xs
xsm
sm
md
lg

หรืออินเดียคือตาอยู่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศอย่างหนักที่รัสเซียพยายามกดดันให้ผู้นำยูเครนยอมจำนนกับข้อเรียกร้องของรัสเซีย ถึงขนาดส่งอาวุธความเร็วกว่าเสียงมาถล่มคลังแสงของยูเครนถึง 2 ลูก และโฆษกเครมลินนายดมิทรี เปสคอฟ ไปให้สัมภาษณ์ทางสถานีซีเอ็นเอ็นว่า หากจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ (อย่างชนิดจำกัดบริเวณ-tactical nuclear bomb) ก็อาจต้องนำมาใช้-เป็นการเพิ่มความกดดัน

แต่รองนายกรัฐมนตรีของยูเครน ก็ได้ออกมาปฏิเสธการยอมจำนน ตามการขีดเส้นตายตั้งแต่เช้าตรู่วันจันทร์ที่ผ่านมา ที่ให้กองกำลังที่เมืองมาริอูโปลวางอาวุธในเวลาตี 5 แล้วรัสเซียจะเปิดเส้นทางอพยพออกจากเมืองในเวลา 10 โมงเช้า

ขณะที่คณะเจรจาหยุดยิง ก็ยังเดินหน้าเจรจาในหลายประเด็นที่ยังไม่ลงตัว ซึ่งข้อเรียกร้องของรัสเซียไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของนาโต ก็ยังดูกลับไปกลับมาในการตอบรับของผู้นำยูเครน เพราะเดิม ปธน.เซเลนสกี้แห่งยูเครน ออกมาตัดพ้อว่า จะไม่คุกเข่าขอเข้าเป็นสมาชิกนาโต ในเมื่อนาโตไม่จริงใจที่จะช่วยเหลือยูเครนจริงๆ แค่ส่งอาวุธมาให้เท่านั้น...แต่ตอนนี้ ปธน.เซเลนสกี้งัดเอาประชามติชาวยูเครนจะเป็นตัวตัดสินว่า จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต แทนที่ฝ่ายรัฐบาลของเขาจะเป็นผู้ตัดสิน...ซึ่งต้องใช้เวลานานทีเดียวถ้าจะจัดให้มีการลงประชามติ...ซึ่งก็เป็นสัญญาณว่า เซเลนสกี้จะเล่นบทฮีโร่ต่อไป ที่จะสู้แบบหัวชนฝา ทั้งๆ ที่แสนยานุภาพทางทหารของยูเครนจะไม่มีทางสู้กับรัสเซียได้เลย...โดยเขาออดอ้อนกับสภาฯ (และฝ่ายรัฐบาล) ของอียู, นาโต, G7...เดิมขอกำลังทหารและอาวุธเพื่อจัดตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน เพื่อไม่ให้ขีปนาวุธของรัสเซียเข้ามาในน่านฟ้าได้ แต่เมื่อถูกนาโตและอียูปฏิเสธ...ปธน.เซเลนสกี้ก็เปลี่ยนมาขอระบบป้องกันขีปนาวุธแทน ซึ่งประเทศในนาโตต้องใคร่ครวญทีเดียวว่าจะจัดส่งไปให้ได้หรือไม่ เพื่อไม่ต้องการส่งสัญญาณว่ากำลังยกระดับนาโตมาเป็นคู่สงครามกับรัสเซีย

ภาพที่ชัดคือ รัสเซียกำลังเผชิญหน้ากับนาโต-นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งมั่นจะปิดล้อมและบ่อนทำลายรัสเซียเพื่อมิให้ขยายแสนยานุภาพทางทหาร หรือทางเศรษฐกิจมาคุกคามสหรัฐฯ ได้ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ได้กำลังทุ่มสรรพกำลังไปทางอินโด-แปซิฟิก เพื่อปิดล้อมจีน; มหาอำนาจที่สหรัฐฯ ใช้คำว่าเป็นคู่ปรปักษ์ (Adversary) ที่กำลังเติบใหญ่มาข่มรัศมีของสหรัฐฯ ขณะนี้

ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากรัสเซียและจากจีน ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติกและในอินโด-แปซิฟิก มีปรากฏการณ์ที่ตาอยู่อาจกลายเป็นอินเดีย ที่แม้จะเป็นสมาชิก 1 ใน 4 ของกลุ่มพันธมิตร QUAD (สหรัฐฯ ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และอินเดีย) ที่เพิ่งจัดตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนแรกที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง (และมีกำหนดประชุมสุดยอดแบบ in-person ครั้งแรกในกลางปีนี้ที่ญี่ปุ่น)

โดยอินเดียได้งดออกเสียงในสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเร็วๆ นี้ ในมติประณามรัสเซียที่ละเมิดกฎบัตรยูเอ็นในการบุกโจมตียูเครน แล้วออกมาแถลงเป็นทางการว่าต้องการให้หาทางออกด้วยการเจรจา-ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลังรบ

แม้อินเดียจะใกล้ชิดกับโซเวียตตลอดช่วงสงครามเย็น โดยพึ่งพิงด้านอาวุธจากโซเวียต (รวมทั้งเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์) เพื่อมาคานอำนาจกับปากีสถาน (ที่ใกล้ชิดกับจีน) และกับจีน (กรณีปัญหาชายแดนกับจีน) แต่สหรัฐฯ ก็ได้พยายามเจาะไข่แดงเข้าหาอินเดียด้วยความช่วยเหลือต่างๆ; ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่โซเวียตล่มสลายและลดความเป็นมหาอำนาจลง (เช่นในช่วงที่โอบามาประเมินว่า รัสเซียก็แค่มหาอำนาจแห่งภูมิภาค-ไม่ใช่มหาอำนาจโลก) สหรัฐฯ ได้ทำแต้มกับอินเดีย และสามารถล่อใจด้วยการขายอาวุธทันสมัยและ Super Computer ให้เพื่อแลกกับอินเดียลดการซื้ออาวุธจากรัสเซีย

อินเดียเคยซื้ออาวุธจากรัสเซียถึง 70% ของอาวุธนำเข้าทั้งหมด...ได้ลดลงมาเหลือแค่ 49% และกำลังลดลงเรื่อยๆ

ขณะที่สหรัฐฯ เพิ่งออกมาคว่ำบาตร-ไม่ซื้อพลังงานใดๆ จากรัสเซีย ตามมาด้วยอังกฤษ ที่ทยอยลดการซื้อพลังงานจากรัสเซีย และไบเดนกำลังกดดันให้ประเทศในกลุ่ม G7, อียู, นาโต ลดหรือหยุดการซื้อพลังงานจากรัสเซีย...เกิดปรากฏการณ์แหวกข้อกดดันของสหรัฐฯ โดยเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว อินเดียได้ตกลงซื้อพลังงาน (น้ำมัน, แก๊ส) จากรัสเซีย ในเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านบาร์เรล ด้วยราคาลดจากราคาตลาดถึง 20-25% โดยพยายามอธิบาย (แก้ตัว) กับสหรัฐฯ ว่า เป็นปริมาณที่จิ๊บจ๊อยมาก (แค่ไม่ถึง 1% ของน้ำมันที่อินเดียนำเข้า) เพื่อไม่ให้สหรัฐฯ ไม่พอใจ

ที่สำคัญคือ จ่ายด้วยเงินรูปีและรูเบิลแทนจ่ายเป็นดอลลาร์ เพราะตลาดดอลลาร์ที่มีการโอนเงินผ่านระบบ SWIFT นั้น ปิดสนิทกับรัสเซีย จึงจำเป็นที่อินเดียจะจ่ายตรงกับรัสเซียโดยไม่ผ่าน SWIFT

ทำเอาโฆษกทำเนียบขาวออกมาตำหนิอินเดียว่า จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ให้การสนับสนุนรัสเซีย โดยเงินจากการขายน้ำมันของรัสเซียจะนำไปใช้ฆ่าคนยูเครน

แต่สำหรับอินเดีย มีการส่งสัญญาณว่าต้องการเป็นกลางระหว่างคู่ขัดแย้งคือรัสเซียและนาโต (นำโดยสหรัฐฯ) และมองผลประโยชน์ของอินเดียมาก่อน เนื่องจากต้องการพลังงานเพื่อฟื้นฟูประเทศ หลังเผชิญภัยพิบัติสาหัสจากการระบาดของโควิด และราคาน้ำมันที่สูงมากๆ ขณะนี้ ทำให้อินเดียประสบความยากลำบากยิ่งด้านเศรษฐกิจ...และอินเดียยกตัวอย่างอียูที่ยังซื้อแก๊สและน้ำมันจากรัสเซีย, รวมทั้งชี้ว่า ประเทศผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางก็ไม่ยอมเพิ่มการผลิต เพื่อรับรายได้มหาศาลจากน้ำมันราคาแพง

อินเดียย่อมประเมินได้ไม่ยากนักว่า สหรัฐฯ ต้องพึ่งพิงอินเดียอย่างมาก ในขบวนการปิดล้อมจีน นั่นคือ ในกลุ่มพันธมิตร QUAD ซึ่งอินเดียจะสามารถใช้จุดแข็งตรงนี้ต่อรองกับสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี

อินเดียอาจหาญถึงกับซื้อ S-400 (ระบบป้องกันขีปนาวุธ) จากรัสเซีย ที่มีการส่งมอบในวันที่ 6 ธันวาคมปีที่ผ่านมา ในการเดินทางของปธน.ปูติน เยือนนิวเดลี ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ไม่พอใจมาก แต่ก็ต้องยอมให้กับอินเดีย เพราะการมีอินเดียอยู่ใน QUAD สำคัญยิ่งในการปิดล้อมจีน

อินเดียยังมีการลงทุนมหาศาลในเขตตะวันออกไกลของรัสเซีย (ที่วลาดิวอสต็อก) โดยมิได้ลดขนาดการลงทุนตามคำขอของสหรัฐฯ แต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น