคชนะ ยังไม่มีโอกาสให้โชคช่วย แม้จะมีประสบการณ์ลงสมัคร 7 ครั้ง มากที่สุดในจำนวนคู่แข่งด้วยกัน จัดอยู่ในประเภทผู้ขยันสมัคร ไม่ย่อท้อ ครั้งล่าสุดหลายปีก่อนได้คะแนนเสียงกว่า 4 พัน นับว่ามีสัดส่วนตลาดเป็นของตัวเอง
ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนักสำหรับคนดังที่อาจหาญวัดความนิยมในกลุ่มประชาชน มีทั้งเป็นตัวแทนพรรคการเมือง มีฐานเสียง มีอิสระหลวม และอิสระแท้ ต้องพึ่งเสียงเงียบที่บรรดาโพลทั้งหลายไม่เคยไปสอบถามความเห็นว่าชื่นชมนิยมใคร
ก่อนหน้านี้ โพลไหนก็ว่าบุรุษผู้ทรงพลัง “เสี่ยชัชชาติ” นำทุกครั้ง แทบไม่มีตัวลุ้น แต่ช่วงนั้นคู่แข่งยังไม่ปรากฏชัด ยังไม่ประกาศตัว รวมทั้ง “ลุงวิน” อดีตผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งรองผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ อย่างเดียวนาน 5 ปี 5 เดือน 5 วัน
“ลุงวิน” ประกาศว่าที่ผ่านมา ถ้านับคะแนนเต็ม 10 ตัวเองได้ 5 ยังมีเหลืออีกเยอะสำหรับการ “ไปต่อ” ลุงวินจะเข้าวินหรือไม่ ใครจะรองนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นใจ
แสดงว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ “เทพสร้างไม่เสร็จ” ยังมีอีกเยอะที่บรรดาผู้สมัครทั้งหลายประกาศว่าจะทำโน่นทำนี่ ทำเอาชาวเมืองหลวงเป็นปลื้มที่มีคนห่วงใย แต่ละวันมีประชากรเพิ่มขึ้น ระบบสาธารณูปโภคมีขีดจำกัดตึงเปรี๊ยะ แทบรับไม่ไหว
ระบบบริการขนส่งมวลชน (ชั้นกลาง) จึงเป็นประเด็นหาเสียง เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เหมาะสำหรับคนรายได้น้อย หรือต่ำกว่าปานกลาง ค่าทางด่วนก็แพงสุดๆ
กรุงเทพฯ จึงเป็นเหมือนเมืองตะเข็บใกล้ปริ เพราะความต้องการด้านสาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนส่วนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง ตกงานต้องกลับไปภูมิลำเนาเดิม หรือไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม
แต่ก็ยังมีคนรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาต่อ หางานทำ เสี่ยงโชค เมื่อเศรษฐกิจต่างจังหวัดซบเซา ทำมาค้าขายไม่ได้ ไม่มีงานทำ โครงการก่อสร้างไม่มี กรุงเทพฯ จึงยังเป็นทางเลือกสำหรับพวกที่มีญาติพี่น้องซึ่งเป็นฐานชั่วคราวในการต่อสู้ดิ้นรน
นั่นเป็นเพราะโครงการ หรือสถานที่สำคัญ รวมทั้งตลาดแรงงานกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นความหวังสำหรับการสร้างอาชีพ ทำให้คนจากทั่วประเทศพากันมาหวังจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เมืองที่สร้างฝันให้เป็นจริงสำหรับทุกคน
คนกรุงเทพฯ แท้ๆ เกิดจากพ่อแม่คนกรุงแท้ๆ มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครรู้ชัด ประเภทที่พ่อแม่มาจากต่างจังหวัด แต่ลูกเกิดที่กรุงเทพฯ เป็นคนเมืองหลวงรุ่นใหม่
ปัญหากรุงเทพฯ มีมาก ไม่ต่างจากเมืองขนาดใหญ่ทั่วไปที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคน มีการประเมินว่าถ้ารวมพื้นที่รอบนอก ประชากรรวมน่าจะเกิน 10 ล้าน ที่เห็นชัดคือปัญหาการจราจร ขาดพื้นที่สีเขียว ความไม่เป็นระเบียบของเมือง
กรุงเทพฯ ขาดผังเมืองดั้งเดิม ขยายออกตามสภาพ ทำให้มีจำนวนซอยมากกว่าถนน การสร้างถนนเน้นความยาว สองข้างเป็นซอยประธาน แตกย่อยเป็นซอยสาขาและซอยย่อย ออกไปหลายทาง ดูเหมือนไส้ผีกระสือ ซอยยาวกว่าถนนก็มี
พื้นที่สีเขียวมีน้อย พื้นที่ฟุตบาทมีน้อย ถนนในกรุงเทพฯ ไม่เหมาะสำหรับการเดินเพราะอากาศร้อน เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อาคารโดยทั่วไปเป็นตึกแถวไร้ความสวยงาม นั่นเป็นเพราะยุคก่อนหน้านี้ผู้ดูแลเมืองไม่พิถีพิถันในการอนุมัติการออกแบบอาคาร
แค่เป็นตึกแถวแนวยาว เป็นบล็อก ก็อนุมัติให้ ยากต่อการขยายถนน หรือตัดเส้นทางใหม่ ต่างจากเมืองหลวงในหลายประเทศที่มีผังถนนชัดแยก มีแยกตัดเยอะ คงเป็นเพราะการขาดวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบ้านเมือง ไม่ควบคุมธุรกิจบ้านจัดสรรด้วย
เลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ คนใหม่ เต็งหามจะเป็นเต็งหามออกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนที่รักพี่เสียดายน้อง จากผู้สมัครทั้งหมด จะมีเพียงคนเดียวที่ได้รับตำแหน่ง ที่เหลือก็เป็นอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไปแสวงหาโอกาสอื่นๆ ต่อไป
น่าสนใจในเชิงจิตวิทยาว่าทำไมคนที่ไม่มีใครรู้จัก หรือไม่มีชื่อเสียง ฐานคะแนน จึงลงสมัคร ไม่ต้องหาเสียงมาก ไม่ลงทุนอะไรมาก นอกจากค่าสมัคร 5 หมื่นบาท ที่น่าสนใจด้วยก็คือรู้ทั้งรู้ว่าตัวเองไม่มีโอกาสชนะ ต่อให้มีปาฏิหาริย์ช่วย แต่ก็ยังลงสู้
ไม่ใช่เพียงยุคนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทุกครั้งจะมีประเภทโนเนมลงแข่งขัน
บรรดากูรูและกูรู้ทั้งหลายประเมินว่าคะแนนผู้ชนะน่าจะไม่ทิ้งห่างกันมากนัก เสียงจะแตกเพราะผู้สมัครที่มีชื่อ มีฐานคะแนนเสียงมีหลายคน บ้างก็ว่าผู้ชนะจะไม่ได้คะแนนถึงหลักล้าน และทิ้งห่างที่ 2 เพียงระดับหมื่นคะแนน ไม่ถึงแสน
ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิด้วยว่าจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ อายุผู้มาใช้สิทธิ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคะแนนเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะคนอายุระหว่าง 18-22 ปี พวกที่มีฐานคะแนนของพรรคการเมืองยิ่งต้องลุ้นเพราะ “ความน่าเลือก” ของผู้สมัครนี่แหละ
งบประมาณของกรุงเทพฯ อยู่ในระดับแสนล้านบาทนับว่ายั่วใจสำหรับนักแสวงหาผลประโยชน์ มีโครงการหลายขนาดสำหรับสร้างอนาคตของพวกมิสเตอร์เปอร์เซ็นต์ หลายคนเสนอโครงการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานชีวิตของคนกรุง
มี “เจ๊รสนา” ที่แหกโค้งด้วยคำประกาศว่าอิสระจริง และจะไม่ให้มีการโกงกินงบประมาณ ซึ่งต้องลุ้นว่าจากคะแนนที่ได้กว่า 8 แสนช่วงเลือกตั้ง ส.ว.กรุงเทพฯ หลายปีก่อนโน้นจะยังคงผูกติดอย่างเชื่อมั่นในผลงานของเจ๊หรือไม่
ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยุคใดน่าลุ้นเท่าครั้งนี้ และเดาผลยากที่สุด